ไม่พบผลการค้นหา
เปิดวิสัยทัศน์ 5 ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม. 'สุชัชวีร์-วิโรจน์-สกลธี-รสนา-ชัชชาติ' โชว์ไอเดียแก้ปัญหาคลาสสิคทุกยุคสมัย 'น้ำท่วม-รถติด-ขนส่งสาธารณะ-พื้นที่สีเขียว' แก้อย่างไรให้กรุงเทพฯ น่าอยู่สำหรับทุกคน

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสถานนีโทรทัศน์ PPTV จัดงานเสวนา “เลือกตั้งผู้ว่าฯ แก้ปัญหาคนกรุง” โดยดึงว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ร่วมเสวนาสะท้อนปัญหา แสดงวิสัยทัศน์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน


สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ : กรุงเทพต้องเป็นเมืองสวัสดิการชั้นนำของประเทศ

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่า กทม. ในนามพรรคประชาธิปัตย์ แสดงวิสัยทัศน์ถึงการแก้ไขปัญหาของคนกรุงเทพฯ โดยย้ำว่า กรุงเทพต้องเป็นเมืองสวัสดิการชั้นนำของประเทศ ไม่ว่าจะยากดีมีจนคนทุกคนที่อยู่ในกรุงเทพจะต้องได้รับสวัสดิการอย่างเท่าเทียมกัน อย่างมีคุณภาพ

สำหรับเรื่องปัญหาการเดินทางและการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ สุชัชวีร์ ระบุว่า กรุงเทพมีการวางแผนเรื่องนี้ผิดตั้งแต่เริ่มต้น โดยพื้นที่ถนนในกรุงเทพ มีพื้นที่ไม่ถึง 7 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด และปริมาณการใช้รถบนทางด่วนมีจำนวนมากกว่าการสัญจรโดยรถเมล์ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ใช้รถเมล์เพียง 6 แสนคนต่อวันเท่านั้น ขนาดที่รถไฟฟ้า BTS มีผู้ใช้บริการอยู่ที่ 8 แสนคนต่อวัน รถไฟฟ้าใต้ดินประมาณ 4 แสนคนต่อวัน และรถไฟประมาณ 1 แสนคนต่อวัน 

สุชัชวีร์ ย้ำว่า กรุงเทพเป็นเมืองรถ การที่จะเปลี่ยนให้คนกรุงเทพไม่ใช้รถทันที เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ส่วนเมืองหลวงอื่นๆ ที่ไม่มีปัญหาการจราจร เป็นเพราะมีการเริ่มต้นที่ถูกต้องคือทำถนนที่กว้างเพียงพอ มีพื้นที่ถนนเยอะ ยกตัวอย่างเมืองโตเกียวมีพื้นที่ถนนมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ปารีสมีพื้นที่ถนนมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นการแก้ปัญหาสำหรับกรุงเทพ อันดับเเรกจำเป็นต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อนคือ การทวงคืนพื้นที่ผิวทางจราจร เพราะในระหว่างการก่อสร้างรถไฟฟ้าพบว่าผิวทางจราจรหายไปอย่าง 1 - 2 เลน ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผู้ว่า กทม. สามารถดำเนินการได้ทันที เพราะการที่เอกชนจะมาสร้างรถไฟฟ้าก็ต้องมาขออนุญาต กทม. ก่อนจะส่งมอบก็ต้องได้รับการอนุมัติจาก กทม. เรืองนี้เป็นสิ่งที่จะทำให้คนกรุงเทพได้ผิวทางจราจรกลับคืนมาส่วนหนึ่ง

สุชัชวีร์ กล่าวต่อถึงปัญหาค่าเดินทางของคนกรุงเทพที่มีราคาสูง โดยยอมรับว่าค่าเดินทางภายในกรุงเทพฯ มีราคาแพงจริง แม้กระทั่งรถเมล์เองก็ตาม แต่สาเหตุที่มีราคาแพงนั้นเป็นเพราะปัจจุบันรถเมล์ของ ขสมก. มีทั้งหมด 2,800 คัน เป็นรถใหม่ที่เพิ่งซื้อ 439 คัน โดยที่รถทั้งหมดเป็นรถเครื่องยนต์ดีเซล ไม่มีรถไฟฟ้า และเมื่อเป็นรถที่ใช้น้ำมัน ค่าโดยสารก็จะแปรผันกับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น นั้นหมายความว่า ขสมก. ต้องแบกรับต้นทุนที่สูง และการที่จะปรับลดราคาให้ถูกลงก็เป็นเรื่องที่ยาก สุชัชวีร์  จึงมองว่า การเปลี่ยนมาใช้รถที่ใช้เชื้อเพลิงไฟฟ้า ก็จะใช้ประหยัดต้นทุน และใช้ลดภาระค่าเดินทางให้กับคนกรุงเทพได้ 

“การเปลี่ยนมาใช้รถเมล์ไฟฟ้า กทม. สามารถทำได้ เพราะปัจจุบันรัฐอนุญาตให้ กทม. สามารถดำเนินการเรื่องของการขนส่งได้ด้วยตัวเอง นอกจากยังสามารถกำหนดได้ด้วยว่าควรวิ่งเป็นสายสั้น แต่ออกวิ่งบ่อยๆ คนจะได้ไม่ต้องรอนาน”

ส่วนกรณีค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่มีราคาแพงนั้น สุชัชวีร์ เห็นว่า มีสาเหตุจากการที่รัฐมีระบบคิดที่ผิดตั้งแต่ต้น เพราะหากคำนึงถึงเรื่องสวัสดิการ การขนส่งมวลชนเองก็ถึงเป็นบริการของรัฐ นั้นหมายความว่าโครงสร้างต่อหม้อ 8.8 หมืนล้าน รัฐต้องรับเป็นภาระ เพราะนี้คือการสนับสนุนขั้นพื้นฐานของเมืองสวัสดิการ 

“ผมเคยนำเสนอไปแล้วว่า เราสามารถเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าได้ในราคา 20 -25 บาท ตลอดเส้นทาง และคนขึ้นก็จะเพิ่มขึ้น จาก 8 แสนคนเป็น 1 ล้านคนทันที เมื่อนำ 20 บาทมาคูณ 1 ล้าน ก็จะได้วันละ 20 ล้านบาท เท่ากับหนึ่งปีจะมีเงินจากค่าโดยสารประมาณ 7 พันกว่าล้าน ซึ่งสามารถจ้างบริษัทเดินรถให้เดินรถอย่างปลอดภัยและมีคุณภาพได้”

สำหรับปัญหาน้ำท่วมขังภายพื้นที่กรุงเทพ สุชัชวีร์ ยอมรับว่าสิ่งนี้เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน และหากคิดเพียงแค่เรื่องของการเปลี่ยนท่อระบายน้ำ ก็จะต้องวนกลับมาแก้ปัญหาเดิมๆ อีกครั้ง แต่จริงๆ แล้วการปัญหาน้ำท่วมในเมืองในหลายประเทศใช้ระบบแก้มลิงใต้ดิน 


วิโรจน์ ลักขณาอดิศร : ปัญหากรุงเทพแก้ไม่ได้ ถ้ายังไม่ยอมรับว่าเมืองนี้ให้ค่าคนไม่เท่ากัน

ด้านวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่า กทม. ในนามพรรคก้าวไกล เห็นว่าผู้ที่ได้รับปัญหาภายในกรุงเทพมากที่สุดคือ กลุ่มคนจนเมือง หรือกลุ่มผู้มีรายได้จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ขณะที่กลุ่มคนร่ำรวยอาจจะไม่ต้องมาคิดถึงประเด็นว่ารถเมล์มีปัญหาอย่างไร ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงเรื่องอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ และบางคนอาจจะมีพื้นที่สีเขียวส่วนตัว

“ถ้าไม่แตะต้นต่อของปัญหาที่แท้จริงของกรุงเทพมหานคร และไม่ยอมรับว่าเมืองนี้เป็นเมืองที่ให้ค่ากับคนไม่เท่ากัน ถ้าเราไม่ยอมรับตรงนี้ และเราคิดแต่จะบริหารอย่างเดียวท่ามกลางการจัดสรรทรัพยากรที่เหลื่อมล้ำ ที่เอื้ออำนวยให้กับอภิสิทธิ์ชนและนายทุน เราแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะต่อให้เพิ่มงบประมาณลงไป นายทุนและอภิสิทธิ์ชน ก็จะสูบเอาทรัพยากรนั่นไปหมด สุดท้ายประชาชนก็จะได้แค่เศษเนื้อข้างเขียงเท่านั้นเอง”

วิโรจน์ กล่าวต่อว่า รถเมล์ไม่ได้รับการพัฒนามา 30 ปี แล้ว สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะ การพัฒนารถเมล์อาจจะไม่ได้ทำให้นายทุน เจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ไม่ได้รับผลประโยชน์จากราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้น และอาจจะเป็นเพราะผู้มีอำนาจไม่ได้ใช้รถเมล์ในการเดินทาง สุดท้ายแล้วรถเมล์จึงกลายเป็นสวัสดิการที่มูลนายเอาไว้ใช้ดูแลบ่าวไพร่

“เวลาเราเดินทางด้วยรถเมล์ในเกาหลีใต้ หรือไต้หวัน รถเมล์คือการเดินทางของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งคนจนคนรวย แต่ตอนนี้รถเมล์กลับกลายเป็นการเดินทางของคนจนคนยากในกรุงเทพได้อย่างไร”

วิโรจน์ ย้ำด้วยว่า การตั้งเป้าหมายของการบริการเดินรถเมล์ เป็นการตั้งเป้าหมายที่ผิดหากตั้งเป้าที่จะทำกำไร และการบริหาร ขสมก. จนเป็นหนี้แสนล้านนั้นหากการเป็นหนี้นี้ทำให้คนกรุงเทพได้ใช้บริการรถเมล์ที่มีคุณภาพขึ้นก็ควรแก่การเป็นหนี้ แต่การเป็นหนี้ครั้งนี้กลับไม่ได้ทำให้คุณภาพการเดินทางโดยรถเมล์ดีขึ้นมาเลย เขาย้ำว่า บริการขนส่งสาธารณะไม่ใช่บริษัทเอกชน สามารถตั้งเป้าขาดทุนได้ หรือให้รัฐสนับสนุนได้ หากการขาดทุนนั้นเป็นไปเพื่อการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน เพื่อลดจำนวนรถบนท้องถนน ลดมลพิษ ลดอุบัติเหตุจากการจราจร 

เขากล่าวต่อไป ถึงการกำหนดเส้นทางรถเมล์ที่ดีว่า สามารถเป็นกลไกที่ทำให้คนจนเมือง สามารถตั้งตัว และหลุดพ้นจากความยากจนได้ เพราะเส้นทางการเดินรถที่ดีจะสามารถพัฒนาของย่านนั้นๆ ได้ และเมื่อใดที่ประชาชนสามารถทำมาค้าขาย หรือมีจุดเด่นลักษณะเด่นเป็นของตัวเองก็จะพัฒนาตัวเองไปเป็นเสน่ห์ของย่านนั้นๆ ได้ แต่ในทุกวันนี้เศรษฐกิจตามตึกแถวสองข้างทางถนนปิดเงียบซบเซา และเศรษฐกิจไปกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ทีมีที่จอดรถคือ ห้างสรรพสินค้า 

“ทุกวันนี้กรุงเทพสามารถไปขออนุญาตกรมการขนส่งทางบก ไม่ต้องขึ้นกับ ขสมก. อีกต่อไป เส้นทางไหนที่สามารถพาคนจากที่พักอาศัยมายังระบบรถไฟฟ้า ก็ไปขออนุญาตวิ่งรถ เส้นไหนที่มีรถวิ่งอยู่แล้วเราก็สามารถเข้าไปอุดหนุนได้ นี่คือสองสถานการณ์ที่เราสามารถคลี่คลายปัญหาการจราจรในกรุงเทพได้ โดยการทำให้ระบบสาธารณะเข็มแข็ง และเป็นที่พึ่งพาได้ของคนทุกคน”

วิโรจน์ กล่าวต่อถึงปัญหาน้ำท่วมว่า ปัญหานี้ไม่ใช่เพียงปัญหาเส้นเลือดใหญ่ แต่เป็นปัญหาในระดับโครงกระดูก เขายกตัวอย่างถึงถนนสองเส้นที่เชื่อมต่อกันคือ ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ และถนนประชาอุทิศ ซึ่งบนถนนสองเส้นนี้มีโครงการ 2 โครงการที่เพิ่งแล้วเสร็จไปเมื่อปี 2564 โดยเป็นโครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำ ใช้งบประมาณมหาศาล แต่พอฝนตกน้ำก็ท่วมทันที ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ทุกวันนี้การแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมของ กทม. ไม่ใช่ไม่เข้าใจระบบวิศวกรรม แต่เรากำลังเจอกับปัญหาการประมูล การจัดซื้อจัดจ้าง และมีการจ้างช่วงต่อจนไม่สามารถส่งมอบงานที่มีคุณภาพได้ 

“ที่ผ่านมา กทม. ใช้งบไปกับการปรับปรุงทัศนียภาพซะหมด แต่คนที่อยู่ในตรอกในซอยกลับไม่ได้รับการเหลียวแล ทั้งที่เรามีน้ำท่วมในตรอกในซอยเยอะ งบประมาณของสำนักการระบายน้ำมีทั้งหมด 7 พันล้าน สำหรับการดูแลท่อระบายน้ำ หักค่าแรง หักเงินเดือนข้าราชการ เหลืออยู่เพียง 117 ล้าน แล้วเทียบกับการทำคลองช่องนนทรีย์ 980 ล้าน นี่คืออะไร เราลองดูการตัดงบนะ งบในการซ้อมบำรุงสถานีสูบน้ำ ขอไป 5 พันล้าน ถูกตัดเหลือเพียง 136 ล้าน มันเกิดอะไรขึ้น”

ส่วนประเด็นเรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียว วิโรจน์  เห็นว่า ทุกคนต่างก็พูดถึงประเด็นนี้เหมือนกันหมดว่าจะต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวใน กทม. แต่คำถามสำคัญคือ จะหาพื้นที่ได้จากไหน เขาเห็นว่า พื้นที่แรกที่สามารถหาได้ทันทีคือ สนามหลวง ที่ราชพัสดุของทหาร และพื้นที่ใจกลางเมืองที่ถืออยู่ในมือเอกชนเพื่อเกร็งกำไร ซึ่งถูกแปรรูปเป็นพื้นที่การเกษตรโดยการปลูกกล้วย เพื่อลดภาระทางภาษี

“คุณปล่อยให้สนามหลวงเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร และรบกวนพื้นที่ทางเท้าได้อย่างไร ทำไมเราไม่คืนพื้นที่ทางเท้า พื้นที่พักผ่อนหยอนใจให้กับคนย่านนี้ สนามหลวงเราเคยเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนกรุงเทพมากก่อน ไม่ได้ล้อมรั้วแบบนี้”


สกลธี ภัททิยกุล : กรุงเทพดีกว่านี้ด้วยการจัดการ และเทคโนโลยี

สกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่า กทม. ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่า กทม. อิสระ กล่าวว่าปัญหาของกรุงเทพ คล้ายกับหลายๆ เมืองทั่วโลกที่มีปัญหาต่างกัน และมีทั้งด้านดี ด้านไม่ดี แต่เชื่อว่ากรุงเทพดีกว่านี้ได้ โดยการนำเอาการบริหารจัดการที่ดีเข้าไป หรือนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าไปปรับใช้ 

เขาย้ำว่า หน้าที่ของผู้บริหาร กทม. คือการบริหารจัดการงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำจัดให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ปีหนึ่ง กทม. ได้รับงบประมาณ 8 หมื่นล้าน ในจำนวนนี้เป็นเงินเดือนข้าราชการ 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลืออยู่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ว่าฯ แต่ละท่านที่เข้าว่าจะเห็นความสำคัญของเรื่องใดเป็นหลัก ก็จะมีการให้น้ำหนักแตกต่างกันไป 

ในส่วนของปัญหาการจราจร สกลธี เห็นว่านี่คือปัญหาโลกแตก และผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนทุกสมัยต่างก็หาเสียงจากเรื่องนี้ แต่ถามว่าทำได้มากน้อยแค่ไหนเพียงใด อำนาจของผู้ว่า กทม. ในการแก้ไขปัญหารถติด ต้องอาศัยอำนาจจากหลายหน่วยงานไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาเบ็ดเสร็จที่ตัวผู้ว่าฯ เหมือนกับนายกเทศมนตรีในต่างประเทศที่สามารถคุมทุกอย่างได้ แต่อำนาจ หน้าที่ของ กทม. มีเพียงแค่การขีดสี ตีเส้นการจราจร ทำป้ายสัญญาณป้าย ป้ายนับถอยหลังสัญญาณไฟ 

เขากล่าวต่อว่า การแก้ปัญหารถติดเบื้องต้นใน กทม. ควรนำระบบ AI มาใช้ในการจัดสัญญาณจราจร ซึ่งจะมีการเก็บข้อมูลในช่วงเวลา 3-6 เดือน และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการใช้คำนวณระยะเวลาการปล่อยรถ ซึ่งจะได้ผลดีกว่าดารใช้สายตาของมนุษย์ในการจัดการ

ส่วนประเด็นเรื่องการขนส่งสาธารณะ สกลธี เห็นว่า จำนวนรถที่ลงทะเบียนกับ กทม. มีอยู่ประมาณ 11 ล้านคัน แต่ถนนมีอยู่เพียง 5-6 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ กทม. อย่างไรก็ไม่สามารถหนีรถติดได้ แต่วิธีแก้ไขคือ การทำให้คนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยสะดวก และเข้าถึงได้ง่าย และการแก้ปัญหาจุดนี้คือการทำการเชื่อมต่อบริการขนส่งสารธารณะ ไม่ว่าจะเป็น ล้อ ราง หรือเรือ ให้เชื่อมต่อกัน โดยควรทำระบบขนส่งสายรองเพื่อเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสายหลัก

“การเชื่อมโครงข่ายทั้งหมด จะทำให้คนกรุงเทพมีทางเลือกในการใช้รถสาธารณะมากขึ้น และใช้รถส่วนตัวน้อยลง ถ้ามันมีทางเลือกที่มากขึ้นก็เชื่อว่าคนจะใช้รถน้อยลง รถจะติดน้อยลง และฝุ่นก็จะน้อยลงด้วย”

ส่วนประเด็นเรื่องพื้นที่สีเขียว สกลธี ให้ข้อมูลว่า ในกรุงเทพ มีพื้นที่สีเขียวซึ่งเป็นสวนสาธาระขนาดใหญ่อยู่ 38 แห่ง สิ่งที่ต้องทำคือการให้สวนสาธารณะเหล่านี้มีความทันสมัย และตอบโจทย์ให้คนเข้ามาใช้มากขึ้น โดยไม่จำเป็นที่จะต้องสร้างสวนสาธารณะขนาด 300-400 ไร่เพิ่มขึ้น แต่เราสามารถทำสวนสาธารณะขนาดเล็กในแต่ละเขตได้ เพื่อให้คนได้เข้ามาพักผ่อนหยอนใจ 

เขากล่่าวต่อถึงปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ กทม. ด้วยว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของท่อระบายในกรุงเทพฯ เป็นท่อระบบเก่า มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 60 เซนติเมตร และเมื่อมีฝนตกหนักๆ อย่างไรก็ต้องมีน้ำรอระบาย เพราะขนาดของท่อระบายน้ำมีขนาดเล็ก และที่ผ่านมาหลายปีก็มีความพยายามแก้ปัญหาตามจุดต่างๆ เช่น อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ 9 อุโมงค์ การทำท่อลอดใต้ถนนมีอยู่ 11 โครง แก้มลิงใต้ดิน และอีกหลายๆ โครงการ ซึ่งถือว่าเป็นไปในทางที่ดี เพียงแต่การเชื่อมต่อท่อระบบายน้ำจากจุดต่างๆ ไปยังจุดระบายน้ำขนาดใหญ่ยังทำได้ไม่ดีพอ ก็ต้องเน้นการแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ 


รสนา โตสิตระกูล : จะสร้างกรุงเทพอย่าลืมรากฐานภูมินิเวศ

รสนา โตสิตระกูล ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่า กทม. อิสระ กล่าวถึงการก่อสร้างหลายอย่างในกรุงเทพ เป็นการทำไปโดยไม่คำนึงภูมินิเวศของกรุงเทพ ไม่ได้ตั้งต้น หรือสนใจว่า กรุงเทพเป็นเมืองน้ำ ซึ่งในอดีตเมื่อครั้งที่มีการสร้างเมืองกรุงเทพได้มีการขุดลอกคูคลองไว้เยอะมาก เวลานี้มีคู และคลอง รวมกัน 1,682 สาย มีความยาวรวมกัน 2,604 กิโลเมตร แต่กรุงเทพกลับพยายามสร้างเมืองให้เหมือนกับฮ่องกง สร้างตึกสูง สร้างถนน โดยไม่ได้สนเรื่องการสัญจรทางน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่แต่เดิม 

รสนา กล่าวด้วยว่า ปัญหาน้ำท่วมที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานานของ กทม. เป็นเพราะไม่ได้มีการขุดลอกคูคลองอย่างจริงจัง หากแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหัวใจ คูคลองต่างๆ ก็คือเส้นเลือดที่จะนำน้ำไปที่หัวใจ และหากว่าคูคลองเล็กๆ ที่มีอยู่ทั่วเมืองกำลังตีบตัน ก็สามารถทำให้น้ำท่วมในกรุงเทพได้ โดยที่ผ่านมา กทม. มีความพยายามแก้ไขปัญหาโดยเจาะจงไปที่โครงสร้างขนาดใหญ่แต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้สนถึงภูมินิเวศของเมืองว่าเป็นพื้นที่ที่อ่อนไหว 

“ที่ผ่านมาเราใช้เงินทำโครงสร้างขนาดใหญ่มหาศาล แต่ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ ถ้าดิฉันเป็นผู้ว่า กทม. ดิฉันจะให้ลอกคลองทุกสาย ระบายน้ำท่วม โดยที่ใช้เงินน้อยกว่าการทำอุโมงค์ระบายน้ำทั้งหลาย… และการขุดลอกคลองทุกสายเพื่อระบายน้ำท่วม ดิฉันจะทำให้ประชาชนมีงานทำจากการขุดลอกคูคลอง”

