ไม่พบผลการค้นหา
นอกจากจะเป็นมหาเศรษฐีที่รวยติดอันดับต้นๆ ของไทยแล้ว 'เจริญ สิริวัฒนภักดี' เจ้าของกิจการ 'ไทยเบฟ' ยังติดโผ 100 มหาเศรษฐีโลก และมีรายได้เพิ่มกว่า 7.7 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมา

เว็บไซต์บลูมเบิร์กรายงานว่า ในปีที่ผ่านมา 'นายเจริญ สิริวัฒนภักดี' เจ้าของธุรกิจเครื่องดื่มรายใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาท ทั้งยังติดอันดับ 91 จาก 100 มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลก อ้างอิงการจัดทำดัชนีมหาเศรษฐีของบลูมเบิร์กประจำปี 2019

รายได้สุทธิของเจริญปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 13,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยประมาณ ส่วนใหญ่มาจากผลประกอบการบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ และตัวเลขดังกล่าวเป็นการประเมินในช่วงที่ธุรกิจในเครือไทยเบฟฯ เพิ่งได้รับสิทธิบริหารเชนร้านกาแฟดัง 'สตาร์บัคส์' ในประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่าทางธุรกิจกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 16,000 ล้านบาท

บลูมเบิร์กประเมินว่า การลงทุนในกิจการสตาร์บัคส์ ประเทศไทย เป็นการสานต่อเป้าหมายของเจริญที่ต้องการขยายอาณาจักรทางธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มเติมจากกิจการเบียร์และเหล้า เพราะตั้งแต่เดือน ม.ค. 2561 รายได้จากธุรกิจเหล้าเบียร์ของไทยเบฟในไทยได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีและการบังคับใช้มาตรการควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดจำนวนนักดื่มในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ไทยเบฟได้ขยายธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปยังเมียนมาและเวียดนามในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็ได้ผลที่น่าพอใจ และนักวิเคราะห์เชื่อว่า นายเจริญและไทยเบฟ จะไม่หยุดอยู่แค่ธุรกิจเครื่องดื่ม แต่จะขยายต่อไปยังสินค้าอุปโภคบริโภคในภูมิภาคด้วย

ขณะเดียวกัน นิตยสารฟอร์บส์ รายงานว่า เจริญมีทรัพย์สินรวมกว่า 15,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ร่ำรวยติดโผ 100 อันดับมหาเศรษฐีโลกติดต่อกันอีกปีจากการจัดอันดับของฟอร์บส์

ส่วนกิจการอื่นๆ ของเจริญ ได้แก่ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ TCC Land, Asset World, ธุรกิจเครื่องดื่ม Fraser & Neave และเครือห้างสรรพสินค้า Big C Supercenter เป็นต้น

นอกจากนี้ ฟอร์บส์ยังระบุด้วยว่า เมื่อปี 2549 มีความพยายามที่จะนำบริษัทไทยเบฟเข้าตลาดหลักทรัพย์ของไทย แต่ประสบปัญหากระแสต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มผู้ชุมนุมที่มองว่ารัฐบาลไทยไม่ควรส่งเสริมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ไทยเบฟยื่นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์แทน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'ไทยเบฟ' ได้สิทธิ์บริหารสตาร์บัคส์ในไทย บริษัทแม่ถอนตัวโฟกัสตลาดจีน