ไม่พบผลการค้นหา
ธปท.ย้ำกลไกช่วยเหลือเอสเอ็มอี ครอบคลุม 4 ด้าน 'ดูแลเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ 1.7 ล้านราย - รักษาความเข้มแข็งสถาบันการเงิน- รัฐเข้าค้ำประกันความเสียหาย- ปลุกธุรกิจปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงสมัยใหม่' แจงกองทุน BSF ไม่ได้อุ้มคนรวย แต่มุ่งคุ้มครองผู้ออมผู้ลงทุน ยึดหลักการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือเอมเอ็มอี (SMEs) นับเป็นกระดูกสันหลังของระบบเศรษฐกิจไทยและเป็นกลไกสำคัญมากต่อการจ้างงานและการฟื้นฟู รวมทั้งการรักษาความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจไทยต่อไปในอนาคต ดังนั้น ธปท.จึงเร่งออกมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

วิรไท สันติประภพ
  • วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ผู้ว่่าฯ คนปัจจุบันย้ำว่าโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลนของ ธปท.เป็นเพียงหนึ่งในหลายมาตรการที่รัฐบาลได้ออกมาดำเนินการช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยนอกจากมาตรการนี้ ก็ยังมีการเลื่อนกำหนดชำระหนี้เป็นการทั่วไป การเร่งให้ปรับโครงสร้างหนี้ และการให้สินเชื่อเพิ่มเติม

สำหรับหลักในการออกแบบมาตรการช่วยเหลือ SMEs ตาม พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 นั้น แบงก์ชาติคำนึงถึง 4 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย

  • หนึ่ง เร่งเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยลูกค้า SMEs ที่เข้าข่ายจะได้รับความช่วยเหลือมีประมาณ 1.7 ล้านราย
  • สอง รักษาความเข้มแข็งของระบบสถาบันการเงิน โดยต้องหาจุดสมดุลให้เหมาะสม เพราะเมื่อสถาบันการเงินต้องเลื่อนการชำระหนี้ให้กับ SMEs และลูกหนี้รายย่อยเป็นการทั่วไป ทำให้ไม่ได้รับสภาพคล่องเข้ามา และหากสถาบันการเงินอ่อนแอก็จะไม่สามารถทำหน้าที่สนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงต่อไปได้เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง
  • สาม มาตรการต่าง ๆ ด้านการเงินในช่วงความไม่แน่นอน ภาครัฐต้องเข้าร่วมค้ำประกันความเสียหายจากการช่วยเหลือ SMEs เหมือนกับที่บริษัทประกันอุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ดำเนินการในหลายโครงการ แต่มาตรการต่าง ๆ ต้องไม่สร้างภาระทางการคลังมากเกินไป
  • สี่ ต้องมีส่วนเอื้อให้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับวิถีการทำธุรกิจในโลกหลังโควิดที่โครงสร้างเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไปมาก ธุรกิจทั้งขนาดเล็ก กลาง และขนาดใหญ่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกใหม่ การมุ่งใส่เงินโดยธุรกิจยังไม่ได้ปรับตัวให้เหมาะสม จะยิ่งสร้างปัญหาในอนาคต เพราะหากปรับตัวไม่ได้ แต่ใส่เงินเข้าไปมาก จะทำให้มูลหนี้สูงขึ้น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้หรือแก้ปัญหาหนี้ก็จะยากยิ่งขึ้น
เศรษฐกิจ-ตลาดไท-ประชาชน-โควิด

นายวิรไทยังย้ำว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ไม่ควรเรียกว่าเป็น พ.ร.ก.กู้เงินของรัฐบาล เพราะนี่เป็นการใช้สภาพคล่องของ ธปท.เองปล่อยให้สถาบันการเงิน ดังนั้นเมื่อครบกำหนด 2 ปี สถาบันการเงินจะนำเงินส่วนนั้นกลับมาจ่ายคืนให้กับแบงก์ชาติ จึงไม่เป็นหนี้สาธารณะและไม่สร้างภาระให้คนรุ่นต่อไป

โดยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา (ข้อมูล ณ วันที่ 29 พ.ค.2563) สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลนไปแล้วยอดรวม 58,208 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 35,217 ราย เฉลี่ยรายละ 1.65 ล้านบาท ร้อยละ 51 ของลูกหนี้เป็นธุรกิจขนาดเล็กที่มีวงเงินเดิมไม่เกิน 5 ล้านบาท และร้อยละ 23 เป็นธุรกิจขนาดเล็กที่มีวงเงินเดิม 5-20 ล้านบาท เพราะฉะนั้นร้อยละ 74 ที่ได้รับอนุมัติไปทั้งหมดเป็นลูกหนี้ที่มีวงเงิน ซึ่ง ธปท.ยอมรับว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นไปล่าช้ากว่าความคาดหวังที่ตั้งไว้


BSF ไม่ได้อุ้มคนรวย... จริงๆ ช่วยประชาชน

สำหรับการตราพระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 หรือ การจัดตั้งกองทุน BSF นายวิรไทย้ำว่ามีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินเนื่องจากหากปล่อยให้บริษัทขนาดใหญ่ขาดสภาพคล่อง ผลกระทบจะลุกลามไปสู่ตลาดอื่นๆ ได้ ทั้งยังอาจไปซ้ำเติมสถานการณ์การว่างงานของประชาชนให้เพิ่มขึ้นไปอีก

ธนินทร์_ซีพี.jpg

  • ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ 

ความสำคัญของกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Stabilization Fund : BSF) ในการอธิบายของผู้ว่าฯ ธปท.แสดงให้เห็นจากขนาดของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน จาก 1.2 ล้านล้านบาท ในปี 2553 เป็น 3.8 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน หรือคิดเป็นเกือบร้อยละ 30 ของยอดสินเชื่อธนาคารพาณิชย์และเป็นส่วนสำคัญของระบบการเงินไทย

นอกจากนี้ ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนยังเป็นช่องทางการออมที่สำคัญของประชาชน จากมูลค่าการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน 3.8 ล้านล้านบาท มีประชาชนลงทุนอยู่ทั้งหมดถึงร้อยละ 83 ซึ่งเป็นการลงทุนโดยตรงร้อยละ 28 และลงทุนโดยอ้อมผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ประกันชีวิต และกองทุนรวมอื่น ๆ ทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 55 

ดังนั้น แท้จริงแล้วกองทุน BSF จึงเป็นการดูแลระบบการเงินโดยรวมให้มีเสถียรภาพ โดยให้ความสำคัญกับผู้ลงทุนหรือผู้ออมมากกว่าผู้ออกตราสาร เพราะหากผู้ลงทุน/ผู้ออมขาดความมั่นใจ ก็จะส่งผลให้ปัญหาลุกลามออกไปได้เป็น 'ไฟลามทุ่ง' อีกทั้ง การปล่อยให้บริษัทขนาดใหญ่ขาดสภาพคล่องจนไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ผลกระทบก็จะกลับมาตกอยู่กับพนักงานของบริษัทเหล่านี้ที่เสี่ยงต่อการตกงานอีกเช่นเดียวกัน

ธปท.ยังย้ำในช่วงท้ายว่า แบงก์ชาติไทยไม่ได้เป็นธนาคารกลางแห่งเดียวที่มีมาตรการดูแลตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด 19 มีธนาคารกลางชั้นนำหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น สวีเดน แคนาดา ที่ตลาดตราสารหนี้มีขนาดใหญ่และมีบทบาทสูงในการระดมทุนของภาคธุรกิจ ก็มีมาตรการในลักษณะเดียวกันเข้ามาดูแลเช่นกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น เนื่องจากหากปล่อยให้ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนมีปัญหาสภาพคล่อง ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินในภาพรวม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;