ไม่พบผลการค้นหา
กรณี 'ธรรมนัส' รมช.เกษตรฯ พัวพันข้อหาลักลอบขนยาเสพติดจนถูกเนรเทศออกจากออสเตรเลีย ยังคงเป็นปัญหาเรื่องคุณสมบัติ 'อานนท์ มาเม้า' อาจารย์นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ พบเอกสารความเห็นกฤษฎีกา ระบุชัดว่า หากเคยต้องโทษจำคุกในต่างประเทศ ก็ไม่สามารถสมัครเป็น ส.ส.ได้ ตาม รัฐธรรมนูญ 2521

กรณีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกสื่อประเทศออสเตรเลียออกมาเปิดโปงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสื่อออสเตรเลีย 'ซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์' พบเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีของศาลแขวง 'รัฐนิวเซาท์เวลส์' เมื่อ 26 ปีก่อน ระบุว่า ร.อ. ธรรมนัส เคยต้องโทษจำคุกและถูกเนรเทศออกจากประเทศออสเตรเลีย จากกรณีลักลอบขนยาเสพติด โดยบทความนั้นมีชื่อว่า "From sinister to minister: politician's drug trafficking jail time revealed"

เมื่อ 11 ก.ค. 2562 ร.อ.ธรรมนัส แถลงต่อสื่อมวลชน ปฏิเสธว่า ตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่ถูกจับกุมเพราะเข้าใจผิด จากการที่ตนเข้าไปอยู่ผิดที่ ผิดเวลา ทำให้ทางการออสเตรเลีย สั่งควบคุมตัวเป็นเวลา 8 เดือน แต่ในที่สุดศาลก็ตัดสินให้มีความผิดลหุโทษฐานไม่แจ้งเบาะแสการค้ายาเสพติดกับเจ้าหน้าที่

ส่วนนักกฎหมายฝั่งรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า กรณีคุณสมบัติ และ พ.ร.บ.ล้างมลทิน กรณีของ ร.อ.ธรรมนัส เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องเป็นผู้วินิจฉัย เพราะเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติ ส.ส.โดยตรงตาม มาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญ 2560 รวมถึงเรื่อง พ.ร.บ.ล้างมลทิน ว่าสามารถล้างความผิดทุกอย่างที่เกิดขึ้นในอดีตได้หรือไม่

อย่างไรก็ดี 18 ก.ย. 2562 รศ.อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Arnon Mamout ระบุว่า "พบความเห็นกฤษฎีกา เมื่อปี 2525 ชี้ว่า ลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เรื่องการเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก รวมถึงคำพิพากษาศาลต่างประเทศด้วย รัฐบาลในฐานะเคารพนับถือกฤษฎีกา จะว่าไงดีครับ?(ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 276/2525)"

โดยเอกสารดังกล่าวที่ รศ.อานนท์ อ้างถึงนั้น เป็นความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ปี 2525 เรื่องเสร็จแล้วที่ 276/2525 บันทึก เรื่อง หารือบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ปัญหาการตีความมาตรา 96 (5) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2521)

เอกสารดังกล่าวระบุว่า "กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือ ที่ มท 0314/5574 ลงวันที่ 20 เม.ย. 2525 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาและให้ความเห็นถึงกรณี ที่ มาตรา 96 (5) กำหนดว่า ผู้มีลักษณะเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป โดยพ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปี ในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ซึ่งเป็นการขอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า "บุคคลต้องห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง" หมายถึง กรณีบุคคลที่เคยถูกพิพากษาจำคุกในต่างประเทศด้วยหรือไม่

คณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมีนายอมร จันทรสมบูรณ์ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ขณะนั้น มีความเห็นว่า "ดังนั้น ในการรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าบุคคลใดที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกไม่ว่าในประเทศหรือในต่างประเทศตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีในวันเลือกตั้ง ซึ่งมิใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทแล้ว ก็ย่อมถือได้ว่าบุคคลนั้นเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 96 (5) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย"


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: