ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลหวังไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค ดึงญี่ปุ่นเข้ามาสอนทักษะความรู้ แต่ดูเหมือนว่ามาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศยังไม่ชัดเจนมาก

อุตสาหกรรมรถยนต์แบบเดิมที่เป็นความหวังของไทยมาโดยตลอดกำลังเผชิญหน้ากับการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ชี้ว่า ณ เดือนกันยายนที่ผ่านมา ตัวเลขการผลิตรถยนต์ในไทยอยู่ที่ 169,474 คัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 183,191 คัน หรือคิดเป็นการหดตัวลงร้อยละ 7 อันเนื่องมาจากตลาดทั้งในและนอกประเทศเกิดการชะลอตัว

จากปัญหาการชะลอตัวของยานยนต์แบบเดิมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลมองทางออกไว้ที่การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์แบบเดิมไปเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต โดยเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัตินโยบายส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (xEV) ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 

  • (1) รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicle: HEV) 
  • (2) รถยนต์ไฟฟ้าผสมแบบเสียบปลั๊ก (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) 
  • (3) รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV)

เมื่อหันมามองที่การเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้า 'อดิทัต วะสีนนท์' รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า แม้จะยังเป็นสัดส่วนที่น้อยอยู่ แต่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมาก "จากที่เคยเติบโตในเลขหลักเดียว ขึ้นมาอยู่เป็น 2 - 3 หลัก" พร้อมคาดว่า ณ ปลายปีนี้ จำนวนการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าอาจขึ้นไปแตะเลข 30,000 คัน และคาดว่าตลาดนี้จะโตขึ้นอีกเท่าตัว ในปี 2563 โดยมีรถยนต์ HEV ครองตลาดส่วนใหญ่ราวร้อยละ 60 - 70 

๋่Jetro
  • 'อดิทัต วะสีนนท์' รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ด้าน 'อดิศักดิ์ โรหิตะศุน' ผู้ทำการแทนผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ยังเสริมว่า ในปี 2573 รัฐบาลตั้งเป้าให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์สมัยใหม่ของภูมิภาค โดยตั้งตัวเลขการผลิตไว้ที่ 2.5 ล้านคัน ซึ่งจะแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 1.5 ล้านคัน และมีสัดส่วนร้อยละ 60 เป็นรถยนต์ที่มีความสามารถขับเคลื่อนอัตโนมัติในระดับ 3 และอีกร้อยละ 15 เป็นรถยนต์ BEV

นอกจากนี้ รถยนต์ที่ใช้ในกิจการที่เป็นสาธารณะ เช่น รถโดยสาร รถสามล้อ หรือรถจักรยานยนต์จะเป็นรถยนต์ BEV ทั้งหมด  

๋่Jetro
  • 'อดิศักดิ์ โรหิตะศุน' ผู้ทำการแทนผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์

ดึง 'ญี่ปุ่น' เข้ามาสอน

สำหรับตลาดผู้ผลิตรถยนต์ในไทย ไม่มีประเทศใดจะมีความสำคัญมากกว่าญี่ปุ่นอีกแล้ว ปัจจุบันยอดการผลิตและจำหน่ายยานยนต์ในประเทศประมาณร้อยละ 90 มาจากผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่น 

อีกทั้ง บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นเองก็มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามาเป็นเวลานาน จึงมีความเหมาะสมที่จะนำบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเข้ามาสอนคนไทย

'อะสึชิ ทาเคทานิ' ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร กรุงเทพฯ ยกตัวอย่างว่า บริษัทโตโยต้าเริ่มพัฒนารถยนต์ไฮบริดมาตั้งแต่ปี 2552 และปัจจุบันก็หันมาพัฒนาแบตเตอรี่ที่จะใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบแล้ว ขณะที่ฮอนด้าเข้ามาพัฒนารถยนต์รุ่นท็อปอย่างแอคคอร์ดให้เป็นไฮบริด ทั้งยังมีบริษัทอื่นๆ ในญี่ปุ่นอีกมากที่เป็นผู้นำด้านการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า

๋่Jetro
  • 'อะสึชิ ทาเคทานิ' ประธานเจโทร กรุงเทพฯ

ขณะที่ 'ยูจิ ชิโอซาคิ' ผู้อำนวยการนโยบายการค้ายานยนต์ระหว่างประเทศ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (เมติ) ญี่ปุ่น กล่าวว่า แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะไม่ได้มีมาตรฐานการผลิตข้อใดที่ต่ำจนเป็นที่กังวล แต่การเตรียมความพร้อมรับมือการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในจำนวนมากในอนาคตก็เป็นสิ่งสำคัญ

๋่Jetro
  • 'ยูจิ ชิโอซาคิ' ผู้อำนวยการนโยบายการค้ายานยนต์ระหว่างประเทศ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (เมติ) ญี่ปุ่น

ที่ผ่านมา ญี่ปุ่น ให้ความสนใจไทยเป็นอย่างมากเพราะเป็นฐานการผลิตสำคัญมาโดยตลอด จึงมีการส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้ความรู้กับบุคลากรของไทยภายใต้โครงการ ความร่วมมือในทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่น ซึ่งกินระยะเวลา 10 ปี ในช่วง 2549 - 2559

สำหรับการยื่นมือเข้ามาช่วยในรอบปัจจุบันของญี่ปุ่นต่อวงการยานยนต์ไฟฟ้าไทย จะเข้ามาในรูปแบบของการให้ความรู้ด้านมาตรฐานยานยนต์แห่งอนาคต เพื่อพูดคุยเรื่องกฎระเบียบและมาตรฐานของ EV (ยานยนต์ไฟฟ้า)

นโยบายที่ไทยมีในปัจจุบัน

'อดิทัต' กล่าวว่า ปัจจุบันมาตรการต่างๆ ที่ออกมาสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าสามารถแบ่งออกง่ายๆ เป็น 6 ประการ แบ่งเป็น

  • การกระตุ้นอุปทานให้ผู้ผลิตรถยนต์เข้ามาลงทุนในประเทศ ซึ่งตัวเลขผู้ประกอบการล่าสุดที่ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีทั้งสิ้น 9 ราย ภายใต้วงเงิน 50,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินดังกล่าวเป็นแค่กรอบการลงทุนเท่านั้นยังไม่ใช่เม็ดเงินจริงที่ผู้ผลิตนำมาลงในเศรษฐกิจ และยังไม่สามารถตอบได้ว่าผู้ผลิตจะเข้ามาลงทุนเมื่อใด
  • การกระตุ้นอุปสงค์การซื้อของผู้บริโภค ที่มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีมาตรการการลดภาษีสรรพสามิตของรถไฟฟ้าลงเหลือร้อยละ 0 และจะเริ่มต้นในวันที่ 1 ม.ค. 2563 - 31 ธ.ค. 2568 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานประกอบการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า อาทิ สถานีชาร์จแบตเตอรี่ ซึ่งปัจจุบัน 'อดิทัต' กล่าวว่า มีสถานีชาร์จทั่วประเทศทั้งหมด 400 แห่ง พร้อมกับออกมากระตุ้นมาตรฐานการผลิตให้ได้คุณภาพ ทั้งยังสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่รวมถึงการพัฒนาบุคลากรเช่นเดียวกัน

เป็นที่แน่ชัดว่า รัฐบาลไทยกำลังเดินหน้าผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างแน่นอน แต่ก็ต้องดูต่อไปว่าการที่ญี่ปุ่นครองตลาดการผลิตในไทยถึงร้อยละ 90 แท้จริงแล้วจะเป็นผลดีกับการพัฒนาผู้ประกอบการไทยจริงหรือไม่ อีกทั้งยังต้องหันกลับมามองว่านโยบายที่รัฐบาลออกมาเพียงพอแล้วหรือไม่ที่จะผลักดันระบบนิเวศการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง