ไม่พบผลการค้นหา
กลายเป็นประเด็นเดือดในทวิตเตอร์ เมื่อ #nnevvy ของแฟนนักแสดงซีรีส์วายเป็นชนวนให้แฟนคลับชาวจีนทะเลาะกับแฟนคลับชาวไทยในโลกออนไลน์ ลามไปถึงสถานะการปกครองตนเองของไต้หวันและฮ่องกง จนเกิดเป็น #Taiwan และ #China ตามมา ด้านนักวิชาการมองดราม่าสะท้อนการเมือง-สังคม ที่เเตกต่างกันมากระหว่างสองประเทศ

‘ไบร์ท วชิรวิชญ์’ นักแสดงซีรีส์วายเรื่อง ‘เพราะเราคู่กัน: 2gether the Series’ แสดงคู่กับ ‘วิน เมธวิน’ ได้รับความนิยมจากแฟนคลับทั้งชาวไทยและชาวจีนจำนวนมาก โดยเฉพาะอินสตาแกรม ‘bbrighttvc’ มีผู้ติดตาม 2 ล้านคน และในทวิตเตอร์ ‘bbright’ มีผู้ติดตาม 764,900 คนและ #talkwithbright เคยติดอันดับหนึ่งของโลกเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ไบร์ทเองก็มีแฟนอยู่แล้วชื่อ ‘นิว วีรญา’ ที่ใช้ชื่ออินสตาแกรมและทวิตเตอร์ ‘nnevvy’ โดยความไม่พอใจของแฟนคลับเริ่มตรงที่

1. ไบร์ทรีทวิตรูปวิวอาคารในเมืองของช่างภาพคนหนึ่ง ซึ่งบอกว่า “4 ภาพนี้ถ่ายจาก 4 ประเทศ ฮ่องกง-ญี่ปุ่น-สิงคโปร์-ไทย” แฟนคลับชาวจีนไม่พอใจที่ทวิตนี้ "เรียกฮ่องกงเป็นประเทศ" ซึ่งชาวจีนถือว่าฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีน ไม่ใช่ประเทศ ต่อมาไบร์ทก็ออกมาขอโทษและบอกว่าเป็นการรีทวีตที่คิดน้อยไป ซึ่งแฟนคลับไทยก็ออกมาปกป้องไบร์ท และมองว่าไม่ได้ทำอะไรผิด

nnevvy.jpg


2. มีคนแอบถ่ายรูป ไบร์ทไปซื้อของกับนิว ที่ซูเปอร์มาเก็ต เมื่อวันเสาร์ที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา

3. วันที่ 8 เมษายนที่ผ่าน ไบร์ทกับวินให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘Woody From Home’ ซึ่งมีคำถามว่า ถ้าได้เป็นแฟนกับวิน 1 วันจะทำอะไรบ้าง ไบร์ทบอกว่าจะทำอาหารให้วินทาน และอีกคำถามถามว่าวินเหมือนสัตว์อะไร ไบร์ทตอบว่าเหมือนหนู เป็นจังหวะเดียวกันที่นิวได้รีทวีตภาพจาก Disney ที่มีแคปชั่นว่า "Anyone can cook, why not give it a try" และภาพประกอบบทความเป็นภาพหนูจากภาพยนตร์เรื่อง Ratatouille

4. แฟนคลับจีนไปส่องทวิตเตอร์ของนิว พบว่านิวเคยรีทวีตข้อความที่บอกว่าไวรัสโควิด-19 มาจากจีน จึงเรียกร้องให้ออกมาขอโทษทั้งในประเด็นนี้และประเด็นของวิน เรื่องทำอาหาร

5. นอกจากนี้ แฟนคลับชาวจีนไปขุดรูปเก่าๆ ในอินสตาแกรมของนิว เจอรูปตอนนิวไปเที่ยวแล้วไบร์ทมาคอมเมนต์ว่า "สวยจัง เหมือนสาวจีนเลย" นิวตอบว่า "รายง่ะ" ซึ่งถ้าเอาไปแปลจะได้ความหมายว่า "What?" ทำให้เกิดความรู้สึกในทางลบ ขณะเดียวกันเพื่อนของนิวมาคอมเมนต์ว่า "แนวไหน" นิวตอบเพื่อนว่า "สาวไต้หวันไง" แฟนคลับชาวจีนจึงยิ่งไม่พอใจ เพราะจีนบอกมาตลอดว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่ไต้หวันก็ยืนยันถึงเอกราชในการปกครองตนเอง

nnevvy.jpgnnevvy.jpg
เริ่มต้นดราม่า ไทย-จีน-ฮ่องกง-ไต้หวัน

ทั้งหมดทำให้เกิดการปะทะกันในทวิตเตอร์ระหว่างคนไทยกับคนจีนโดยใช้ #nnevvy ทั้งด่ากันเป็นภาษาจีน ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โดยมีการทวีตแฮชแท็กนี้กว่า 1.7 ล้านทวีต เริ่มจากการถกเถียงกันเรื่องสถานะของไต้หวันและฮ่องกง จนมีคนฮ่องกงและไต้หวันมาร่วมทวีตด้วย ลามไปถึงว่าเชียงใหม่ว่าประเทศเชียงใหม่บ้าง หรือแม้กระทั่ง 7-11 เป็นประเทศบ้าง อีกทั้งชาวจีนยังขุดเรื่องอื่นๆ มาด่า เช่น เรื่องสถาบันฯ เรื่องไทยเป็นประเทศด้อยพัฒนา ทวงหน้ากากอนามัยที่เคยบริจาคคืน ฯลฯ และสุดท้ายคนจีนบอกว่าขอให้ไทยได้ประยุทธ์เป็นนายกฯ และถูกควบคุมด้วยกองทัพไปตลอดกาล ซึ่งข้อความนี้ดูเหมือนจะเป็นเพียงไม่กี่ข้อความที่ชาวทวิตเตอร์คนไทยรู้สึกเจ็บปวด

ในขณะที่มีแฮชแท็กให้กำลังใจไบร์ทคือ #StandingWithBright ส่วนทางต้นสังกัดและผู้จัดการส่วนตัวยืนยันว่าตอนนี้ยังไม่มีการยกเลิกงานในไทยและในต่างประเทศ และทางสังกัดเองมองว่าประเด็นไปไกลเกินกว่าตัวศิลปินและเป็นความขัดแย้ง ระหว่างคนไทยและคนจีนในโลกออนไลน์

nnevvy.jpgnnevvy.jpgnnevvy.jpgnnevvy.jpg


nnevvy.jpg

จะเห็นได้ว่าคำด่าของชาวจีนส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับชาติ สถาบัน และความเป็นชาตินิยมต่างๆ ไม่ได้ทำในคนไทยโกรธมากนัก ขณะเดียวกันกลับสะท้อนให้เห็นว่า คนจีนบนโลกออนไลน์อาจยังยึดติดอยู่กับความเป็นชาติมาก


นักวิชาการแสดงความเห็นดราม่า #nnevvy สะท้อนความต่างของชาติินิยม

ขณะที่ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และการเมือง ออกมาแสดงความคิดในเกี่ยวกับแฮชแท็กนี้ว่าคนไทยมีภูมิต้านทานและความสามารถในการหัวเราะให้กับชะตากรรมของประเทศตัวเองมากกว่า

ด้าน รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แสดงความคิดเห็นว่า การถกเถียงในเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยในทวิตเตอร์กับคนจีนเถียงกันกันคนละมิติ คือคนจีนไม่ได้แยกระหว่างความเห็นที่ถูกกล่อมเกลาโดยรัฐกับความเห็นสาธารณะ เขาคิดว่าสิ่งที่รัฐกล่อมเกลา เช่นเรื่องประเทศจีนมีหนึ่งเดียว ไวรัสเริ่มต้นที่สหรัฐอเมริกา คือสิ่งที่ถูกต้องเป็นมาตรฐานของสังคมเขา แต่คนไทยผ่านการปกครองมาหลากหลายรูปแบบกว่า ยังมีคนจำนวนมากที่แยกออกระหว่างอุดมการณ์ของรัฐ กับความคิดความเชื่อของสังคม คือรัฐครอบงำไม่ได้ทั้งหมด (โดยเฉพาะคนไทยในทวิตเตอร์ปัจจุบัน) คนจีนจึงไม่เข้าใจว่าทำไมด่ารัฐด่าอำนาจแล้วคนไทยถึงขำถูกใจ เพราะเขาอยู่ในโลกที่รัฐและสังคมมีอุดมการณ์หนึ่งเดียว

