ไม่พบผลการค้นหา
'ปริญญา เทวานฤมิตรกุล' ชี้อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง 'บอส อยู่วิทยา' เป็นเรื่องร้ายแรง ทำความยุติธรรมสั่นคลอน ตอกย้ำคุกมีไว้ขังแค่คนจน คนรวยวิ่งเต้นได้ เตือนระวังปชช.บอยคอต

วันที่ 25 ก.ค. ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความคิดเห็นในประเด็นปัญหากระบวนการยุติธรรม คดี 'บอส' หรือ นายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทเครือเครื่องดื่มชูกำลัง ผู้ต้องหาคดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิต โดยระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า 

"ทำไมการที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาคดีนี้จึงเป็นเรื่องร้ายแรง

กรณีนี้ไม่ใช่แค่ขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นเสียชีวิตเท่านั้น แต่เป็นเรื่องชนแล้วหนี แล้วคนที่ถูกชนก็คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ ทั้งยังมีการใช้ให้ผู้อื่นมารับผิดแทน

การที่คดีล่าช้าอยู่ในชั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจนานถึง 8 ปี ก็แสดงให้เห็นถึงความผิดปกติ และแสดงให้เห็นถึงปัญหา ความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยมากพออยู่แล้ว

ดังนั้น การที่สำนักงานอัยการสูงสุดสั่ง ไม่ฟ้องผู้ต้องหาคดีนี้ที่หลบหนีอยู่ต่างประเทศทุกข้อหา จึงเป็นเรื่องร้ายแรงมาก ในความรู้สึกของผู้คนโดยทั่วไป และเป็นการตอกย้ำสิ่งที่พูดกันว่า คุกมีไว้ขังแค่คนจน ส่วนคนรวยจะหลุดรอดเพราะมีเส้นสายและวิ่งเต้นได้ว่าเป็นเรื่องจริง

สำนักงานอัยการสูงสุด จึงต้องชี้แจงเหตุผล ว่า ทำไมจึงสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทุกคดีเช่นนี้ อย่าให้คนคิดไปว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยสามารถวิ่งเต้นและใช้เส้นสายได้ เพราะนี่คือกรณีที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศเป็นอย่างยิ่ง หาไม่แล้ว คนจะไม่ใช่แค่บอยคอตผลิตภัณฑ์ในเครือกระทิงแดง แต่อาจจะบอยคอตสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ด้วย

ส่วน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะแถลงแค่ว่าทำตามขั้นตอน และทำตามความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดไม่ได้ แต่ต้องชี้แจงให้เหตุผลว่า ทำไมไม่คัดค้านความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดที่สั่งไม่ฟ้อง ด้วยครับ" 

ศรีสุวรรณ ชี้ช่องเอาผิด 'บอส' ชนคนตายต่อ

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ถึงแม้ข้อกล่าวหาต่างๆ ของนายวรยุทธจะหมดอายุความไปเกือบหมดแล้วก็ตาม แต่ทว่าข้อหา "ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291" มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มีอายุความถึง 15 ปี โดยจะขาดอายุความในปี 2570 ซึ่งยังมีระยะเวลาอีกหลายปีที่ตำรวจจะต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อนำคนผิดมาลงโทษได้ แม้พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องในข้อหาดังกล่าวแล้ว แต่มิได้หมายความว่ามูลคดีจะจบลงไปโดยปริยายหาได้ไม่

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า การเพิกถอนหมายจับ เป็นอำนาจหน้าที่และดุลยพินิจของศาลที่อนุมัติการออกหมายจับดังกล่าว นั่นก็คือ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่ได้อนุมัติหมายจับทายาทผู้ก่อตั้งเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดังใน 2 ข้อหาคือ ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และข้อหาไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควร ทำให้นายวรยุทธมีสถานะเป็น "ผู้ต้องหาหนีหมายจับของศาล" ด้วย

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า คดีดังกล่าวถือได้ว่าเป็นคดีอาญาของแผ่นดิน เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน การที่อัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องในข้อหาสำคัญดังกล่าว และตำรวจก็มิได้คัดค้านแต่อย่างใด การกระทำดังกล่าวของอัยการและตำรวจเจ้าของคดี จึงอาจเข้าข่ายความผิดทางวินัยและความผิดอาญา ซึ่งสมาคมจะนำความไปร้อง ป.ป.ช.เพื่อให้ไต่สวนและสอบสวนเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในสัปดาห์หน้าต่อไป

สำหรับการอนุมัติการเพิกถอนหมายจับของศาลนั้น เป็นดุลยพินิจของศาลอาญากรุงเทพใต้ ดังนั้นเพื่อความยุติธรรมและเพื่อรักษาบรรทัดฐานทางกฎหมาย สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงใคร่ขอเรียกร้องไปยังศาลยุติธรรมดังกล่าว เพื่อขอให้ระงับการอนุมัติให้อัยการเพิกถอนหมายจับดังกล่าวไว้ จนกว่าคดีนี้จะหมดอายุความในอีก 7 ปีข้างหน้า เพื่อรอเวลาว่า ณ วันหนึ่งภายใต้อายุความ เมื่อนายวรยุทธเดินทางกลับมาภายในประเทศไทย ประชาชนที่พบเห็นสามารถแจ้งตำรวจให้สามารถดำเนินการจับกุมตัว เพื่อนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามครรลองของกฎหมาย ตามหลักนิติรัฐได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :