ไม่พบผลการค้นหา
สภานักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มีมติเสียงข้างมากแสดงจุดยืนไม่เข้าข้างหรือสนับสนุนแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ด้านมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา แชตหลุดอธิการบดีเผยมีนโยบายไม่สนับสนุนการสร้างกระแสที่นำไปสู่ความขัดแย้ง

สภานักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ออกแถลงการณ์ เรื่องสิทธิการแสดงออกทางความคิดเห็นของนักศึกษาและประชาชน ว่าจากเหตุการณ์การรวมตัวกันของนักศึกษาและประชาชนทั่วไปในวันที่ 25 ก.พ. 2563 เวลา 17.00 - 18:00 น. ณ ลานอนันต์รังสรรค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองตามหลักประชาธิปไตย ซึ่งส่งผลให้สังคมเกิดความสนใจในการรวมตัวครั้งนี้

สภานักศึกษา เป็นองค์กรของนักศึกษาที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมุ่งเน้นพิทักษ์สิทธิและผลประโยชน์ ส่งเสริมกิจกรรมนักศึกษาแบบระบบภาคีหรือการมีส่วนร่วม ทั้งนี้ สภานักศึกษา เล็งเห็นว่า การมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็น การแสดงเชิงสัญลักษณ์ของนักศึกษาและประชาชนที่เป็นไปตามระบอบของประชาธิปไตยโดยไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น จากเหตุการณ์ดังกล่าว สภานักศึกษาขอเป็นกำลังใจให้นักศึกษาและประชาชนทุกท่านที่เป็นผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ทั้งนี้ ทางสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีจะรักษาจุดยืนโดยที่ไม่เข้าข้างหรือสนับสนุนแนวความคิดใดความคิดหนึ่ง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่มีความหลากหลายทางความคิดแต่ขอให้เล็งเห็นแก่ประโยชน์สุขของชาติบ้านเมือง เพื่อความเป็นประชาธิปไตยสืบไป

โดยแถลงการณ์ดังกล่าวมีมติรับรองแถลงการณ์ 29 เสียง ไม่รับรอง 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง จากองค์ประชุม 30 เสียง


ด้านมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มีแชตจากไลน์กลุ่มที่อ้างว่าเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัย แจ้งกับสมาชิกของมหาวิทยาลัยว่า นโยบายของมหาวิทยาลัยไม่สนับสนุนการสร้างกระแสนำไปสู่ความขัดแย้งทางด้านการเมือง จึงขอความร่วมมือทุกคนให้ยึดมั่นในพลังของการทำความดี ช่วยกันพัฒนาประเทศ และแก้ไขปัญหาสังคมอย่างสร้างสรรค์ ให้ช่วยกันชี้แนะนักศึกษาให้มุ่งมั่นทำหน้าที่ตามภารกิจ 5 ด้าน คือ เรียน, จัดโครงการ กิจกรรมให้นักศึกษามีส่วนร่วม, ทำนุบำรุง เคารพไม่ดูแคลนศิลปวัฒนธรรมและรากเหง้าบรรพบุรุษไทย, นักศึกษาอาจรวมตัวกันทำกิจกรรมจิตอาสา แต่ขอความร่วมมือไม่รวมกลุ่มฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยอ้างชื่อมหาวิทยาลัย, และให้สำนึกเสมอว่า เราคือมหาวิทยาลัยราชภัฏ ต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดินด้วยการทำหน้าที่ตามบทบาทของเราให้ดีที่สุด

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยามีกำหนดจัดกิจกรรมแฟลชม็อบในวันที่ 28 ก.พ. 2563 ภายใต้ #ราชภัฏอยากงัดกับสลิ่ม ณ บริเวณลานเจ้าพ่อ เพื่อแสดงออกถึงจุดยืนประชาธิปไตยของนักศึกษา และต่อต้านเผด็จการที่รับใช้อำนาจมืด

โดยแหล่งข่าวกล่าวกับวอยซ์ออนไลน์ ว่า จากสารที่เชื่อว่าเป็นของอธิการบดีนี้ ที่ระบุให้อาจารย์ชี้แนะการทำความดีในกลุ่มแชทสำรองนั้น เมื่อพิจารณาว่าการกระทำเช่นนั้นมีนัยยะแอบแฝงเป็นการสั่งห้ามในทางอ้อม แปลว่าเป็นการลิดรอนการแสดงจุดยืนของนักศึกษาตามระบอบประชาธิปไตยจอมปลอม 


รูปแชท.jpeg


iLaw ชี้ สั่งห้ามชุมนุม อาจไม่ชอบด้วย ก.ม. - เสรีภาพรับรองไว้โดย รธน.

ด้าน iLaw เปิดเผยข้อมูลว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษาไม่น้อยกว่า 20 สถาบันต่างจัดการชุมนุมในพื้นที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพัน แต่มีความกังวลจากบรรดาผู้ชุมนุมบางส่วนว่า ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่สิทธิเสรีภาพไม่คงเส้นคงวา แม้การชุมนุมในสถานศึกษาจะไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แต่จะถูกจำกัดได้ด้วยเหตุอื่นหรือไม่ อย่างไร

โดยข้อกังวลไม่ได้อยู่ที่กฎหมายของประเทศ แต่กลับไปตกอยู่ที่กฎระเบียบของโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่มีโทษระดับการจำคุกหรือปรับ แต่มีโทษที่อยู่ในอำนาจของมหาวิทยาลัย เช่น ตัดคะแนนความพฤติ หรือพักการเรียน

เพื่อตอบคำถามดังกล่าว จะใช้หลักเรื่องลำดับศักดิ์ของกฎหมายมาอธิบาย โดยหลักการดังกล่าวมีอยู่ว่า กฎหมายที่อยู่ลำดับต่ำกว่านั้น ต้องไม่ขัดต่อกฎหมายในลำดับขั้นที่สูงขึ้นไป โดยระบบกฎหมายของไทย เรียงลำดับศักดิ์ของกฎหมาย ดังนี้

- รัฐธรรมนูญ

- พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

- พระราชบัญญัติ / พระราชกำหนด

- พระราชกฤษฎีกา

- กฎกระทรวง

- ระเบียบกระทรวง / ระเบียบมหาวิทยาลัย

จากลำดับดังกล่าว จะเห็นว่า "ระเบียบของมหาวิทยาลัย" เป็นกฎหมายที่อยู่ในลำดับชั้นท้ายๆ ถ้าระเบียบจะเขียนห้ามการกระทำใดๆ จะทำได้ ก็ต่อเมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายที่ลำดับสูงกว่าอย่างรัฐธรรมนูญ หรือพระราชบัญญัติ

ดังนั้น การพิจารณาเรื่อง "เสรีภาพในการชุมนุม" ต้องเริ่มพิจารณาจากรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ซึ่งอยู่ในมาตรา 44 ที่ระบุว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยการจำกัดเสรีภาพการชุมนุมจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น

หรือหมายความว่า ประชาชนทุกคนย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมตามที่เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และการจะจำกัดเสรีภาพดังกล่าวต้องอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะ โดยจำกัดเสรีภาพได้เท่าที่จำเป็น และได้สัดส่วนกับเสรีภาพที่ถูกจำกัด

แต่เมื่อพิจารณาจากกฎหมายในลำดับชั้นถัดมาคือ ระดับพระราชบัญญัติ ก็พบว่า เรามี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 โดยหลักการสำคัญของกฎหมายดังกล่าว คือ การจัดการชุมนุมต้องแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า 24 ชั่วโมง เมื่อแจ้งแล้วต้องสามารถทำได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต หรือหมายความว่า การชุมนุมในสถานศึกษาจะอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญเป็นหลัก คือ การชุมนุมต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ

หากระเบียบมหาวิทยาลัยแห่งใด เขียนว่า การชุมนุมต้อง "ขออนุญาต" ย่อมขัดกับกฎหมายที่ลำดับศักดิ์สูงกว่า ทั้งพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และรัฐธรรมนูญ และเมื่อกฎหมายที่ลำดับศักดิ์ต่ำกว่า ขัดต่อกฎหมายที่ลำดับศักดิ์สูงกว่า ก็จะใช้บังคับไม่ได้

สรุปง่ายๆ คือ ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ การชุมนุมในสถานศึกษาจะถูกจำกัดไม่ได้ เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ไม่สงบและปราศจากอาวุธ หรือมีข้อจำกัดอื่นตามกฎหมายเพื่อความมั่นคงเท่านั้น การที่เจ้าหน้าที่หรือผู้บริหารในสถานศึกษาสั่งห้ามจัดกิจกรรมชุมนุม เป็นคำสั่งที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่ใช้บังคับรองรับ

อย่างไรก็ดี หากสถานศึกษาใดออกคำสั่งห้ามนักเรียนนักศึกษาจัดกิจกรรม หรือออกคำสั่งลงโทษนักเรียนนักศึกษาที่ฝ่าฝืน และผู้ได้รับคำสั่งไม่เห็นด้วย ข้อท้าทายที่ว่า คำสั่งใดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น องค์กรที่มีอำนาจชี้ขาด คือ ศาลปกครอง