เรื่องนี้ทำให้นึกถึงประสบการณ์ร่วมประชุมวิชาการกับนักวิชาการจีน ในเวทีนานาชาติ นักวิชาการจีนจะไม่ค่อยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตัวเอง และกรณีที่คนจีนบอยคอตสินค้าจนทำให้สินค้านั้นๆ เสียหายไปจากตลาดจีน เขาอธิบายว่า เป็นเพราะลักษณะทางวัฒนธรรมของคนจีน ที่ภาคประชาสังคมเข้มแข็ง โดยเขามองไม่ออกว่าพฤติกรรมเหล่านั้นคือการกล่อมเกลาและการลงทัณฑ์โดยรัฐด้วย สำหรับชาวจีนอุดมการณ์ของรัฐเป็นอันหนึ่งดันเดียวกับอุดมการณ์ของสังคม โดยประชาชนเขาไม่ค่อยรู้ตัว ขณะที่ชาวไทยจำนวนมาก ยังแยกกันระหว่างรัฐกับประชาชน สิ่งที่รัฐบาลทำแล้วประชาชนไม่พอใจก็มี และก็ไม่ได้เอาตัวเองไปยึดโยงกับอุดมการณ์ของรัฐ รัฐกับตัวเขาเป็นคนละส่วน การถกเถียงกันในทวิตเตอร์จึงมองได้ว่าเป็นการเถียงกันคนละมิติ ซึ่งสนุกดี

ดร.พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะส่วนของภาคพื้นทวีป โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นว่า ดราม่าไทย-จีนสะท้อนการสร้างการรับรู้ต่อ Rising China ได้เป็นอย่างดีทั้งระดับภูมิภาคและประเทศกระบวนการขัดเกลาทางสังคมเพื่อสร้างอัตลักษณ์ร่วมระหว่างจีนกับประเทศอื่นนอกภูมิภาคอาจมีจำกัด และอยู่เพียงระดับผู้นำไม่ลงไปสู่ภาคสังคมที่จะสร้างอำนาจของจีนเพื่อสนับสนุนโครงสร้างทางอำนาจได้ย่างมีประสิทธิภาพ แทนที่จะมีปทัสถานที่สอดคล้องกัน กลับเห็นภาพมาตรฐานที่แตกต่างหลากหลาย ในระดับสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคาดว่าไม่เกิน 10 ปีข้างหน้าน่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในความสัมพันธ์ ไทย-จีน เมื่อคนรุ่นใหม่เริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมในการเมือง ตัวแสดงฝ่ายรัฐจะไม่ใช่ผู้ที่กำหนดการถกเถียงในสาธารณะอีกต่อไป

ผศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ มองว่าตัวแปรของเรื่องนี้ที่สำคัญที่สุดคือ อินเทอร์เน็ต การทะเลาะกันของวัยรุ่นไทยกับจีน ชี้ให้เห็นถึงความเข้าใจเรื่องการเมืองไทย สังคมไทย และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-จีน ที่แตกต่างกันเยอะมาก จะเห็นได้จากที่วัยจีนด่าอะไรมาวัยรุ่นไทยก็ไม่เจ็บ เพราะความเข้าใจที่ต่างกัน เนื่องจากวัยรุ่นจีนไม่สามารถเข้าสู่อินเทอร์เน็ตและโลกออนไลน์ได้ง่ายเหมือนไทย หลายแอปพลิเคชันต้องเข้าผ่าน VPN พวกเขาจึงยังอยู่ในกรอบของอดีตตามที่รัฐบาลจีนนำเสนอ ซึ่งเป็นแนวคิดกระแสหลักทั้งโครงเรื่องของรัฐชาติ ชาตินิยม และความสัมพันธ์ไทย-จีน โดยรัฐบาลของสองประเทศนำเสนอแบบเดียวกัน แต่เด็กไทยที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เสรีกว่าจึงไม่อยู่กรอบของเรื่องเล่ากระแสหลักที่รัฐนำเสนอ

ขณะเดียวกันเจนวายของไทยลงไปสามารถสื่อสารกับวัยรุ่นของไต้หวันและฮ่องกงได้ค่อนข้างรู้เรื่องมากกว่าการสื่อสารกับวัยรุ่นจีน เนื่องจากไม่ได้อยู่ในกรอบที่ต้องรักชาติตามแบบความเป็นรัฐชาติเดิม

ขณะที่คนไทยอีกกลุ่มคือ เจนเอ็กซ์ขึ้นไปจนถึงบูมเมอร์ เป็นกลุ่มคนไทยที่ยังอวยความเป็นจีน คนกลุ่มนี้เข้าสู่ข้อมูลข่าวสารในอินเทอร์เน็ตน้อยกว่าคนรุ่นใหม่ของไทย จึงได้รับอิทธิพลจากสื่อกระแสหลัก ประวัติศาสตร์ รัฐชาติ ซึ่งเป็นเรื่องเล่าเดียวกับที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนเสนอ พวกเขาจึงสมาทานโครงเรื่องแบบรัฐชาติมากกว่าคนรุ่นใหม่