ไม่พบผลการค้นหา
การใช้กัญชาทางการแพทย์และสันทนาการเป็นเรื่องที่หลายประเทศยอมรับได้มากขึ้น แต่ 'โมร็อกโก' ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการปลูกกัญชามานานแล้ว กำลังประสบปัญหาใหญ่ เพราะเกษตรกรจำนวนมากระบุว่า พวกเขาไม่อาจสู้นายทุนต่างชาติที่เข้ามาปลูกกัญชาในประเทศได้

โมร็อกโกเป็นประเทศขึ้นชื่อในฐานะผู้เพาะปลูกและส่งออกกัญชารายใหญ่ของโลก แม้ว่าการเสพกัญชาในประเทศโมร็อกโกเองจะยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายในปัจจุบันก็ตาม แต่วัฒนธรรมการสูบกัญชามีประวัติความเป็นมายาวนาน โดยย้อนกลับไปได้ไกลถึงประมาณศตวรรษที่ 7 ซึ่งพ่อค้าชาวอาหรับนำกัญชาเข้ามายังประเทศแถบแอฟริกาเหนือแห่งนี้

ปัจจุบัน เทือกเขาริฟในภูมิภาคเคตามา ทางเหนือของโมร็อกโก เป็นแหล่งเพาะปลูกกัญชาขนาดใหญ่ของประเทศและของโลก อ้างอิงรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นโอดีซี (UNODC) พบว่า 1 ใน 4 ของกัญชาที่ยึดได้จากคดียาเสพติดทั่วโลก ช่วงปี 2013 ถึง 2017 มีที่มาจากโมร็อกโก รวมถึงกัญชาที่จำหน่ายอย่างถูกกฎหมายในกรุงอัมสเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์

เจ้าหน้าที่จำนวนมากไม่ดำเนินการทางกฎหมายต่อเกษตรกรผู้ปลูกกัญชาในโมร็อกโก แม้ว่าจะมีบทลงโทษแก่ผู้ที่เสพหรือค้ากัญชา และประชากรในภูมิภาคเคตามาที่ปลูกกัญชามีจำนวนประมาณ 9 หมื่น ถึง 1 แสน 4 หมื่นคน แต่กัญชาที่ปลูกได้ในละแวกนี้จะเป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นที่เรียกว่า 'เบลดิยา' ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นที่ต้องการของตลาด จนกระทั่งหลังปี 2010 เป็นต้นมา กัญชาสายพันธุ์ผสมจากต่างถิ่น ซึ่งมีต้นกำเนิดจากห้องทดลองในประเทศแถบยุโรป ก็เริ่มรุกคืบเข้าสู่เทือกเขาริฟเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

กัญชาสายพันธุ์ต่างถิ่นมีชื่อเรียกที่ดึงดูดความสนใจ เช่น ปากีสถาน, แอนนีเซีย หรือ กอริลลา และสายพันธุ์กัญชาเหล่านี้ได้รับการตัดแต่งจนมีคุณสมบัติโดดเด่นด้านผลผลิตมากกว่ากัญชาสายพันธุ์ท้องถิ่นของโมร็อกโก ทำให้กัญชาเหล่านี้เป็นที่ต้องการของพ่อค้าคนกลางมากกว่าพันธุ์เบลดิยา แต่ข้อจำกัดคือกัญชาต่างถิ่นต้องใช้สารเคมีและปุ๋ยจำนวนมากเพื่อเร่งผลผลิต รวมถึงต้องมีระบบชลประทานที่มีน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกในแต่ละฤดูกาล

AFP-ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในเลบานอนทำกัญชาแห้งเพื่อใช้ทางการแพทย์และสันทนาการ.jpg
  • กัญชาอบแห้ง

แม้ว่ากัญชาสายพันธุ์ต่างถิ่นจะถูกนำมาปลูกในโมร็อกโก แต่ผู้ที่มีโอกาสในตลาดกัญชาส่งออกมากที่สุดในระยะหลังๆ ก็คือกลุ่มทุนต่างถิ่นที่เข้าไปลงทุนปลูกกัญชาทางเหนือของโมร็อกโก และกลุ่มทุนเหล่านี้มีทั้งจ้างเกษตรกรท้องถิ่น รวมถึงใช้นวัตกรรมทางการเกษตรที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงเพื่อการเพาะปลูก โดยเฉพาะระบบเก็บกักน้ำ แต่เกษตรกรท้องถิ่นซึ่งมีรายได้จากการปลูกกัญชาสายพันธุ์ในประเทศ ไม่สามารถสู้กับกลุ่มทุนที่มีความพร้อมมากกว่าเหล่านี้ได้ และพวกเขาเกรงว่าในที่สุดเกษตรกรอาจต้องหันไปรับจ้างปลูกกัญชาสายพันธุ์ต่างถิ่นให้กับนายทุนแทน

นอกจากนี้ เกษตรกรโมร็อกโกยังเปิดเผยกับสื่อต่างประเทศด้วยว่า กัญชาสายพันธุ์ต่างถิ่นต้องใช้สารเคมีหรือปุ๋ยสังเคราะห์ในการเพาะปลูกเป็นจำนวนมาก พวกเขาจึงเกรงว่าถ้าปลูกไปนานๆ จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของดินและสภาพแวดล้อมได้ ซึ่งแม้จะได้รับคำยืนยันจากกลุ่มทุนที่เข้ามาในพื้นที่ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นอันตราย แต่พวกเขาก็ไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรตามมาในอนาคต

ส่วนเหตุผลที่กัญชาสายพันธุ์ต่างถิ่นได้รับความนิยมมากกว่า เพราะปริมาณสารทีเอชซี (THC) ในสายพันธุ์เหล่านี้มีมากกว่ากัญชาสายพันธุ์ท้องถิ่นที่ไม่ได้ผ่านการตัดแต่ง แต่สารทีเอชซีนี้เองที่เป็นตัวทำให้เกิดอาการมึนเมาและเสพติด ขณะที่หลายประเทศที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อเหตุผลทางการแพทย์หรือเพื่อสันทนาการอนุญาตให้ใช้สารสกัดกัญชาที่มีสารซีบีดี ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยผ่อนคลายความกังวล และสามารถนำไปใช้กับผู้ที่เป็นโรคลมชัก ซึ่งแม้สารเคมีทั้งสองอย่างจะอยู่ในกัญชาเหมือนกัน แต่การนำไปใช้ต่างกัน

ทั้งนี้ กัญชาสายพันธุ์ต่างถิ่นที่นำมาปลูกในโมร็อกโกก็เป็นพันธุ์ที่มีทีเอชซีสูง ทำให้เห็นเจตนาชัดเจนว่ากัญชาเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในด้านใด

ที่มา: France 24/ SCMP/ Trip Savvy