ไม่พบผลการค้นหา
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดโครงการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ได้รับ ผลกระทบจากร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ประกาศหนุนแก้หนี้ประชาชน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง-หนุนใช้กฎหมายเป็นเครื่องมืออำนวยความยุติธรรม

วันนี้ (16 พฤษภาคม 2568) พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางมาเป็นประธานพิธีเปิดโครงการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ได้รับ ผลกระทบจากร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ในการจัดสัมมนาโครงการเพื่อรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ได้รับผลกระทบจากร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จัดโดย คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สภาผู้แทนราษฎร โดยมีผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาคธุรกิจ ภาควิชาการ สื่อมวลชน และผู้ที่สนใจเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ”การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ เป็นขั้นตอนสำคัญในการผลักดันการปฏิรูปกฎหมายด้านล้มละลายของประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจและความเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างแท้จริง ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงและมีความซับซ้อน ตัวเลขล่าสุดสะท้อนว่าหนี้ของภาคประชาชนรวมแล้วเกือบ 20 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงกว่า GDP ของประเทศ ปัญหานี้ไม่ได้สะท้อนเพียงภาระทางเศรษฐกิจ แต่ยังเกี่ยวพันถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน ความมั่นคงของครอบครัว และศักยภาพในการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโดยรวม“

“การแก้ไขสถานการณ์นี้จำเป็นต้องมีกฎหมายที่เท่าทันความเป็นจริง ยืดหยุ่น และเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และบุคคลธรรมดาที่สุจริต มีรายได้ประจำ และมีความตั้งใจแก้ไขหนี้ของตนเอง ร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างการพิจารณาฉบับนี้ จึงได้ปรับปรุงกลไกการฟื้นฟูกิจการให้ครอบคลุมทุกระดับ ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจขนาดย่อม และลูกหนี้บุคคลธรรมดา โดยมีการแก้ไขสาระสำคัญหลายประการ เช่น

(1) การปรับเกณฑ์มูลค่าหนี้ขั้นต่ำให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ

(2) การจัดทำหมวดใหม่สำหรับ SME ที่ไม่จำกัดเฉพาะผู้ขึ้นทะเบียน

(3) การจัดทำหมวดสำหรับบุคคลธรรมดาที่มีหนี้ตั้งแต่ 1 แสนบาทขึ้นไป เพื่อให้สามารถฟื้นตัวโดยไม่ต้องถูกพิพากษาให้ล้มละลาย

นอกจากนี้ ยังมีการนำกลไก Automatic Stay หรือการพักชำระหนี้โดยอัตโนมัติ มาใช้ทันทีที่ศาลรับคำร้องขอฟื้นฟู เพื่อหยุดกระบวนการบังคับคดี และให้ลูกหนี้มีโอกาสหาทางออกอย่างเป็นธรรม โดยไม่ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันเกินควรจากเจ้าหนี้หรือกระบวนการยึดทรัพย์” - พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว 

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า “จุดเด่นของร่างฯ นี้คือ การเปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถเจรจากับเจ้าหนี้โดยไม่ต้องจัดประชุมเต็มรูปแบบ หากสามารถบรรลุข้อตกลงกับเจ้าหนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ได้ ก็สามารถเดินหน้าจัดทำแผนฟื้นฟูได้ทันที ซึ่งช่วยลดขั้นตอน ลดต้นทุน และลดความล่าช้าทางกระบวนการ ที่สำคัญ ร่างฯ นี้ยังให้ความคุ้มครองแก่ผู้ค้ำประกัน ไม่ให้ต้องรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วม แต่ให้รับผิดเฉพาะตามแผนฟื้นฟูเท่านั้น อันเป็นการป้องกันผลกระทบที่อาจลุกลามไปถึงครอบครัวและผู้เกี่ยวข้องโดยไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวทีที่นครราชสีมาเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ได้มีข้อเสนออย่างตรงไปตรงมาจากประชาชนว่า ควรมีมาตรการพักหนี้ ควรยกเว้นการนำเงินต้นมาคิดเป็นดอกเบี้ย และควรสร้างระบบที่ให้ความรู้แก่ลูกหนี้และผู้ค้ำประกันเกี่ยวกับขั้นตอนในกระบวนการศาล เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนและถูกเอาเปรียบ ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความจำเป็นที่ร่างกฎหมายต้องไม่เป็นเพียงกฎหมายทางเทคนิค แต่ต้องเป็นเครื่องมือของความยุติธรรม ที่เข้าถึงได้จริง และ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนระดับรากหญ้า ที่ยังขาดการปกป้องจากระบบกฎหมายในปัจจุบัน”

ทั้งนี้ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้ยังตั้งอยู่บนหลัก “ความเป็นธรรมทางสัญญา” โดยเฉพาะในกรณีที่ลูกหนี้รายย่อย ซึ่งมีอำนาจต่อรองต่ำ ต้องตกลงในเงื่อนไขกับเจ้าหนี้ที่มีความได้เปรียบอย่างชัดเจน อันอาจนำไปสู่สัญญาที่ไม่สมดุลและกดขี่ต่อสิทธิของลูกหนี้ หลักการนี้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 ที่บัญญัติชัดเจนว่า ข้อสัญญาที่ก่อให้เกิดความไม่สมดุล หรือเป็นการเอารัดเอาเปรียบฝ่ายหนึ่งโดยไม่เป็นธรรม ถือเป็นข้อสัญญาที่อาจตกเป็นโมฆะหรือถูกแก้ไขได้ตามกฎหมาย การเปิดโอกาสให้ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูโดยสมัครใจ ได้รับการคุ้มครองจากเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม และมีโอกาสเจรจาในฐานะคู่สัญญาที่เท่าเทียม เป็นการสร้างความเสมอภาคในเชิงโครงสร้าง และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากในระยะยาว หลักการของกฎหมายฉบับนี้จึงไม่ใช่การยกเว้นความรับผิด ไม่ใช่การส่งเสริมให้ “ไม่จ่ายหนี้” แต่คือการสร้างระบบที่ให้โอกาสแก่ผู้ที่สุจริต ได้กลับมาเริ่มต้นใหม่อย่างมีศักดิ์ศรี และเป็นกลไกสร้างความสมดุลระหว่างสิทธิของลูกหนี้และเจ้าหนี้อย่างแท้จริง

'กฎหมายที่ดี ต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ เจ้าหนี้ ลูกหนี้ ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ และภาคประชาชน เพื่อให้ร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นเครื่องมือที่ยุติธรรม เข้าถึงง่าย และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง' - พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว 

การสัมมนาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ เป็นการจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม อันเป็นไปตามกลไกของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 77 ซึ่งบัญญัติหลักการสำคัญที่กำหนดให้ก่อนการตรากฏหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอนประกอบกับข้อบังคับการประชุม สภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 140 ได้กำหนดหลักการเพื่อให้สภาหรือคณะกรรมาธิการ สามารถจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติเพิ่มเติมก็ได้ เพื่อประโยชน์ในการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง 

ภายในงานดังกล่าวยังมีกิจกรรม การเสวนารับฟังความคิดเห็นในหัวข้อ “การแก้ไขปัญหาหนี้สินโดยใช้กลไกของร่างกฎหมายล้มละลาย” วิทยากรโดย นายพิชัย นิลทองคำ รองประธานคณะกรรมาธิการ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิสิต อินทมาโน รองประธานคณะกรรมาธิการ ฯลฯ รวมทั้ง เครือข่ายภาคประชาสังคม และ การบรรยายเรื่อง การแก้ไขปัญหาหนี้สินโดยใช้กลไกของร่างกฎหมายล้มละลาย โดย นายพิชัย นิลทองคำ รองประธานคณะกรรมาธิการ ด้วย