นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ที่กรุงฮานอยอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกในวันพุธและพฤหัสบดี ที่ 15–16 พฤษภาคม 2568 เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ไทย–เวียดนามสู่ระดับ “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน” (Comprehensive Strategic Partnership) ซึ่งเป็นระดับความสัมพันธ์สูงสุดที่เวียดนามมีต่อประเทศคู่เจรจา
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะร่วมการประชุม(JCR) ไทย–เวียดนาม ครั้งที่ 4 กับนายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ (H.E. Mr. Pham Minh Chinh) นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และ คณะเพื่อตอกย้ำบทบาทสำคัญของไทยในภูมิภาคและความไว้วางใจเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศ
ในการเยือนครั้งนี้ ไทย–เวียดนามจะลงนามเอกสารสำคัญ ประกอบด้วย
แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการยกระดับความสัมพันธ์ไทย–เวียดนามสู่หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของทั้งสองประเทศในการเพิ่มพูนความร่วมมือใน 3 เสาหลัก คือ
1) การเป็นหุ้นส่วนเพื่อสันติภาพที่ยั่งยืน
1.1 ด้านการเมือง การป้องกันประเทศ และความมั่นคง อาทิ อาชญากรรมข้ามชาติ และยาเสพติด
1.2 ความร่วมมือในระดับภูมิภาคและนานาชาติ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในเรื่องสันติภาพ ความมั่นคงระหว่างประเทศ รวมถึงการตอบสนองต่อความท้าทายของโลก
2) การเป็นหุ้นส่วนเพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน
2.1 ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ผ่านการส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจ เพิ่มพูนความร่วมมือด้านแรงงาน การจ้างงาน และสวัสดิการสังคม
2.2 การเชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานราก SMEs การเติบโตสีเขียว โดยส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การผลิตและห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน รวมถึงสนับสนุนการเข้าถึงตลาดของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นซึ่งกันและกัน และส่งเสริมความเชื่อมโยงเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล
3) การเป็นหุ้นส่วนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
3.1 ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่านการเชื่อมโยงสตาร์ทอัพ การทำธุรกรรมข้ามพรมแดน รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้ด้าน AI ดิจิทัล และความมั่นคงทางไซเบอร์
3.2 ส่งเสริมความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างประชาชน ผ่านการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การศึกษา การท่องเที่ยว และการเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างจังหวัดของทั้งสองประเทศ
นอกจากนี้ยังมี บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของไทย กับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า (ฉบับปรับปรุง) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า อำนวยความสะดวกทางการค้า การขจัดอุปสรรคที่มิใช่ภาษี การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอาหาร การค้าชายแดน และการลงทุนร่วมระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ
“ความตกลงฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ถึง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างยั่งยืนและสมดุล”
นายจิรายุกล่าวต่อไปว่าสำหรับบันทึกความเข้าใจฉบับปรับปรุงยังครอบคลุมความร่วมมือด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี การพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจสีเขียว พร้อมส่งเสริมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Committee on Trade: JTC) และจัดตั้งคณะทำงานร่วมในระดับเจ้าหน้าที่ เพื่อผลักดันโครงการความร่วมมือเชิงรูปธรรม และการแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อกังวลทางการค้าอย่างสม่ำเสมอ
“ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจและการเมืองโลก ขณะนี้ ไทยและเวียดนามมีเป้าหมายที่จะกระชับความสัมพันธ์ มุ่งสู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน เพื่อบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจและการค้า รวมไปถึงการผนึกกำลังอาเซียน เพื่อร่วมกันเผชิญหน้ากับการค้าโลกที่อาจจะชะลอตัวจากมาตรการภาษีนำเข้าระดับสูงของสหรัฐฯ ด้วย” นายจิรายุ กล่าว