ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อไวรัสโคโรนาระบาดทำให้หลายโรงเรียนถูกสั่งปิดและต้องหันมาเรียนออนไลน์กันมากขึ้นส่งผลให้นักเรียนจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง

นับตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลกก็ทำให้โรงเรียนในหลายประเทศเปลี่ยนจากการเรียนในห้องเรียนมาเป็นการเรียนแบบออนไลน์ทั้งหมดเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อ แต่การเปลี่ยนรูปแบบการเรียนนี้ทำให้ครอบครัวที่มีคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เรียนได้ยากขึ้นรวมถึงทำงานที่ครูสั่งได้ไม่สะดวกนัก

การจะไปถึงมาตรฐานที่ดีในการเรียนออนไลน์ต้องใช้การเตรียมตัวล่วงหน้าอย่างมาก การเรียนออนไลน์หมายความว่านักเรียนจะต้องมีทักษะและความสามารถในการเข้าถึงออนไลน์ แต่ยังมีพื้นที่อีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ และต่อให้มีอินเทอร์เน็ตก็อาจไม่มีอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการเรียน เช่น คอมพิวเตอร์ที่จะทำให้ทำอะไรได้มากกว่าสมาร์ทโฟน หรือบางคนอาจมีพี่น้องหลายคนแต่มีอุปกรณ์ให้ใช้ร่วมกับเพียงเครื่องเดียว

จากการวิเคราะห์ข้อมูลในปี 2019 ของสำนักข่าว AP ระบุว่าทั่วประเทศสหรัฐฯ มีนักเรียนประมาณร้อยละ 17 ที่ไม่มีคอมพิวเตอร์อยู่ที่บ้าน มีนักเรียนร้อยละ 18 ที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ได้ ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำและครอบครัวผิวสีมีแนวโน้มที่จะขาดแคลนทรัพยากรเหล่านี้มากกว่ากลุ่มอื่น

แม้หลายพื้นที่ในสหรัฐฯ จะพยายามช่วยเหลือเด็กผู้มีรายได้น้อยด้วยการแจกคอมพิวเตอร์รวมถึงพยายามปรับสัญญาณ WiFi ของโรงเรียนให้แรงขึ้นเพื่อให้ครอบครัวรอบโรงเรียนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้รวมถึงส่งรถบัสกระจายสัญญาณ WiFi ไปยังย่านที่มีนักเรียนรายได้ต่ำ แต่ปัญหาก็ไม่ได้จบแค่นั้น

การเรียนที่บ้านในขณะที่คนทั้งครอบครัวอยู่ร่วมกัน นักเรียนจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำหลายคนพยายามจะทำการบ้านในพื้นที่เล็กๆ ที่ใช้ร่วมกับสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ บางครั้งเป็นห้องเพียงห้องเดียว ทำให้เด็กจดจ่ออยู่กับการเรียนได้น้อยลง เทียร่า แม่ชาวอเมริกันที่มีลูก 4 คนกล่าวว่า การจะทำให้เด็กเล็กเงียบได้ บางครั้งเธอจะต้องเปิดการ์ตูนให้ลูกดู แต่นั่นก็ทำให้เด็กที่โตหันมาดูด้วยแทนที่จะนั่งเรียนหรือทำการบ้าน

การเรียนที่บ้านไม่เพียงแต่จะทำให้พ่อแม่ต้องคอยหาอุปกรณ์ที่เหมาะสมสำหรับการเรียน แต่ยังต้องช่วยกระตุ้นให้เด็กๆ ทำงานที่ครูมอบหมายในช่วงที่ครูไม่ได้พบหน้าเด็กแบบตัวต่อตัว มาลากี โซโล นักเรียนเกรด 6 กล่าวว่าการเรียนออนไลน์ทำให้เขาไม่สามารถถามครูเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่เข้าใจและไม่ค่อยได้รับคำติชมจากครูมากเท่าตอนอยู่ในห้องเรียน

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องกำแพงภาษาอีกด้วยเพราะหลายครอบครัวไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก หมายความว่าพ่อแม่ของเด็กจะประสบปัญหาในการใช้ทรัพยากรออนไลน์ที่มีแต่ภาษาอังกฤษ ขณะเดียวกันความแตกต่างด้านฐานะทางเศรษฐกิจ ทำให้ความมั่นใจของพ่อแม่ที่จะไปขอความช่วยเหลือจากครูก็แตกต่างกันด้วย

แม้ทางการหลายเมืองตั้งศูนย์แจกอาหารเพื่อช่วยนักเรียน แต่หลายคนก็ยังไม่ได้รับทรัพยากรและรู้สึกไม่มั่นคงเท่ากับช่วงที่อยู่ในโรงเรียน ขณะเดียวกัน นักเรียนยากจนจำเป็นต้องรับมือกับความทุกข์ยากของการอยู่กับโรคระบาดโดยไม่มีการป้องกันมากนัก เนื่องจากต้องอยู่รวมกันหลายคน และพ่อแม่หลายคนอาจไม่สามารถทำงานจากบ้านได้หรือขอลาป่วยได้

ผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันหลายคนเกรงว่า วิกฤตโรคระบาดจะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสหรัฐฯ ที่มีอยู่แล้วยิ่งแย่ลงกว่าเดิมทำให้นักเรียนที่มีรายได้น้อยได้รับการศึกษายากขึ้นและจะยิ่งเสียเปรียบนักเรียนที่มีฐานะดีกว่า

เรซา โรดริเกซ ผู้ช่วยกรรมการบริหารด้านนโยบายและการเคลื่อนไหวของคณะกรรมการพลเมืองเพื่อเด็กในมลรัฐนิวยอร์กกล่าวว่า ความกังวลของเธอคือ กลุ่มนักเรียนที่ตามหลังกลุ่มอื่นอยู่แล้วจะยิ่งตกหล่นไปมากกว่าเดิม จากข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงระหว่างการศึกษากลับผลผลิตทางเศรษฐกิจในอนาคต เธอคิดว่า ภาวะนี้จะยิ่งทำให้พวกเขาล้มเหลวในระยะยาว หากไม่มีใครพยายามช่วยเหลือด้านการศึกษากับเด็กกลุ่มนี้

ด้านเจนนิเฟอร์ ดาร์ลิง-อาดัวนา อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมลรัฐจอร์เจีย ซึ่งศึกษาเรื่องความเท่าเทียมในการเรียน กล่าวว่า บางโรงเรียนจัดให้มีช่วงเวลาหนึ่งเป็นการเรียนผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้มองเห็นหน้าครูได้ แต่พ่อแม่ก็จำเป็นจะต้องมีความรู้เรื่องเทคโนโลยีมากพอ มีอุปกรณ์ในการรองรับการประชุมออนไลน์ที่เหมาะสม และจะยิ่งเป็นภาระกับพ่อแม่มากขึ้นเมื่อเป็นนักเรียนอายุน้อย ซึ่งอาจไม่สามารถนั่งวิดีโอคอลนิ่งๆ ได้นานพอ อีกด้านหนึ่ง โรงเรียนที่เลือกส่งชีทการเรียนให้นักเรียน ก็จะขาดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเรียน ซึ่งก็ทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนลดลงเช่นกัน ซึ่งทั้งการเรียนออนไลน์และการเรียนจากชีทไม่ได้สะท้อนมาตรฐานที่ดีในการเรียนรู้แบบดิจิทัล ซึ่งจะทำให้นักเรียนเข้าถึงทรัพยากรนอกชุมชนของพวกเขาได้

ดาร์ลิง-อาดัวนากล่าวว่า หลังจากวิกฤตโควิด-19 แล้วแทนที่จะมุ่งความสนใจไปที่เรื่องวิชาการของการเรียนทางไกลควรจะต้องนึกถึงเรื่องมนุษยธรรมด้วยว่าควรจะต้องปรับปรุงคุณภาพในส่วนไหนของระบบการศึกษา

ออเดรย์ อาซูเลย์ ผู้อำนายการยูเนสโกกล่าวว่า การเรียนออนไลน์ไม่อาจเป็นทางออกเดียวสำหรับการเรียนการสอน เพราะจะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีมากอยู่แล้วยิ่งห่างกันออกไปอีก ดังนั้นคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศด้านอนาคตการศึกษามีภารกิจที่จะต้องมาคิดถึงอนาคตการศึกษากันใหม่ รวมถึงต้องมีการเชื่อมการเรียนทางไกลและเรียนในห้องเรียนอย่างเหมาะสม


ที่มา : Vox, UNESCO