ไม่พบผลการค้นหา
ผลการประชุมคณะผู้บริหาร กทม.รับทราบผลการสำรวจความคิดเห็น ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับมาตรการจับ–ปรับ ผู้ขับขี่และจอดรถบนทางเท้า พร้อมนำเสนอแผนพัฒนาเมืองของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC)

วานนี้ (11 พ.ย. 2562) นางจินดารัตน์ ชโยธิน ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง นายธรรมรัต หวั่งหลี และน.ส.อรพินทร์ เพชรทัต คณะโฆษกของกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวผลการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.)ครั้งที่ 21/2562 ซึ่ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.เป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมได้รับทราบและพิจารณาในประเด็นเกี่ยวกับผลการสำรวจความคิดเห็นมาตรการดำเนินการกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างที่จอดหรือขับขี่บนทางเท้า แผนการปรับปรุงและพัฒนาเมือง และแผนการพัฒนาสวนลุมพินี ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับมาตรการจับ–ปรับ ผู้ขับขี่และจอดรถบนทางเท้า 

ทั้งนี้ ตามที่ กทม.ได้ทำการสอบถามความคิดเห็นประชาชนกรณีต่อการจัดระเบียบผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 5,000 ชุด และความคิดเห็นของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ (วินมอเตอร์ไซด์) ในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 5,000 ชุด 

สรุปความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามในประเด็นหลักต่างๆ เช่น

1.เห็นด้วยหรือไม่กับโครงการ "จุดกวดขันจับ – ปรับ จอดรถหรือขับขี่บนทางเท้า" ของ กทม. ซึ่งประชาชนทั่วไปเห็นด้วย ร้อยละ 92.84 ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างเห็นด้วย ร้อยละ 86.68 

2. มาตรการลงโทษผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างโดยการยึดเสื้อวิน 3 ปี ระหว่างที่ยึดจะไม่สามารถขับขี่รถได้ ประชาชนทั่วไปเห็นด้วย ร้อยละ 71.70 ส่วนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างเห็นด้วย ร้อยละ 42.08 

ทั้งยังสอบถามความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกันด้วย โดย กทม.จะนำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ และแจ้งไปยังกรมการขนส่งทางบก ซึ่งกรมการขนส่งทางบกจะเรียกประชุมและนำเข้าพิจารณาในคณะกรรมการฯ ต่อไป

นอกจากนี้ได้มีการนำเสนอแผนพัฒนาเมืองของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ซึ่งเบื้องต้นกำหนดไว้ 3 พื้นที่ ได้แก่ 1.การอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน ประกอบด้วย โครงการปรับปรุงทางเดินริมน้ำ ความยาว 650เมตรและศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยวทางน้ำ-จักรยาน 2.โครงการพัฒนาฟื้นฟูย่านสะพานปลากรุงเทพฯ แบบพหุภาคี โดยพัฒนาทางเดินริมแม่น้ำซึ่งจะไม่มีการก่อสร้างรุกล้ำไปในแม่น้ำ 

และ 3.โครงการปรับปรุงทางเดินและทางจักรยานคลองไผ่สิงโต (สะพานเขียว) ปัจจุบันเส้นทางจักรยานเชื่อมระหว่างสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติ (สะพานเขียว) ซึ่งเป็นเส้นทางเดิน-ทางจักรยาน ทางวิ่งออกกำลังกาย มีสภาพทรุดโทรม อุปกรณ์บางส่วนสูญหาย พื้นผิวทางมีสภาพชำรุดมีหลุม เป็นวงกว้าง ลูกกรงรั้วและราว สแตนเลสบางช่วงชำรุดเสียหาย ไฟส่องสว่างชำรุดแสงสว่างไม่เพียงพอ 

โดยที่ผ่านมามีประชาชนไปท่องเที่ยวและถ่ายภาพบริเวณดังกล่าวจำนวนมาก ซึ่งในการปรับปรุงพื้นที่บริเวณดังกล่าวนั้น จะปรับปรุงสะพานให้สวยงามขึ้นด้วยเพื่อที่จะพัฒนาส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่อีกหนึ่งแห่ง อย่างไรก็ตามในการดำเนินการทั้ง 3 พื้นที่นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องนำแผนการดำเนินงานมาศึกษารวมถึงหารือในรายละเอียดที่ชัดเจนให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด โดยตั้งเป้าจะเร่งผลักดัน การดำเนินการโครงการที่ 1 และ 3 ให้สามารถดำเนินการแล้วเสร็จได้ภายใน 1 ปี หลังจากได้ข้อสรุปในการดำเนินการ

ขณะเดียวกัน กทม.เตรียมดำเนินการปรับปรุงสาธารณูปโภคและอาคารสถานที่สวนลุมพินี ตามแผนงานกำหนดปรับปรุงพื้นที่ 9 ส่วน ประกอบด้วย 1.การปรับปรุงระบบระบายน้ำ เพื่อเชื่อมต่อระบบระบายน้ำให้เป็นระบบเดียวกัน และกำหนดความลาดเอียงของท่อระบายน้ำและระดับก้นบ่อพักในแต่ละโซนใหม่ทั้งหมดเพื่อให้บรรจบกับระบบระบายน้ำสาธารณะภายนอกสวนได้ 2.ปรับปรุงทางเท้า พื้นที่รวมประมาณ 9,025 ตารางเมตร โดยจะลดจำนวนรูปแบบและความกว้างทางเท้าให้เหลือ 3 รูปแบบ 

3.ปรับปรุงถนนทางเดิน-วิ่ง ให้มีความหนาแน่น มีมาตรฐาน 4.ปรับปรุงระบบไฟฟ้าและระบบสุขาภิบาล โดยเปลี่ยนสายไฟใต้ดินใหม่ และเปลี่ยนหลอดไฟเป็นหลอด LED เพื่อประหยัดพลังงาน 5.ปรับปรุงเขื่อนส่วนที่ชำรุด ให้มีความมั่นคงแข็งแรง 6.ปรับปรุงศาลาภิรมย์ภักดี 7.ปรับปรุงศาลาแปดเหลี่ยม 8.ปรับปรุงอาคารบันเทิง และ 9.ก่อสร้างป้อมยามเพิ่มเติม 1 หลัง ซึ่งคาดว่าใช้เวลาในการปรับปรุงรวมทั้งสิ้น 360 วัน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการ พ.ค. 2563 เป็นต้นไป