ไม่พบผลการค้นหา
มูลนิธิเข้าถึงเอดส์คัดค้านกรมทรัพย์สินทางปัญญา ยอมให้บริษัทยายื่นแก้ไขคำขอรับสิทธิบัตรยาไวรัสตับอักเสบซีในสาระสำคัญ ภายหลังที่คำขอฯ ได้ประกาศต่อสาธารณะ ถือว่าเป็นการปฏิบัติที่มิชอบและไม่เป็นธรรม อาจส่งผลให้มีการผูกขาดโดยไม่ชอบธรรมและยามีราคาแพง

มูลนิธิเข้าถึงเอดส์และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เข้าพบเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อยื่นคำคัดค้านคำขอสิทธิบัตรเลขที่ 1401001362 สำหรับยาสูตรผสมรวมเม็ดโซฟอสบูเวียร์และเลดิพาสเวียร์ ที่ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี โดยเป็นการใช้สิทธิในการยื่นคำคัดค้านภายใน 90 วัน หลังจากวันประกาศโฆษณาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 ตาม พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์การให้สิทธิบัตร

ตัวแทนมูลนิธิฯ แจงเหตุผลในการคัดค้าน 3 ข้อ คือ 1. พ.ร.บ. สิทธิบัตรไม่อนุญาตให้จดสิทธิบัตรในเรื่องการบำบัดรักษา ในกรณีคือการใช้ยานี้เพื่อบำบัดรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี 2. การผสมยาสองชนิดรวมในเม็ดเดียวเป็นเทคโนโลยีธรรมดาๆ ที่เปิดเผยและทราบกันโดยทั่วไปในหมู่ผู้เชี่ยวชาญทางเภสัชกรรมอยู่แล้ว 3. ประสิทธิผลของการใช้ยาสองชนิดนี้ร่วมกันเป็นสิ่งที่ทราบกันดีอยู่แล้วในทางเภสัชกรรม ซึ่งในกฎหมายระบุว่าต้องก่อให้เกิด “ผลที่ไม่เป็นที่ประจักษ์โดยง่าย” จึงจะเข้าข่ายได้รับสิทธิบัตร แต่มูลนิธิฯ ทราบข่าวเมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมาว่า ตัวแทนของบริษัทกิลิเอดได้ยื่นแก้ไขเนื้อหาของคำขอรับสิทธิบัตรภายหลังที่ประกาศโฆษณาไปแล้ว

30776714_2075794356021177_2026160336_n.jpg

โดยนายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้ประสานงานรณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ฯ กล่าวว่า การที่กรมฯ ยอมให้แก้ไขเนื้อหาในคำขอฯ โดยเฉพาะสาระสำคัญ เป็นความไม่เป็นธรรมต่อสาธารณะและผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านมีระยะเวลาเพียง 90 วัน ที่ต้องศึกษาเอกสารจำนวนมากและเตรียมเอกสารหลักฐานเพื่อยื่นคัดค้านให้ทัน การยอมให้แก้ไขคำขอฯ หลังประกาศโฆษณาแล้ว โดยรู้กันเพียงระหว่างผู้ยื่นแก้ไขกับเจ้าหน้าที่ของกรมฯ ถือว่าเป็นไม่ชอบธรรมอย่างยิ่ง เพราะเอกสารคำคัดค้านทำขึ้นตามเนื้อหาที่ประกาศโฆษณาแต่แรกและอาจมีผลทำให้คำคัดค้านตกไป

“กรมฯ ควรหยุดอนุญาตให้มีการแก้ไขสาระสำคัญของคำขอฯ อย่าเอาเรื่องสุขภาพของประชาชนไปแลกกับค่าธรรมเนียมขอแก้ไขเพียงไม่กี่บาทและการทำยอดการให้สิทธิบัตร สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นปัญหาในการพิจารณาสิทธิบัตรของกรมฯ และทัศนคติของเจ้าหน้าที่ แสดงให้เห็นว่ากรมฯ ส่อเอื้อประโยชน์กับอุตสาหกรรมยาข้ามชาติ ไม่ได้มองเห็นผลของการผูกขาดที่ไม่เป็นธรรมและผลกระทบด้านสาธารณสุข ที่ผู้ป่วยจะไม่ได้รับการรักษาและระบบสุขภาพของประเทศต้องแบกรับภาระค่ายาที่แพง เพราะความบกพร่องของระบบสิทธิบัตรของประเทศ”

30776750_2075794352687844_1677156650_n.jpg

ทั้งนี้ ยารวมเม็ดโซฟอสบูเวียร์และเลดิพาสเวียร์มีราคาสูงถึง 94,000 เหรียญสหรัฐฯ (2.8 ล้านบาท) ต่อการรักษา 12 สัปดาห์ในสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ยาตัวเดียวกันที่วางจำหน่ายในอินเดียมีราคาเพียงไม่ถึง 100 เหรียญสหรัฐฯ (3,000 บาท) ยานี้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพของไทยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยที่มีราคาไม่เกิน 16,800 บาทต่อการรักษา 12 สัปดาห์ และอยู่ในระหว่างจัดซื้อนำเข้าจากอินเดีย 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีแรงกดดันจากทั่วโลกที่ต่อต้านการตั้งราคายาแพงลิบลิ่วและการขอสิทธิบัตรที่ไม่ชอบธรรม รวมถึงการประกาศใช้มาตรการซีแอลในมาเลเซีย ส่งผลให้บริษัทกิลิเอดยอมขยายสัญญาในมาเลเซีย ยูเครน ไทย และเบลารุส ให้สามารถนำเข้าหรือผลิตยาตัวเดียวกันที่เป็นยาชื่อสามัญได้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

Photo by rawpixel.com on Unsplash