ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (30 พ.ค.) โลกออนไลน์เกิดประเด็นที่ถูกถกเถียงกันอย่างเป็นวงกว้าง หลังจากทรูวิชั่นส์ ระงับการออกอากาศเนื้อหาบทสัมภาษณ์บางส่วนของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กับ BBC ภาคภาษาอังกฤษ โดยการขึ้นภาพขั้นหน้าจอพร้อมข้อความ "Program will resume shortly" (รายการจะกลับมาดำเนินอีกครั้งในไม่ช้า) อยู่ช่วงหนึ่ง จนกลายมาเป็นประเด็นถกเถียงกันว่า เพราะเหตุใดทรูวิชั่นส์จึงระงับการเผยแพร่บทสัมภาษณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ยังไม่มีการชี้แจงจากทรูวิชั่นถึงเหตุผลการระงับเนื้อหาบางส่วนของรายการข่าว BBC ที่มีเนื้อหาบทสัมภาษณ์พิธา

รายการข่าวของ BBC ถ่ายทอดผ่านแพลตฟอร์มในไทยอย่างเป็นทางการ โดยบริษัทของไทย 2 แห่ง ได้แก่ ทรูวิชั่นส์และเอไอเอส ผ่านการทำสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ ซึ่งการควบคุมเนื้อหาที่ได้รับการออกอากาศ จะขึ้นอยู่กับทางบริษัทของไทยเอง

บทสัมภาษณ์ของพิธารวมถึงการรายงานของโจนาธาน เฮด สื่อข่าวประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ BBC กับสถานีโทรทัศน์ออกอากาศในสหราชอาณาจักรด้วยเวลาเพียงประมาณ 2 นาที ซึ่งเป็นช่วงที่ 'จอว่าง' ในประเทศไทย

ในขณะที่ BBC Thai ได้นำบทสัมภาษณ์ขนาดเต็มความยาว 30 นาที เผยแพร่ผ่านทางช่องยูทูปของตัวเอง ในบทสัมภาษณ์เต็มความยาว 30 นาที ซึ่งเผยแพร่ผ่านทางช่องยูทูป BBC Thai มี โจนาธาน เฮด เป็นผู้สัมภาษณ์ บทสัมภาษณ์มีเนื้อหาหลักของการพูดคุยในประเด็นการเลือกตั้งของไทย ก่อนและหลังผลลัพธ์ชัยชนะของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. รวมถึงแนวนโยบายของพรรคที่จะนำพาประเทศหลุดออกจากการรัฐประหาร ตลอดจนประเด็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีจากสมาชิกวุฒิสภา


เกิดอะไรขึ้นในช่วง “จอว่าง”

เหตุการณ์รายการ BBC จอว่างในช่องทรูวิชั่นส์เป็นที่พูดถึงหลังจากบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ Thanyarat Doksone ทวีตข้อความว่า “ทรูวิชั่นส์ เมื่อไหร่จะเลิกถือวิสาสะบล็อคข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับเมืองไทยนะ? ก่อนหน้านี้ CNN ABC ก็โดน เช้านี้เซ็นเซอร์บีบีซีสัมภาษณ์พิธา” พร้อมกันกับการทวีตภาพช่วงหน้าจอของสถานี BBC ที่ปรากฎข้อความ "Program will resume shortly" ผ่านการต่อสัญญาณโดยทรูวิชั่น นอกจากนี้ โจนาธาน เฮด ยังได้รีทวีตข้อความพร้อมภาพดังกล่าว และตั้งคำถามว่า “และเราต้องถามอีกครั้ง… ทรูจะเซ็นเซอร์เราไหม หากเราได้สัมภาษณ์ประยุทธ์ (จันทร์โอชา)”

บัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ Thanyarat Doksone ยังตั้งข้อสังเกตบนทวิตเตอร์อีกว่า ปัจจุบันนี้ ทรูวิชั่นต่อสัญญาณออกอากาศจาก BBC ผ่านทางทรูวิชั่นเองด้วยเวลาที่ช้ากว่าสัญญาณของ BBC ไป 5 นาที โดยมีผู้ชมเคยสอบถามว่า “ทำไมข่าวต้นชั่วโมงไม่ออกตรงตอนต้นชั่วโมง” ทั้งนี้ ไม่มีการแจ้งสาเหตุของความล่าช้าดังกล่าว

รายการข่าวของ BBC ที่ถูกระงับไปช่วงหนึ่งโดยทรูวิชั่นส์นั้น เกิดขึ้นในช่วงการออกอากาศราวเช้าวันอังคารที่ผ่านมา โดยท่อนที่ถูกตัดภาพไปเป็นช่วงที่พิธากำลังตอบคำถามกับเฮด เรื่องการนำพาประเทศไทยให้หลุดจากวงจรการทำรัฐประหารโดยกองทัพ

เมื่อตรวจสอบจากบทสัมภาษณ์ขนาดยาวที่เผยแพร่ใน BBC Thai พิธาตอบคำถามของเฮดว่า “ถ้าคุณมองจากมุมมองข้างในออกไปข้างนอก มัน (การหลุดจากวงจรการทำรัฐประหาร) เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาแล้ว แต่ผมมองจากข้างนอกเข้ามาข้างใน มันมีหลายประเทศรอบโลก ที่ได้เคยผ่านประสบการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้ เช่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ดังนั้นผมจึงมองไปที่พวกเขา ใช่ การเมืองของความเป็นไปได้นั้นเป็นไปได้ที่คุณจะหลุดออกจากวงจรนี้” โดยในช่วงภาพที่ถูกตัดนั้น มีช่วงที่เฮดกำลังรายงานข่าวถึงการเมืองไทย และบทสัมภาษณ์กับทางพิธา ต่อผู้สื่อข่าวในสถานีโทรทัศน์ของ BBC สหราชอาณาจักรด้วย


บทสัมภาษณ์เต็มมีเนื้อหาอย่างไร

ในช่วงหนึ่งของการสัมภาษณ์ เฮดถามพิธาถึงการพูดคุยในประเด็นสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยว่ายังคงมีความละเอียดอ่อน ก่อนที่พิธาจะตอบกลับว่า สังคมไทยได้เปิดพื้นที่ในการพูดคุยถึงสถาบันกษัตริย์ และมีความอดทนอดกลั้นที่มากขึ้น สังเกตได้จากการที่ประเด็นสถาบันกษัตริย์สามารถถูกนำหยิบยกมาพูดคุยกันผ่านสื่อสารมวลชนได้ รวมถึงเป้าหมายการหยิบยกประเด็นสถาบันกษัตริย์เข้าไปพูดคุยในสภาอย่างมีวุฒิภาวะ

1.png

เฮดถามต่อถึงประเด็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าอาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้วุฒิสมาชิกไม่ลงคะแนนเสียงสนับสนุนให้พิธาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยคนต่อไป ทำไมจึงไม่มีการพักประเด็นสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อก้าวข้ามกระแสคัดค้านจากวุฒิสมาชิก โดยพิธาตอบว่า “เพราะเราได้ให้สัญญาณกับประชาชนไว้”

“เราชัดเจนมาตั้งแต่ก่อนหาเสียง เรายื่นเสนอแก้ไขกฎหมายเมื่อ 2-3 ปีก่อน ก่อนจะเลือกตั้งเสียอีก…แม้ว่าจะเป็นเพียง 1 ใน 300 นโยบายที่เราเสนอไป ทุกนโยบายมีความท้าทายมากมาย ไม่ใช่แค่มาตรา 112” 

พิธาระบุว่า แน่นอนว่ามีวุฒิสมาชิกที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ของพรรคก้าวไกล “แต่ความรู้สึกของยุคสมัยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว” แม้วุฒิสมาชิกบางคนจะไม่เห็นด้วย และอาจนำนโยบายนี้มาเป็นข้ออ้างในการขัดขวางการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่พิธาระบุว่าการมองภาพว่าวุฒิสมาชิกทั้งหมดจะไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ อาจเป็นภาพที่เหมารวมไป 

พร้อมกันนี้ เฮดตั้งคำถามในการมองถึงประเทศไทยในอนาคตว่าเป็นอย่างไร “เป็นประเทศที่กระจายอำนาจ” พิธาตอบถึงภาพที่เขาหวังถึงประเทศไทยในอนาคต “ในที่สุด กรุงเทพฯ จะไม่ใช่ประเทศไทย ประเทศไทยไม่ได้มีแต่กรุงเทพฯ เป็นประเทศที่มีความเท่าเทียมในด้านบริการสาธารณสุข และการศึกษา ด้านงบประมาณ ด้านการจัดเก็บภาษี”

“ผมอยากให้โครงสร้างเศรษฐกิจของเราจากหัวใหญ่ที่อยู่เหนือสุด จนถึงจุดที่อ่อนแอบริเวณแขนและขา และกล้ามเนื้อให้สมดุลกัน” พิธาระบุพร้อมย้ำว่า ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องการยึดถือมาตรฐานสากล เป็นสมาชิกที่ดีในประชาคมโลก หรือมีความเท่าเทียมกันในประเทศ และทัดเทียมในระดับโลก


ท่าที ‘พิธา’ หลังบทสัมภาษณ์ตัวเอง “จอว่าง”

ในวันเดียวกับที่เกิดเหตุ ‘จอว่าง’ เวลาประมาณ 15.30 น. ณ การแถลงข่าวผลประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาลหน้าที่ทำการพรรคประชาชาติ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามพิธาถึงท่าทีต่อกรณีดังกล่าว โดยยกตัวอย่างว่าเคยมีเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นมาแล้วต่อรายการข่าวของสื่อต่างชาติอื่นๆ

download.png

“อิสรภาพในการนำเสนอของสื่อมวลชนเป็น 1 ใน 4 ของเสาหลักประชาธิปไตย” พิธาตอบกลับผู้สื่อข่าวในการแถลง พร้อมระบุอีกว่า เขาได้พูดคุยกับทาง BBC แล้วเข้าใจว่าบทสัมภาษณ์ดังกล่าวจะไม่ได้ออกอากาศผ่านทางทรูวิชั่นส์ ทั้งนี้ ยังคงไม่มีการแถลงยืนยันอย่างเป็นทางการจากฝ่ายใด

“การนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา อย่างโปร่งใส เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากในระบอบประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากในเรื่องของการมีความคิดสร้างสรรค์ หรือการมีนวัตกรรมอะไรต่างๆ ถ้าหากมีการเซ็นเซอร์ มีการปิดปาก ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลพอสมควร” พิธากล่าว