ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ออกแถลงการณ์ ในโอกาสครบรอบ 8 ปี การสูญหายของพ่อเด่น คำแหล้  แกนนำนักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน ชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ

โดยมีเนื้อหาระบุว่า ย้อนไปเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2559 ณ ชุมชนโคกยาว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ หลังเสร็จสิ้นเทศกาลสงกรานต์เพียงวันเดียว สมาชิกชุมชนมีมติร่วมกันที่จะจัดกิจจกรรมรดน้ำดำหัว และเลี้ยงฉลองปีใหม่ แต่หารู้ไม่ว่านั่นคือวาระสุดท้ายของชายคนหนึ่ง ซึ่งเป็นแกนนำในการต่อสู้กรณีสวนป่าโคกยาว “พ่อเด่น คำแหล้"

เช้าวันดังกล่าว เด่น คำแหล้ บอกกับ สุภาพ คำแหล้ ภรรยาคู่ชีวิตว่าจะเข้าไปหาของป่าที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล เพื่อให้แม่สุภาพ น้ามาทำกับข้าวขายในตลาด และสมทบกิจกรรมของชุมชน โดยเดินทางไปพร้อมกับสุนัข 2 ตัว พร้อมห่อข้าวเหนียว น้ำ มีดเหน็บ เสียม และเป้ และหลังจากนั้น พ่อเด่น คำแหล้ ไม่มีโอกาสได้เดินทางกลับบ้าน มีเพียงสุนัขผู้ซื่อสัตย์ที่กลับมาด้วยอาการที่ตื่นตกใจ ปรากฏบาดแผลหลายแห่งตามลำตัว และการติดตามค้นหาพ่อเด่น จึงเริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่วันนั้น

ในช่วงปีแรก ไม่สามารถพบเบาะแส และร่องรอยใดๆทั้งสิ้น แม้จะทุ่มเทกำลังความสามารถจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และตรวจสอบพื้นที่อย่างละเอียด ในรัศมี 5 กิโลเมตร รอบชุมชนโคกยาว กระทั่งวันที่ 23 - 25 มีนาคม 2560 จึงพบชิ้นส่วนวัตถุพยาน เช่น กะโหลกศีรษะ และของใช้ติดตัวจำพวกเป้ ขวดน้ำ กางเกง มีด รองเท้ายาง บริเวณป่าช้าเก่าบ้านหนองไรไก่ และในบริเวณดังกล่าว คณะติดตามค้นหาเคยเข้าสำรวจ

แต่ไม่ปรากฏร่องรอยใดๆทั้งสิ้น และมาพบวัตถุพยานเพิ่มเติมในช่วงปี 2561 ในพื้นที่บริเวณเดียวกัน ซึ่งเป็นที่น่าสงสัยอย่างนึ่ง วัตถุพยานที่พบได้นำไปพิสูจน์โดยกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ ปรากฏว่า วัตถุพยานที่พบมีสายพันธุกรรมเดียวกันกับน้องสาว ซึ่งร่วมบิดามารดาเดียวกัน แต่ไม่สามารถระบุสาเหตุการณ์เสียชีวิตได้ เรื่องราวการหายตัวไปของพ่อเด่น คำแหล้ จึงเป็นปริศนามากระทั่งทุกวันนี้ ว่าใครกันแน่คือผู้บงการ และทำให้พ่อเด่นหายตัวไป

พ่อเด่น คำแหล้ เกิดในครอบครัวชาวนายากจน เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2494 ณ อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี และอพยพมาอยู่ที่ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ในปี พ.ศ.2509 และที่นี่ คือ สถานที่บ่มเพาะให้ เด่น คำแหล้ มีความตื่นตัวทางการเมือง กระทั่งเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในนามสหาย ดาว อีปุ่ม ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวมในเขตงานภูซาง กระทั่งได้รับมอบหมายให้มาบุกเบิก ขยายงานใน เขต 196 พื้นที่เทือกเขาเพชรบูรณ์ แถบอำเภอคอนสาร หนองบัวแดง กระทั่งปี พ.ศ.2525 จึงกลับเข้าสู่เมือง ใช้ชีวิต เป็นเกษตรกร โดยแต่งงานกับแม่สุภาพ คำแหล้ ทำการผลิตในที่ดินของพ่อตาที่บริเวณโคกยาว

ปี พ.ศ.2528 รัฐได้ดำเนินโครงการหมู่บ้านรักษ์ป่าประชารักษ์สัตว์ ขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินทำกินปลูกยูคาลิปตัส ทำให้ความเดือดร้อนขยายวงไปทั่วในพื้นที่ พ่อเด่น จึงเริ่มบทบาทผู้นำนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ท่วงทำนองและบุคลิกที่โผงผาง กล้าต่อสู้ กล้าเอาชนะ เป็นภาพติดตาที่เพื่อนมิตรร่วมต่อสู้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักคุ้นชินเป็นอย่างดี หลายครั้งทำให้การแก้ไขปัญหามีความก้าวหน้าไปจากความเด็ดเดี๋ยวกล้าหาญของผู้นำอย่าง เด่น คำแหล้ และในอีกด้านหนึ่งก็ถูกกระทำจากหน่วยงานอีกเช่นกัน

ปี พ.ศ.2557 หลังการรัฐประหารเผด็จการ ได้ดำเนินนโยบายทวงคืนผืนป่า ความพยายามในการผลักดันชุมชนโคกยาวออกจากพื้นที่ จึงเข้มข้นขึ้นอีกครั้ง พ่อเด่นในฐานะผู้นำชาวบ้านได้เข้าร่วมกับขบวนการประชาชน เพื่อผลักดันข้อเสนอทั้งทางนโยบาย และการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ เพื่อคุ้มครองสิทธิที่ดินของเกษตรกร กระทั่งวาระสุดท้าย ในวันที่ 16 เมษายน 2559 ความใฝ่ฝันหลายอย่างยังไม่บรรลุผล โดยเฉพาะสิทธิในที่ดินที่ถูกพรากไปตั้งแต่ปี 2528

ภายหลังการสูญเสียของพ่อเด่น แม่สุภาพ คำแหล้ ภรรยาคู่ชีวิต ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 6 เดือน ในคดีบุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งคือที่ดินที่พ่อบุกเบิกมาด้วยน้ำพักน้ำแรงตัวเอง และเสียชีวิตด้วยโรงมะเร็งในเวลาต่อมา ภายหลังพ้นโทษออกจาเรือนจำ อาจกล่าวได้ว่า เกือบค่อนชีวิตของพ่อเด่น คำแหล้ จึงอยู่กับการต่อสู้เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม กระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ในฐานะสามัญชนธรรมดาคนหนึ่งที่ปรารถนาสังคมที่เท่าเทียม เป็นธรรม แม้วันนี้ยังห่างไกลจากความไฝ่ฝันดังกล่าวก็ตาม

การต่อสู้ของพ่อเด่น และแม่สุภาพ คำแหล้ ได้เป็นแบบอย่างที่ดีงามสำหรับผู้คนที่ต้องการ และปรารถนา การเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าเป็นธรรม เป็นที่รังเกียจของคนที่ต้องการผูกขาดอำนาจการจัดการทรัพยากร ต้องการกำจัดทิ้งไป ดังที่เกิดขึ้นมาแล้ว และจิตใจที่เด็ดเดี่ยวกล้าหาญของพ่อเด่น คือความทรงจำร่วมของเราในนามผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ และเป็นเจตจำนงค์ร่วมกันในการผลักดันภารกิจของพ่อเด่นที่ยังไม่บรรลุ

นั่นคือการแก้ไขปัญหาที่ดินสวนป่าโคกยาว โดยรัฐบาลต้องเร่งส่งมอบพื้นที่จำนวน 330 ไร่ คืนให้กับราษฎรผู้เดือดร้อนโดยเร่งด่วน เราจะร่วมกันสร้างหมุดหมาย และเจตนารมณ์นี้ให้ปรากฏในพื้นที่แห่งนี้ เป็นความทรงจำร่วมกัน และประวัติศาสตร์ของสามัญชนธรรมดา ในนาม “อนุสรณ์สถาน เด่น คำแหล้” ในผืนแผ่นดิน ที่เกษตรกรได้ร่วมกัน บุกเบิกถากถางมา แต่ถูกแย่งยึดไปโดยอำนาจรัฐ แผ่นดินที่ชื่อ "โคกยาว” เราจะร่วมกันรำลึกการสูญเสียของพ่อเด่น ในทุกปี ผลักดันแนวทางการต่อสู้ และจิตใจแบบ เด่น คำแหล้ ให้เป็นเจตจำนงค์ร่วมกันของผู้คนที่รักความก้าวหน้าเป็นธรรม

ขอคารวะดวงวิญญาณ เด่น คำแหล้

ขอคารวะดวงวิญญาณ สุภาพ คำแหล้

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน

16 เมษายน 2567