ไม่พบผลการค้นหา
เดิมพันการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของขบวนการนิสิต นักศึกษา ยุค 2020 ไม่ต่างจากยุคหนึ่งบนหน้าประวัติศาสตร์การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยสมัยเดือนตุลาคม 2516

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ 'คนเดือนตุลา' เปรียบเทียบการกระแสธารประชาธิปไตยในหมู่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ในวงสนทนาการเมืองระหว่างนักข่าวกับกลุ่มแคร์ เมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค. ว่า ขบวนการนักศึกษาขณะนี้เหมือนยุคเขาที่การต่อต้านเผด็จการลงลึกไปถึงรั้วโรงเรียนมัธยมศึกษา ไม่ใช่แค่ตื่นตัวแค่ในระดับมหาวิทยาลัย

เช่นเดียวกับ 'ชัยธวัช ตุลาธน' เลขาธิการพรรคก้าวไกล นิยามกลุ่มนิสิต นักศึกษารุ่นนี้ว่าเป็น 'รุ่นพิเศษ' ที่โตมากับการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง มีความขัดแย้งนับทศวรรษ ต่างกับคนรุ่นอื่นๆ ที่การเมืองไม่ได้ขัดแย้ง รุนแรง ผ่านการรัฐประหารมามากเท่านี้

แม้ว่าการเคลื่อนไหวขบวนการนิสิต นักศึกษา ขณะนี้ถูกมองว่า "เลยธง" ในบางเรื่อง แต่แฟลชม็อบ 'ปรับปรุง' ไม่ทวนกระแส ดึงข้อเรียกร้องหลักกลับมาสู่ในจุดที่เหมาะสม

1.รัฐบาลต้อง 'หยุดคุกคามประชาชน' ที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตย

2.รัฐบาลต้อง 'ร่างรัฐธรรมนูญใหม่' ที่มาจากเจตจำนงของประชาชน เพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนอย่างแท้จริง

3.รัฐบาลต้อง 'ยุบสภา' เพื่อเป็นการเปิดทางให้ประชาชนสามารถแสดงเจตจำนงในการเลือกผู้แทนของตนได้อีกครั้ง

บนหลักของ 2 จุดยืน คือ 1.ต้องไม่มีการทำรัฐประหาร 2.ต้องไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม เมล็ดพันธุ์การเคลื่อนไหวของขบวนการนิสิต นักศึกษา ไม่ได้เริ่มต้นในยุค 'ฉันจึงมาหาความหมาย' ในปี 2511-2516 อันก่อให้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา

เกษตรศาสตร์ เผด็จการ แฟลชม็อบ _200724.jpg

แต่การชุมนุมของนิสิต นักศึกษาครั้งแรกต้องย้อนไปถึงปี 2483 เมื่อนิสิตนักศึกษาและประชาชน เดินขบวนการเรียกร้องดินแดนอินโดจีนที่ไทยสูญเสียให้ฝรั่งเศส เมื่อ 15 ต.ค. มีนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ร่วมกับประชาชนเดินขบวนในครั้งนี้ ซึ่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้น กับบรรดานักศึกษา ได้กระทำการปฏิญาณตนต่อพระแก้วมรกต ในการเรียกร้องดินแดนคืนอีกด้วย

แต่เหตุการณ์การเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยของเหล่านิสิตนักศึกษาครั้งแรก เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง 26 ก.พ. 2500 โดยพรรคเสรีมนังคศิลา เป็นผู้ชนะเลือกตั้ง แต่ถูกครหาว่าเป็น "การเลือกตั้งสกปรก"

ทั้งที่ จอมพล ป. ประกาศจะจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ให้บริสุทธิ์ ถวายเป็นพุทธบูชา เนื่องในโอกาสครบรอบวาระกึ่งพุทธกาลด้วย แต่การณ์กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม พบการถูกร้องเรียนว่ามีการทุจริตเลือกตั้ง อาทิ มีการกาบัตรเลือกตั้ง ลงคะแนนให้พรรคเสรีมนังคศิลาไว้ล่วงหน้าหลายพื้นที่

มีการฟ้องร้อง พระยารามราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทยว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยวางตัวไม่เป็นกลางในการเลือกตั้ง บอกในที่ประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ว่า "บ้านเมืองจะเจริญได้ท่านต้องเลือกพรรคเสรีมนังคศิลา"

เหตุการณ์จึงขมวดปมหลังเลือกตั้งที่พรรคเสรีมนังคศิลาชนะเลือกตั้ง การเดินขบวนของบรรดานิสิต นักศึกษา และประชาชน จึงเกิดขึ้น

จอมพล ป พิบูลสงคราม .png

2 มี.ค. 2500 นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชักธงชาติลงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยการเลือกตั้ง จากนั้นนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยการศึกษา และวิทยาลัยเทคนิค รวมทั้งประชาชนได้รวมตัวกันประท้วงการเลือกตั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขณะที่รัฐบาล ออกแถลงการณ์ในวันเดียวกัน โดยระบุว่า มีคณะบุคคลจากการสนับสนุนของชาวต่างชาติจะก่อกวนให้เกิดความไม่สงบเพื่อจะฉวยโอกาสยึดครองประเทศ จึงขอให้ประชาชนอยู่ในความสงบ ตามด้วยประกาศฉบับที่ 2 และ 3 มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่พระนคร ตั้ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก และ รมว.กลาโหม เป็นผู้รักษาความสงบเรียบร้อยตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและมีอํานาจบังคับบัญชาทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจได้ทั่วราชอาณาจักร  

การเดินขบวนของนักศึกษาในปี 2500 ไปไกลถึงการประชิดรั้วทำเนียบรัฐบาล โดยการ 'เปิดทาง' ของจอมพลสฤษดิ์ แม้ว่าในเวลาต่อมา รัฐบาลจอมพล ป.จะได้รับการ "อนุมัติ" จากสภาผู้แทนราษฎรให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐบาลได้ด้วยเสียง 144 ต่อ 4 เสียง แต่ด้วยวิกฤตศรัทธา ในรัฐบาลจอมพล ป. โดยเฉพาะพุ่งเป้าไปที่บริวารสายล่อฟ้า พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งมีความขัดแย้งกับขั้วจอมพลสฤษดิ์เป็นทุนเดิม

ท้ายที่สุดจบลงด้วยการที่ จอมพลสฤษดิ์ ได้กระทำการรัฐประหาร จอมพล ป.พิบูลสงคราม ลี้ภัยไปอยู่ญี่ปุ่น ส่วน พล.ต.อ.เผ่า ไปอยู่สวิตเซอร์แลนด์ และทั้งสองไม่ได้กลับประเทศไทยอีกเลย 

หลังการยึดอำนาจจอมพลสฤษดิ์ ต่อเนื่องถึงยุคจอมพลถนอม กิตติขจร กลุ่มนิสิต นักศึกษา ถูกจำกัดการเคลื่อนไหวออกจากการเมือง แต่ผลพลอยได้จากการพัฒนาประเทศในยุคเผด็จการตามก้นสหรัฐอเมริกาคือการกระจายการศึกษาไปตามหัวเมืองต่างจังหวัด ทั้ง เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา กำเนิดมหาวิทยาลัยตลาดวิชา อย่าง ม.รามคำแหง

ครั้น ยุคสฤษดิ์ - ยุคถนอม ปกครองบ้านเมืองมา 16 ปี ที่สุดก็ล่มสลายด้วยการเดินขบวนครั้งใหญ่ในเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516

ทว่าจุดเปลี่ยนขบวนการนักศึกษา ก่อนจะมาถึงเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 เมื่อจอมพลถนอม เปิดให้มีเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น มีการเลือกตั้งในปี 2511 ขบวนการนักศึกษาพ้นจากยุค "สายลมแสงแดด" มีการจัดตั้ง 'กลุ่มนิสิตนักศึกษาอาสาสมัครสังเกตการณ์เลือกตั้ง' ขึ้น

ต่อมาในปี 2513 นักศึกษาสายกิจกรรมสังคมการเมืองก็เดินหน้าจัดตั้ง 'ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย' (ศนท.) มีการออกค่ายอาสา ค่ายพัฒนา เกิดกลุ่มการเมืองในรั้วมหาวิทยาลัย เช่น กลุ่มสภาหน้าโดม ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มสภากาแฟ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ทว่าหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เข้าสู่ยุคประชาธิปไตยเต็มใบครั้งแรกนับตั้งแต่รัฐประหาร 2490 การเมืองฝ่ายซ้ายเบ่งบาน เกิดช่วง 'สำลักประชาธิปไตย' ทำให้ขบวนการนักศึกษาเสียแนวร่วมไปพอสมควร ประกอบกับความกลัวคอมมิวนิสต์ตามทฤษฎีโดมิโน จนเกิดเหตุนองเลือด 6 ตุลาคม 2519 ขบวนการนิสิตนักศึกษาแตกพ่าย เข้าป่าไปร่วมต่อสู้เชิงอุดมการณ์กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

รัฐธรรมนูญ   นักศึกษา ชุมนุม 14 ตุลาคม 2516  : หนังสือย้ำยุครุกสมัย เฉลิมฉลอง 40 ปี 14 ตุลา -18CF-4BE 45-0EAB-4DCC-8C95-23F83333B53D.jpeg
  • นักศึกษาเดินขบวนเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2516 (ภาพ - หนังสือย้ำยุค รุกสมัย เฉลิมฉลอง 40 ปี 14 ตุลา)

หลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ต.ค. 2519 ขบวนการนักศึกษาต้องเคลื่อนไหวใต้ดินหลบๆ ซ่อนๆ คู่ขนานกับกลุ่มที่หนีเข้าป่า ขบวนการการเมืองบนดินจึงมีให้เห็นไม่มาก อย่างไรก็ตาม เพื่อแนวคิดลัทธิคอมมิวนิสต์ถึงทางตัน นิสิต นักศึกษาที่หนีเข้าป่าเริ่ม 'เห็นต่าง'

ในเวลานั้นรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงใช้แผน 66/2523 ใช้ 'การเมืองนำการทหาร' เปิดทางให้นิสิต นักศึกษาออกจากป่ากลับสู่เมือง ร่วมพัฒนาประเทศ

6 ตุลา 41 ปีผ่านไป ประเทศไทยยังอยู่ที่เดิม FULL EP.
  • เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ล้อมปราบนักศึกษาใน ม.ธรรมศาสตร์
AFP-พฤษภาทมิฬ 2535-ทหารล้อมปราบประชาชน Black May in Thailand
  • เหตุการณ์ชุมนุมเมื่อเดือน พ.ค. 2535 ขับไล่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร

กว่า 19 ปี หลังจากเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 การเดินขบวนต่อต้านการสืบทอดอำนาจก็เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2535 หลังคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อเดือน ก.พ. 2534 เปิดช่องให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ จัดการเลือกตั้งใหม่ แต่เมื่อพรรคสามัคคีธรรม ซึ่งเป็นพรรคที่ใช้เป็นแผนสืบทอดอำนาจของ รสช. อันมีณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ถูกขึ้นแบล็กลิสต์จากสหรัฐฯ และชวดการเป็นนายกฯ คนที่มารับตำแหน่งแทนคือ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผบ.ทบ.ที่ประกาศซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าจะไม่เป็นนายกฯ แต่ต้องเสียสัตย์เพื่อชาติ

ท้ายที่สุดนำมาสู่การต่อสู้ ของประชาชน - นักการเมือง – ขบวนการนักศึกษา โดยมี สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่มี ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เป็นเลขาธิการ

แต่จุดสิ้นสุดของเหตุการณ์นี้ ส่งผลให้ พล.อ.สุจินดา ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ 47 วัน 

แล้วรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน?