ไม่พบผลการค้นหา
รัฐสภาโปรตุเกสเตรียมการผ่านกฎหมายอนุญาตให้มีการการุณยฆาต ซึ่งจะส่งให้มีการมอบความช่วยเหลือในการปลิดชีพตนเองทางการแพทย์ หลังจากโปรตุเกสในปัจจุบันยังคงมีข้อจำกัดในการเลือกการจบชีวิตตนเองของประชาชน

กฎหมายการุณยฆาตจะอนุญาตให้แพทย์ ให้ความช่วยเหลือผู้ต้องการเข้ารับการปลิดชีพตัวเองในวัยผู้ใหญ่เท่านั้น ซึ่งคำร้องขอของผู้ต้องการปลิดชีพตัวเองจะต้องเป็นคำร้องขอที่เป็น “ปัจจุบันและกำชับ จริงจัง เสรี และมีการแจ้งให้ทราบ” ทั้งนี้ บุคคลดังกล่าวจะต้อง “อยู่ในสถานการณ์ที่มีความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส โดยได้รับบาดเจ็บระยะสุดท้าย หรือป่วยด้วยโรคร้ายแรงที่รักษาไม่หาย” ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวนี้มีความคล้ายคลึงกันในไม่กี่ประเทศทั่วโลก

ร่างกฎหมายฉบับสุดท้ายได้รับการอนุมัติในคณะกรรมการเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (7 ธ.ค.) หลังจากผ่านกระบวนการพิจารณาออกไปกว่าสัปดาห์เต็ม ซึ่งถูกมองว่าเป็นการดำเนินการที่ล่าช้า หลังจากนักการเมืองพรรคสังคมนิยมที่เสนอร่างกฎหมายดังกล่าว ได้ให้การแก้ไขเนื้อความกฎหมายแก่สมาชิกเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่พวกเขาจะถึงกำหนดการลงคะแนนเสียง โดยหลังจากนั้น พรรคฝ่ายค้านหลักของโปรตุเกสได้เรียกร้องให้มีการลงประชามติในนาทีสุดท้าย

จากคะแนนผลสำรวจถึงความเห็นด้วย ในการมีกฎหมายการุณยฆาตในโปรตุเกส มีความเห็นแบ่งออกกันไปเป็นครึ่งต่อครึ่ง โดยโปรตุเกสเป็นประเทศทีมีผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ เสียงจำนวนมากเรียกร้องให้ประเทศมีการอนุมัติกฎหมายการุณยฆาต ในขณะที่ศาสนจักรคาทอลิกออกมาต่อต้านกฎหมายฉบับดังกล่าวอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ดี พรรคสังคมประชาธิปไตย (PSD) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวากลางของโปรตุเกส ล้มกระบวนการในการพิจารณากฎหมายฉบับดังกล่าว และพยายามกีดกันในการเปิดการทำประชามติ ส่งผลให้มติการพิจารณากฎหมายฉบับดังกล่าวจะถูกนำมาอภิปรายในวันนี้ใหม่อีกครั้ง (9 ธ.ค.)

ร่างกฎหมายในการอนุญาตให้มีการให้ความช่วยเหลือในการปลิดชีพตัวเอง ได้รับการอนุมัติครั้งแรกเมื่อปี 2563 ก่อให้เกิดพาดหัวข่าวไปทั่วทั้งทวีปว่า โปรตุเกสอาจเป็นประเทศที่ 4 ของยุโรป ตามหลังเบลเยียม ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์ ที่มีการอนุญาตให้มีการทำการุณยฆาตได้ อย่างไรก็ดี มาร์เซโล เรเบโล เดอ ซูซา ประธานาธิบดีโปรตุเกสหัวอนุรักษนิยม ได้ส่งร่างกฎหมายการุณยฆาตดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากความกังวลบางประการของเขาเกี่ยวกับภาษาที่ไม่ชัดเจนในกฎหมาย

จากนั้นรัฐสภาชุดเดิมของโปรตุเกสได้ปรับแก้ร่างกฎหมายใหม่เพื่อให้ตรงกับข้อโต้แย้ แต่หลังจากที่ส่งกฎหมายไปยังประธานาธิบดีเมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว เรเบโล เดอ ซูซา ได้ขัดขวางกฎหมายการุณยฆาตอีกครั้งด้วย “การยับยั้งทางการเมือง” โดยประธานาธิบดีโปรตุเกสให้เหตุผลว่า ประโยคที่อธิบายเงื่อนไขป่วยระยะสุดท้ายนั้นขัดแย้งและจำเป็นจะต้องมีการชี้แจง

กระบวนการดังกล่าวยืดเยื้อออกไป เมื่อประธานาธิบดีโปรตุเกสยังยับยั้งร่างกฎหมายที่แก้ไขแล้ว จากนั้นเขาได้ประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนด ทำให้กระบวนการออกกฎหมายการุณยฆาตจะต้องเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ การเลือกตั้งล่าสุดทำให้ อันโตนิโอ คอสตา นายกรัฐมนตรีหัวสังคมนิยม ได้รับเสียงข้างมากเป็นครั้งแรก

รัฐบาลชุดใหม่ของโปรตุเกสให้การสนับสนุนอย่างแข็งขัน ต่อหลักการการมอบความช่วยเหลือทางการแพทย์ในการปลิดชีพตัวเอง โดยรัฐบาลชุดใหม่ของโปรตุเกสเร่งหยิบยกการพิจารณากฎหมายการุณยฆาต แม้ว่าจะมีการเพิ่มข้อกำหนดเข้ามาว่า ผู้ร้องขอการการุณยฆาตจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการอย่างน้อย 2 เดือนนับจากที่มีการร้องขอ และต้องมีการประเมินทางจิตวิทยาต่อผู้ร้องขอการการุณยฆาต


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-africa-63907807?fbclid=IwAR0aKAPnUr_O6tQgJWMCPJUK42ltDQbGccfJ8bxfVZFZEhb06TZHpaSTlww