ไม่พบผลการค้นหา
รองผู้ว่าฯ ภูเก็ต ประชุมหามาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในจังหวัด หวังดึงนักท่องเที่ยวกลับมา ควบคู่กับการป้องกันโรคระบาดไปด้วย ด้านประธานสภาอุตสาหกรรมภูเก็ต ชี้ต้องเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา หวังพึ่งแค่นักท่องเที่ยวคนไทยอย่างเดียวไม่ได้

พิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดภูเก็ต เดือดร้อนทางเศรษฐกิจอย่างมาก สถานประกอบการทั้งเล็กและใหญ่ขาดรายได้ ในขณะที่นักท่องเที่ยวคนไทย จากโครงการเราเที่ยวด้วยกันยังมีเข้ามาน้อย ทำให้ผู้ประกอบการและแรงงานกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ต้องหยุดอยู่บ้านไม่มีรายได้ทรัพย์สินกำลังจะถูกยึด จึงจำเป็นต้องเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่จะทำอย่างไรให้เข้ามาท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย 

ซึ่งที่ผ่านมาผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้ร่วมกันหารือในประเด็นนี้อย่างน้อยสองครั้ง มุ่งเน้นมาตรการรับมือและป้องกัน โดยในส่วนแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น จังหวัดวางกรอบขับเคลื่อนภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1.ป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดระรอกใหม่ 2.เมื่อเกิดระบาดต้องแก้ไขระงับเหตุได้ และ 3.ควบคุมสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับความกังวลที่ว่า เมื่อกักตัวครบ 14 วันแล้วตรวจไม่พบเชื้อ แต่ในความเป็นจริงอาจมีซากเชื้อหรือมาแสดงอาการในภายหลัง 

รองผู้ว่าฯ ภูเก็ต.jpg
  • พิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต

โดยในช่วงบ่ายวันนี้ (14 ก.ย.) จะมีการประชุมถึงแนวทางที่รัดกุม เช่น 1.เพิ่มระยะเวลากักตัว จาก 14 วัน เป็น 21 วัน ซึ่งขณะนี้เฉพาะโรงแรมที่สมัครเข้ามาเป็นพื้นที่กักตัว ภูเก็ตมีศักยภาพรองรับได้วันละประมาณ 1,000 ห้อง ดังนั้น การเข้ามาท่องเที่ยวจะเป็นไปในลักษณะทยอยเข้ามา หรือ 2.จำกัดพื้นที่ท่องเที่ยวหลังกักตัว 14 ให้ท่องเที่ยวได้ในวงจำกัดอีก 14 วัน รวมเป็น 28 วัน เพื่อจำกัดวงแคบ ให้แน่ใจว่าปลอดเชื้อจริงๆ 

ส่วน มาตรการ 5T ซึ่งเป็นมาตรการที่จะใช้ในการรองรับชาวต่างชาติ รองผู้ว่าฯ จ.ภูเก็ต ระบุว่า ทางจังหวัดเห็นด้วยกับภาคเอกชน แต่ยังไม่ทราบว่า ศบค. จะนำมาตรการนี้ เข้าหารือในที่ประชุม ครม. เมื่อไหร่ ทั้งนี้ 5T ประกอบด้วย

1.TARGETING การกำหนดกลุ่มที่เดินทางเข้ามาโดย ศบค. และเลือกสถานที่กักตัว โดยเราจะเลือกกลุ่มประเทศที่มีอัตราการฟื้นตัวที่ดีที่สุด 20 อันดับแรก และกลุ่มประเทศที่มีอัตราการระบาดของโรคโควิด-19 ต่ำที่สุด 20 อันดับแรก มาผสมผสานกันแล้วคัดประเทศที่เป็นเป้าหมาย

2.TESTING เมื่อกลุ่มเป้าหมายเดินทางมาถึงสนามบินภูเก็ต โดย PRIVATE JET หรือ CHARTER FLIGHT แล้ว ทุกคนต้องได้รับการตรวจแบบ PCR และรอผลตรวจ 2-5 ชั่วโมง ในห้องแยกที่การท่าอากาศยานภูเก็ตจัดไว้ให้ หลังจากได้รับผลตรวจแล้ว คนที่มีผลตรวจเป็นบวกจะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล สำหรับคนที่มีผลเป็นลบจะเดินทางไปยังสถานที่กักตัว โดยรถที่ผ่านการตรวจและรับรองโดย ศบค. ซึ่งรถดังกล่าวนี้ จะไม่ปะปนกับนักท่องเที่ยวชาวไทยหรือคนภูเก็ต

3.TRACING ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามา จะต้องโหลดแอปพลิเคชันตามตัวที่สามารถ ติดตามได้แบบ Real Time นั่นคือ แอปพลิเคชัน 'หมอชนะ'

4.TREATING การดูแลรักษา เรามีบุคลากร เครื่องมือ เวชภัณฑ์ยา ที่เพียงพอ ทั้งจากโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน อีกทั้งโรงพยาบาลสนามที่เตรียมสำรองไว้ ทั้งนี้ เราจะมีตัวชี้วัดจากเตียง ICU ทั้งจังหวัด ว่าเราจะรับคนติดเชื้อได้เท่าไร ในช่วงระยะเวลากี่วัน ที่จะทำให้เรารับมือสถานการณ์ได้ในกรณีที่มีการติดเชื้อ

5.TRUSTING สร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจ โดยมีการสื่อสารให้ทุกภาคส่วนรับรู้ รวมทั้งชาวต่างชาติทราบถึงความพร้อมของภูเก็ตในการเตรียมการรองรับเฝ้าระวัง กำกับดูแล และป้องกันโควิด-19 ให้กับทุกคนที่เดินทางเข้ามายังภูเก็ต อีกทั้งจะมีการจัดตั้งกองทุน เพื่อช่วยดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อีกด้วย โดยกองทุนที่ว่านี้จะมาจากภาครัฐส่วนหนึ่ง และเก็บจากชาวต่างชาติคนละ 1,000 บาท สะสมไว้ใช้เยียวยาคนในจังหวัดภูเก็ต หากมีสถานการณ์ระบาดเกิดขึ้น

ท่องเที่ยว ภูเก็ต.jpg
  • บรรยากาศพื้นที่ท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต

แนะให้ต่างชาติเข้ามาโดยเร็ว พึ่งรายได้คนในประเทศอย่างเดียวไม่ได้

ด้านสรายุทธ มัลลัม ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวในปี 2562 ที่ผ่านมา จังหวัดภูเก็ตรองรับนักท่องเที่ยวทั้งปี ประมาณ 14 ล้านคน แบ่งเป็นคนไทย 4 ล้านคน ที่เหลือเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ล้านคน ทว่าสัดส่วนนักท่องเที่ยวไทย แม้จะถือว่าเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด แต่จากการประเมินค่าใช้จ่าย พบว่าสร้างเม็ดเงินเพียง 17% ดังนั้น หากไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา รายได้จะไม่สามารถหล่อเลี้ยงจังหวัดภูเก็ตได้ จำเป็นต้องเอานักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาโดยเร็วที่สุด ต้องนำเม็ดเงินกลับเข้ามาเพื่อให้หล่อเลี้ยงทั้งจังหวัด ภายใต้เงื่อนไขคนภูเก็ตและนักท่องเที่ยวต้องปลอดภัย ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์เชื่อว่า มีความพร้อมรองรับได้ จากประสบการณ์ช่วงแพร่ระบาดหนัก ในเดือน มี.ค-พ.ค. ติด ที่ผ่านมา ซึ่งภูเก็ตมีผู้เชื้ออันดับ 2 ของประเทศ ทำให้รู้จักวิธีค้นหา บำบัด และส่งกลับสู่สาธารณะ โดนมีการตั้ง รพ.สนาม 2 แห่งรองรับ

ทุกวันนี้เลือดในตัวไหลไม่หยุด จากข้อมูลผู้ประกอบการโรงแรมเจ้าของคนภูเก็ตเอง โรงแรมขนาด 80 ห้อง ต้องมีเงินทุนไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท แต่หากเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ 100 ห้อง เงินทุนจะเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาท ในช่วงระบาดแรกๆ คาดว่าต้องหยุดกิจการ 3 เดือน แต่ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้สถานการณ์ยังย่ำแย่ ขณะนี้มีโรงแรมเพียง 31% ที่สามารถเปิดให้บริการ แต่อีก 69% ยังคงต้องปิดกิจการต่อไป แม้จะปิดไม่มีแขกเข้าพักแต่ยังต้อง แบกรับค่าใช้จ่าย ในการจ้างพนักงานอย่างน้อย 20-30 คน หมุนเวียนเข้ามาปฏิบัติงาน โดยเฉพาะ รปภ. แม่บ้าน และช่างซ่อมบำรุง อีกทั้งยังต้องจ่ายค่าไฟเพราะต้องสลับเปิดเครื่องปรับอากาศและตู้แช่อาหาร จึงอยากให้ภาครัฐช่วยเหลือขยายเวลาพักชำระหนี้ทั้งต้นและดอกออกไปจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ 

การท่องเที่ยว ภูเก็ต.jpg
  • บรรยากาศสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต

"มีการประเมินว่า หากไม่สามารถอุดรอยรั่วได้ ภายในสิ้นปีนี้จะมีคนภาคธุรกิจและบริการตกแรงงานอย่างน้อยอีกกว่า 7 หมื่นคน เพราะเป็นเวลากว่า 7 เดือน ที่ไม่มีรายได้เข้ามา และแม้เมื่อกลับมาท่องเที่ยวได้ แต่ประเมินว่าในปีหน้า จะมีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาแค่ประมาณ 5 ล้านเท่านั้น" ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าว

ทังนี้ การท่องเที่ยว ทำรายได้ให้ประเทศไทยกว่า 450,000 ล้านบาท ซึ่งจำแนกเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 400,000 ล้านบาท และนักท่องเที่ยวชาวไทยกว่า 50,000 ล้านบาท