ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายลดอุบัติเหตุ เสนอนายกฯ และประธานศาลฎีกาแก้กฎหมายเมาแล้วขับชนคนตาย เป็นจำคุก 12-15 ปี แม้ผู้ก่อเหตุรับสารภาพ และไม่มีการรอลงอาญา

มูลนิธิเมาไม่ขับ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภาคีเครือข่ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุภาครัฐ ภาคเอกชน จัดกิจกรรมวันโลกรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา และประธานเครือข่ายนิติบัญญัติเพื่อถนนปลอดภัยในภูมิภาคอาเซียน นายฟิลลิป คริเดลก้า เอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย, นพ.ลีวิว เวดราสโก ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย พร้อมด้วยเหยื่อเมาแล้วขับผู้สูญเสีย ร่วมงาน

นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดเผยว่า องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาอุบัติเหตุจราจร ซึ่งคร่าชีวิตประชากรทั่วโลกมากถึงปีละ 1.3 ล้านคน บาดเจ็บและพิการอีกประมาณปีละ 50 ล้านคน ผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นประชากรวัยหนุ่มสาว ซึ่งมีอายุระหว่าง 15-29 ปี และได้กำหนดให้วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันโลกรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน (WORLD DAY OF REMEMBRANCE FOR ROAD CRASH VICTIMS ) โดยในปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งองค์การสหประชาชาติได้เชิญชวนให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกจัดกิจกรรมเพื่อสร้างการรับรู้ให้สังคมได้ตระหนักถึงผลกระทบอันเกิดจากอุบัติเหตุทางถนนเพื่อให้เกิดมาตรการในการป้องกันและควบคุมปัญหา ตลอดจนมาตรการในการดูแลช่วยเหลือเหยื่อหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบให้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีคุณภาพ

ทั้งนี้ จากสถิติพบว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยประมาณปีละ 22,000 คน มีผู้บาดเจ็บเฉลี่ยกว่า 1 ล้านคน ติดอันดับประเทศที่มีความเสี่ยงสูงเป็นอันดับ 1ในทวีปเอเชียและอันดับ 9 ของโลก

สำหรับกิจกรรมเนื่องในวันโลกรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนในปีนี้มูลนิธิเมาไม่ขับได้จัดให้มีกิจกรรมยืนไว้อาลัยและวางดอกกุหลาบต่อหน้ารูปเหยื่อผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน เพื่อเตือนใจประชาชนให้ตระหนักถึงพฤติกรรมเสี่ยงในการใช้รถใช้ถนน และเป็นการร่วมกันรำลึกถึงเหยื่ออุบัติเหตุทางถนนที่จากไป 

มูลนิธิเมาไม่ขับ ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฏีกา เพื่อขอเสนอให้พิจารณาแก้ไขบทลงโทษผู้ที่เมาแล้วขับชนคนตาย จากจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี เป็นจำคุกตั้งแต่ 12-15 ปี แม้ผู้ก่อเหตุรับสารภาพ และศาลลดโทษให้กึ่งหนึ่งก็ยังต้องถูกจำคุกอย่างน้อย 5 ปี ซึ่งตามกฎหมายไม่สามารถรอลงอาญาได้ อันจะส่งผลให้ผู้ขับเมาแล้วขับเกิดความเกรงกลัวมากกว่าปัจจุบัน เนื่องจากมีบทลงโทษที่รุนแรง ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีฐานะเช่นไร จะยากดีมีจน หรือร่ำรวยปานใด ก็จะได้รับโทษที่รุนแรง คือโทษจำคุกเสมอหน้ากัน 

นอกจากนั้นแล้วในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2563 กำลงจะเวียนมาถึง ได้เสนอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการกับสถานประกอบการ ร้านค้าที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ดื่มกินแล้วไปเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต ที่ผ่านมาสถานประกอบการ ร้านค้า เหล่านี้จะไม่ได้รับบทลงโทษใด ๆ ทั้ง ๆที่กฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ปีใหม่ พ.ศ.2563 นี้ มูลนิธิเมาไม่ขับ จึงขอเสนอให้กรณีที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เสียชีวิตต้องมีการสอบสวนดำเนินคดีกับสถานประกอบการ และร้านค้าด้วย