รสนา กล่าวถึงประเด็นพื้นที่สีเขียวว่า มีความจำเป็นมากเพราะเวลานี้เรากำลังกับภาวะโลกร้อน โดยสมัยก่อนทั้งฝั่งกรุงเทพ และฝั่งธนบุรีต่างก็มีพื้นที่สีเขียวจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมากลับพบว่ามีทำให้พื้นที่สีเขียวที่เคยมีแต่เดิมหายไป กลายเป็นพื้นที่คอนกรีตแทน อย่างไรก็ตามยังพบว่า กทม. เองมีพื้นที่ว่างจำนวนมาก หากมีการจัดสรรพื้นที่เหล่านี้ ให้กับคนจนเมืองในการปลูกผักอินทรีย์ เพื่อให้คนกลุ่มนี้มีอาหารสำหรับบริโภคเอง หรือสามารถนำไปขายเพื่อสร้างรายได้ 

“คนที่มีที่ดินว่างเปล่าทั้งหลายก็ไม่ต้องไปปลูกกล้วย ปลูกมะนาว มาทำสัญญากับ กทม. เลย แล้วก็ลดภาษีที่ดินไป และเราจะจัดสรรที่เหล่านั้นให้คนจนเมืองได้ปลูกผักอินทรีย์กัน และการปลูกผักอินทรีย์มันทำให้เราใช้พลังงานน้อยลง เพราะปัญหาโลกร้อนมันเกิดจากการที่เราใช้พลังงานฟอสซิลมากเกินไป แต่ถ้าเราสามารถทำสิ่งนี้ได้เราจะมีพื้นที่อาหารขนาดเล็กในชุมชน”

ในประเด็นผังเมือง รสนา ชี้ว่า ที่ผ่านมาผังเมืองของ กทม. มีปัญหามาก เพราะปล่อยให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายผังเมือง ซึ่งต้องตั้งคำถามว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อเอื้อกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ และอีกปัญหาคือกรุงเทพเป็นเมืองที่ขนาดใหญ่เกินไป และเติบโตอย่างไรทิศทาง 


ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : กรุงเทพต้องน่าอยู่สำหรับคนทุกคน

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่า กทม. อิสระ กล่าวถึงประเด็นสำคัญทั้งเรื่องการจราจร ระบบขนส่งสาธารณะ อุบัติเหตุบนท้องถนน รวมทั้งเรื่องพื้นที่สีเขียวว่า ต่างผูกโยงกันอยู่กับคำๆ เดียวคือ ทุกคนต้องมีความสุขเมื่ออยู่ในกรุงเทพ และสิ่งที่ทีมชัชชาติกำลังคิด และทำคือการทำให้กรุงเทพเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน 

“ถ้าทำให้กรุงเทพน่าอยู่เฉพาะบางคนเป็นเรื่องที่ไม่ได้ยาก อย่างที่ท่านวิโรจน์พูดถ้าเป็นคนมีตังค์ก็อยู่สบาย แต่คนที่รายได้น้อยมักจะเป็นคนที่ลำบาก”

เขากล่าวต่อว่า ปัญหาในหลายประเด็นของกรุงเทพ มักจะเป็นปัญหาระหว่างเส้นเลือดใหญ่กับ เส้นเลือดฝอย กรุงเทพเหมือนร่างกายคน เส้นเลือดใหญ่ก็เหมือนกับการลงทุนขนาดใหญ่ และที่ผ่านมากรุงเทพให้ความสำคัญกับระบบโครงสร้างขนาดใหญ่จำนวนมาก จึงทำให้คนจำนวนหนึ่งที่อยู่ใกล้กับเส้นเลือดใหญ่สบายกว่า แต่ในส่วนของเส้นเลือดฝอยกลับถูกมองข้าม จนทำให้คนที่อยู่ชายขอบขาดการดูแล 

ชัชชาติ เห็นว่า การพัฒนากรุงเทพจำเป็นต้องทำเส้นเลือดใหญ่ให้ดีขึ้น และอย่าละเลยเส้นเลือดฝอย เช่นการคมนาคม เรามีรถไฟฟ้า ที่ผ่านมีการลงทุนเป็นแสนล้าน มีสถานนีสองร้อยกว่าสถานี ฉะนั้นคนที่อยู่ตามแนวรถไฟฟ้าก็ได้รับความสะดวกสบาย แต่กลุ่มเส้นเลือดฝอยที่อยู่รอบนอก รถเมล์ก็ยังไม่มี ทางเดินเท้าก็ไม่ได้คุณภาพ และในหลายพื้นที่พบว่าไม่มีระบบเชื่อมต่อให้คนรอบนอกไม่สามารถเข้ามาใช้บริการขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวกสบาย 

เขาย้ำว่า กทม. ควรเริ่มต้นพัฒนารถเมล์ เพื่อเชื่อมโยงผู้คนให้เข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้อย่างสะดวก รวมทั้งการทำเท้าทางที่จะพาคนเดินทางมายังรถไฟฟ้าก็ต้องทำให้ดี

ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เวลานี้กรุงเทพมีอุโมงค์ยังระยะความยาวประมาณ 20 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุนไปกว่า 3 หมื่นล้าน แต่ใช้ระบายน้ำได้แค่ 260 คิวบิกเมตรต่อวินาที เทียบกับทั้งหมดที่ต้องระบายคือ 2,600 คิวบิกเมตร และเวลาน้ำท่วมในกรุงเทพ ยกตัวอย่างที่ห้วยขวางเมื่อ 2 วันก่อน ซึ่งอยู่ห่างจากอุโมงค์ระบายน้ำที่บางซือไม่ไกล แต่น้ำไม่สามารถไปถึงได้เพราะเส้นเลือดฝอยอุดตัน ฉะนั้นการขุดลอกคูคลอง และท่อระบายน้ำก็มีความจำเป็น 

ส่วนประเด็นเรื่องพื้นที่สีเขียว ชัชชาติเห็นว่า ในกรุงเทพมีสวนสาธารณะที่ดี และขึ้นว่าอยู่ในระดับโลก แต่ถามว่าใครจะสามารถเดินทางมาออกกำลังกายที่สวนเหล่านี้ได้ในเวลาตีห้า หรือในช่วงเย็น ก็คงมีแค่คนที่อยู่อาศัยบริเวณนั้น แต่คนที่อยู่รอบนอกก็คงมาลำบาก ที่ผ่านมาเราทุ่มเทเพื่อสวนขนาดใหญ่ไปเยอะ แต่อย่าลืมว่าที่จริงแล้วเราต้องการสวนสาธารณะที่อยู่ใกล้บ้าน เป็นพื้นที่ที่เด็ก หรือคนชราสามารถเดินไปได้ 

“นอกจากนี้เรายังมีพื้นที่ที่น่าจะใช้ประโยน์ได้อีกหลายแห่ง อย่างพื้นที่ราชการทำไมเราไม่เปิดประตูให้คนเข้าไปใช้ได้ พื้นที่วัดเราเข้าไปปลูกต้นไม้ได้ไหม หรือโรงเรียน วันเสาร์อาทิตย์โรงเรียนปิด เด็กก็ต้องมาวิ่งเล่นที่ถนนนอกโรงเรียน ทำไมไม่เปิดประตูให้เด็กเข้าไปใช้พื้นที่สีเขียวในโรงเรียน”

ชัชชาติ กล่าวว่าพื้นที่สีเขียวไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ใหญ่ แต่ควรมีพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กจำนวนมากทั่วเมือง ซึ่งพื้นที่นี้ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นสวนสาธารณะเพียงอย่างเดียว ซึ่งสิ่งที่ทำได้อีกอย่างหนึ่งคือการปลูกต้นไม้ และสามารถทำให้เป็นกิจกรรมร่วมกันสำหรับคนเมือง เช่นทุกวันอาทิตย์ออกไปร่วมกันปลูกต้นไม้ เพื่อให้อีก 20 ต่อมาต้นไม้ที่ปลูกไว้กลายเป็นสมบัติของเมือง