ไม่พบผลการค้นหา
ภาคอสังหาฯ ขอ ธปท.ยกเลิกมาตรการ LTV กับโครงการแนวราบ แนะรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้น เช่น ฟรีค่าธรรมเนียมโอน ฟาก รมว.คลัง เผย ยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาฯ โดยตรง เชื่อผู้ประกอบการยังดูแลตัวเองได้

ในงานสัมมนา Property Focus 2019 episode || : อสังหาฯ พลิกเกมรุก จับโอกาสทอง นายพรนริส ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า ภาครวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงปีแรก 2562 ยังคงชะลอตัว จากปัญหาเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงจากการบังคับใช้มาตรการ LTV ใหม่ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งผลให้ในบางเซคเมนต์ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมในกรุงเทพและปริมณฑล หดตัวถึงร้อยละ 30

ทั้งนี้ อยากให้ ธปท.ผ่อนปรนมาตรการ LTV เพิ่มเติม เช่น ยกเลิก LTV ในโครงการแนวราบ เพื่อลดผลกระทบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาค

“การผ่อนปรนมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย กรณีกู้ร่วมเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการเรียกร้องมาตั้งแต่ต้น ผู้ประกอบการยังรอ ธปท.ผ่อนปรนมาตรการเพิ่มเติม หรือ ยกเลิกมาตรการ LTV แต่ก็สัญญาไม่ได้ว่าการเก็งกำไรจะยังมีอยู่หรือไม่” นายพรนริส กล่าว

นายชนินทร์ วานิชวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮาบิแทท กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า  แนวทางกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องออกมาตรการจูงใจเพิ่มเติม เช่น ให้ฟรีค่าธรรมเนียมการโอน เนื่องจากประเมินว่าภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปี 2562 จะติดลบประมาณร้อยละ 2-3 

นอกจากนี้ ธปท.จำเป็นที่จะต้องดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าจนเกินไป เนื่องจากขณะนี้การเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ของคนจีนลดลงถึงร้อยละ 50 โดยสัดส่วนต่างชาติที่เข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยเทียบกับคนในประเทศอยู่ที่ร้อยละ 40 : 60 ซึ่งในจำนวนนี้ เฉพาะจีน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 80 ของต่างชาติที่เข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด โดยสาเหตุสำคัญเป็นผลมาจากเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ประกอบกับเงินหยวนอ่อนค่าลง และเศรษฐกิจจีนที่มีปัญหาสงครามการค้า

“แนะว่าภาครัฐอาจจะเข้ามากระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเสนอว่าอาจจะออกมาตรการลดภาษีค่าโอน และดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าจนเกินไปเพื่อลดผลกระทบ” นายชนินทร์ กล่าว

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า มาตราการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทยมีวัตถุประสงค์ที่ดีในการดูแลภาพกว้าง ในระยะสั้นที่ทราบอาจปรับตัวไม่ทัน แต่ในไตรมาส 2 มีการปรับตัวดีขึ้น ซึ่งรัฐบาลยังไม่ได้มีมาตรการที่จะเข้ามากระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์โดยตรง เพราะเชื่อว่าผู้ประกอบการดูแลตัวเองได้

“เรายังไม่มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคอสังหาริมทรัพย์โดยตรง เพราะเชื่อว่าดูแลตัวเองได้ แต่เรามีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อเนื่องไปยังภาคอสังหาริมทรัพย์” นายอุตตม กล่าว

ทั้งนี้ นายอุตตม ระบุว่า รัฐบาลมีชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ที่คณะรัฐมนตรีเพิ่งอนุมัติ เชื่อว่าจะส่งผลดีในการส่งเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ตั้งแต่ฐานราก ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และส่งผลต่อเนื่องไปยังภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยหวังว่าปี 2562 เศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสขยายตัวได้ถึงร้อยละ 3.5 แต่ยังต้องติดตามว่าในไตรมาส 3 จะออกมาอย่างไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :