ไม่พบผลการค้นหา
คุยสนุกๆ กับ แพร-กรณัฐ วรวงษ์เทพ เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมเล็กๆ ในโฮสเทลของตัวเอง ด้วยความอยากเห็นความแปลกใหม่ในบ้านเกิด ตลอดจนการเติบโตอย่างรวดเร็วของจังหวัดไข่ดาวแห่งอีสานตอนบน

ในวันที่สปอร์ตไลท์สาดส่อง ‘อุดรธานี’ ในฐานะเมืองรอง มีอัตราการเติบโตด้านการลงทุนจากทั้งใน และนอกจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเศรษฐีเวียงจันทน์ที่พากันข้ามพรมแดนมาช็อปปิ้ง ทำให้ภาพของจังหวัดไข่ดาวแห่งอีสานตอนบนมีอะไรมากกว่าเป็ดยักษ์ลอยน้ำ ไม่ว่าจะเป็นงานเสวนา จัดหนังกลางแปลง แสดงผลงานศิลปะ และเป็นจังหวัดที่มีเชฟเทเบิลปักหลักเปิดร้านอยู่ด้วย

Voice On Being จึงเกิดความสงสัย เหตุไฉนอุดรธานีจึงมีคนฮิปๆ กลับบ้านเกิดไปสร้างอะไรแปลกใหม่มากมาย และ ‘ใคร’ คือผู้อยู่เบื้องหลังกิจกรรมน่าสนใจต่างๆ เหล่านั้น 

การเดินทางไปสัมผัสจังหวัดที่เพิ่งเปิดตัวทางม้าลายสีสันสดใส เชิญชวนคนมาเดินข้ามสี่แยกใจกลางเมืองหน้าสถานีรถไฟในครั้งนี้ จึงมีความหมายอย่างมาก และยิ่งมีความหมายเพิ่มมากขึ้นเมื่อได้เจอกับ แพร-กรณัฐ วรวงษ์เทพ อดีตมาร์เก็ตติ้งที่เลือกกลับมาบ้านเกิดตั้งแต่ราว 10 ปีก่อน และเป็นคนแรกที่บุกเบิกทำโฮสเทลเต็มรูปแบบในตัวเมืองอุดรธานี ‘Oldie and Sleepy Hostel’

‘Oldie and Sleepy Hostel’ ไม่ใช่เพียงแค่แหล่งพักพิงสำหรับนักเดินทางเท่านั้น ทว่าแพรกับสามี โต้ง-พงศ์ศิริ รัตโฆษิต ยังใช้พื้นที่โฮสเทลให้เป็นประโยชน์ด้วยการจัดฉายหนังสารคดีจาก Documentary Club พร้อมจัดงานสวิงแดนซ์ชวนคนในเมืองมาร่วมกันเต้นรำกัน มากไปกว่านั้น พวกเขายังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอิสระที่จัดฉายหนังกลางแปลงในอุดรธานี รวมถึงตลาดโฟล์คมาร์เก็ตที่จะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมนี้

ด้วยความเชื่อมั่นว่า หากทำให้เมืองน่าอยู่ มีความสร้างสรรค์ ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้นไปด้วย

P1010261-2.jpg
  • แพร และ โต้ง เจ้าของ Oldie and Sleepy Hostel


อะไรทำให้ตัดสินใจกลับบ้าน

แพร : เคยอยู่กรุงเทพฯ ทำงานมา 5-6 ปี ทำงานเกี่ยวกับสื่อโฆษณา จริงๆ คำนวณแหละว่าอยากอยู่บ้านเรามากกว่า อยากกลับมาดูแลแม่ คิดว่าถึงเวลาแล้วแหละ เราต้องตัดสินใจ อยู่ตรงนั้นเราทำไร ตำแหน่งสูงขึ้น แต่สุดท้ายไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ เลยตัดสินใจย้ายมา แล้วเข้าไปทำงานออแกไนซ์กับเทศบาลก่อนออกมาทำของตัวเอง

อยู่ที่นี่ชิลค่ะ คุณภาพชีวิตดีมาก รู้สึกว่าพอมาอยู่อุดรธานีแล้วจะให้กลับกรุงเทพฯ คือ ไม่เอา ไม่แลกเลย ไม่คิดตื่นแต่เช้า อยู่อุดรฯ มีเวลาเจอกัน เพื่อนคิดถึงกันขับรถไปหาได้ อยู่กรุงเทพฯ คนเยอะแต่ทำไมมันเหงาจังเลย ไปหาเพื่อนทีกว่าจะไปเจอ กว่าจะไปถึง 


แล้วทำไมถึงเริ่มต้นทำโฮสเทล

แพร : ที่บ้านทำเกสเฮ้าส์มา 10 กว่าปีแล้ว เราเห็นช่องว่างอยู่แล้วว่ามันมีกลุ่มแบ็กแพ็กเกอร์ วัยรุ่น คนปั่นจักรยานที่มีงบประมาณจำกัดไม่สามารถพักห้องเดี่ยวได้ ที่นี่น่าจะเป็นที่แรกๆ ที่เป็นโฮสเทลที่เป็นคอมมูนิตี้จริงๆ มีพื้นที่ส่วนกลาง และชัดเจนว่าเป็นโฮสเทล ทำมาราว 3 ปีแล้ว


เห็นว่าที่โฮสเทลมีจัดกิจกรรมหลายๆ อย่างให้กับคนในจังหวัดด้วย

แพร : เรามีดาดฟ้า เลยอยากมีอะไรให้ลูกค้าทำ เริ่มจากแค่ลูกค้า ปัจจุบันมีฉายหนัง หนังที่เราเอามาฉายน้องที่รู้จักกันเขาก็ติดต่อกับ Documentary Club ให้ น้องเป็นกลุ่มที่ทำเรื่องหนังในอุดรฯ อยู่แล้ว น้องเขาก็มาเป็นลูกค้า คุยๆ ไปได้รู้จักกับ Doc Club เลยจัดเรื่องแรก ‘ตลาดปลาสึกิจิ’ ก็ทำมาเรื่อยๆ เป็นความร่วมมือ ฉายมาเกือบ 10 เรื่องแล้ว จัดมาตั้งแต่ปีแรก ตอนนี้ใครอยากมาดูก็มาดูด้วยกัน

ส่วน ‘สวิงแดนซ์’ ก็มีคนมาก็บอกว่า ดาดฟ้าเราเหมาะจัดสวิงแดนซ์ เราก็ได้ไปเห็นคลิปจัดสวิงแดนซ์หน้าพระปฐมเจดีย์ด้วย ก็คิดว่าเหมาะกับเรามาก เดี๋ยวเราวาดกำแพง มันใช่เลยอะ บังเอิญมีน้องมาพักที่นี่ เขาอยู่กลุ่ม ‘สงขลาสวิงแดนซ์’ คุยถูกคอ เราก็คุยกันว่าอยากจัดสวิงแดนซ์มากเลย เขาก็เชื่อมโยงให้กับน้องที่ขอนแก่น ที่เคยอยู่บางกอกสวิงแดนซ์แต่กลับบ้านมาทำ ‘ขอนแก่นสวิงแดนซ์’ ชื่อน้องโม ก็เลยเชิญมาที่นี่ มาชวนคนอุดรฯ เต้น

P1010272-2.jpg46837274_265090564362003_4681861184134053888_n.jpg

ลูกค้ากลุ่มไหนคือกลุ่มหลักของ Oldie & Sleepy Hostel

แพร : 80 เปอร์เซ็นต์คือต่างชาติ ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ ถ้าคนไทยก็สายลุยๆ หน่อย นักท่องเที่ยวเขาอยากมาอุดรฯ เพราะเป็นเมืองผ่านไปประเทศลาว คนลาวยังไม่เยอะนะคะ ถ้ามาก็จะเป็นนักศึกษาที่อยากมาท่องเที่ยวเสาร์-อาทิตย์มากกว่า คนลาวน้อย แต่มีลูกค้าประจำที่เป็นคนลาว ช่วงทะเลบัวแดงเราได้ทั้งคนไทยและต่างชาติเพิ่มด้วย อย่างนักท่องเที่ยวจีน เขาตั้งใจมาทะเลบัวแดงเลย

แต่ก็งงเหมือนกันเพราะปีแรกที่ทำโฮสเทล นักท่องเที่ยวเยอะกว่านี้นะ แต่ปี 2-3 รู้สึกมันดร็อปลง ด้วยอาจจะผลกระทบจากเศรษฐกิจมหภาคและการท่องเที่ยวหรือเปล่า

นอกจากนี้ก็จะมีเด็กนักเรียนจากจังหวัดล้อมรอบมาสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็จะได้ลูกค้าตรงนั้นด้วย

P1010260-2.jpg

อุดรธานีดูเริ่มจะได้รับความนิยมในกลุ่มชาวต่างชาติมากขึ้นในพักหลัง

แพร : เริ่มแรกต่างชาติกลุ่มแรกคือ กลุ่มที่เกษียณแล้ว มีความตั้งใจมาหาภรรยา นี่แหละค่ะกลุ่มแรก มันเลยนำพาพวก สนามบิน การเดินทางต่างๆ ที่เอื้ออำนวย อุดรฯ นี่มีสายการบินมาลงเยอะมาก พอมีสนามบินปั๊บ อุดรซึ่งเป็นไข่ดาวของจังหวัดเล็กๆ และใกล้กับเวียงจันทน์ ซึ่งมันเดินทางสะดวก เลยกลายเป็นฮับการเดินทางที่แบ็กแพ็กเกอร์จะมาหยุดพักก่อนจะเดินทางต่อไปที่อื่น อย่างกลับมาไทย เขาจะไปเหนือก็ได้ ไปใต้ก็ได้ ไปทางไหนก็ได้

บางทีเขาจองมาพักกับเราแค่หนึ่งวัน สต็อปเพื่อไปที่อื่น แต่ก็มีที่เขาอยู่ต่อ เพราะ เห้ย...เมืองคุณมันเดินแล้วมันสะอาดเว้ย คนยิ้มแย้ม ราคาอาหารก็ราคาเดียวกันทั้งต่างชาติหรือคนไทย เขาไม่รู้สึกโดนหลอก โดนเอาเปรียบ ด้วยความใสของเมืองอุดรฯ คือยังไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวเนอะ คนตามต่างอำเภอ หรือในเมืองเขายังไม่หัวหมอ อยากให้ความช่วยเหลือ นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของอุดรฯ ที่ทำให้นักท่องเที่ยวชอบ และหลงรัก


คนรุ่นใหม่กลับบ้านเกิดเยอะไหม

แพร: เยอะค่ะ ก็กลับมาทำธุรกิจเยอะ มาช่วยที่บ้านทำ กลับมาทำเองด้วย ถือว่าค่อนข้างเยอะเลย และมีบริษัทใหญ่ๆ โรงงาน ที่เจ้าของก็เป็นคนเจเนอเรชั่นวาย ที่มีวิสัยทัศน์ ที่ให้ฐานเงินเดือนดีกว่าทำราชการ ก็มีคนไปทำ แต่ว่าส่วนใหญ่คนกลับมาก็จะทำกิจการส่วนตัว


47024636_258150168191533_9194412262083788800_n.jpg

คิดว่าอะไรคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้อุดรฯเจริญในช่วงหลายปีให้หลัง

แพร : มันหลายองค์ประกอบ มันไม่ใช่อย่างเดียว โอเค... ‘ยูดีทาวน์’ (ศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในอีสานตอนเหนือ) มาปุ๊บ ฝรั่งที่มาหาภรรยามา สายการบินมา นักลงทุนมา เด็กๆ เริ่มกลับมาจากแต่ก่อนที่ต้องเข้าไปทำงานกรุงเทพฯ เรามองเห็นว่า เราทำอะไรได้นะ เราเป็นเมืองศูนย์กลางของสกลนคร หนองบัวลำภู หนองคาย คนจังหวัดล้อมรอบก็มาเที่ยวเรา

ยูดีทาวน์มันเป็นคอมมูนิตี้ที่ใหญ่สุดในอีสานตอนบน เซ็นทรัลพลาซ่าก็เลยมองเห็น ก็มาลงทุนด้วย ธุรกิจอื่นๆ ก็เลยมาลง นั่นแหละช่วงที่อุดรเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ราว 5 ปีก่อน


กำลังซื้อจากคนลาวถือว่าช่วยเมืองอุดรฯ เยอะไหม

แพร : คนรวย รวยมาก กระจุกตัวในเวียงจันทน์ เราได้คนเวียงจันทน์นี่แหละค่ะมาช็อปปิ้ง กินดื่ม ขับรถมาแต่ละคันที่อุดรฯ ก็รอดูได้เลย จ่ายเงินสดๆ ทั้งนั้น ถ้าคนมาอุดรฯ ได้ก็มีฐานะแล้วละค่ะ ถือว่าเขามาใช้จ่ายเมืองอุดรฯ เยอะมาก ค่านิยมเขาคือถือถุงเซ็นทรัลอุดรฯ ยังไงก็คือหรูมาก เหมือนคนไทยไปฮ่องกง แม้เขาจะสร้างห้างใหญ่ขนาดไหนในเวียงจันท์ แต่ยังไงก็ต้องมาที่นี่

ซึ่งเซ็นทรัลฯ โคตรเก่ง ตอนเซ็นทรัลมาเปิด เขาให้ 3 เหตุผลนะที่มาเปิด 1.ต่างชาติที่มามีภรรยาที่นี่ 2.สองคนอุดรฯ ไปทำงานเมืองนอกเยอะ มีเงินส่งมา และ 3.คนเวียงจันทน์ น้ำหอมหรือครีมที่ขอนแก่นบางอันไม่มีเลย แต่ลงของที่นี่เยอะ

ก่อนหน้านี้ยูดีทาวน์ไม่มีที่จอดเลย แต่เซ็นทรัลฯ เขามีเงินไง จัดอีเวนต์ รีโนเวตอะไรใหม่ๆ ได้ตลอด ซึ่งยูดีทาวน์มันเป็นของคนอุดรฯ พอไม่ได้รีโนเวต ไม่ได้ทาสีใหม่ คนรู้สึกห่อเหี่ยว จัดกิจกรรมใช้เงินมากไม่ได้


ทำไมคนลาวข้ามมาใช้จ่ายที่อุดรธานี ทั้งๆ ที่ชายแดนติดกับหนองคาย

แพร : หนองคาย แพรมองว่าประชากรไม่ได้เยอะมาก ติดแค่อุดรฯ บึงกาฬ เลย ถูกล็อก แต่อุดรฯ ถูกล้อม


ได้ยินคำว่า ‘เศรษฐีอุดรฯ’ ค่อนข้างบ่อย ดูเป็นเมืองที่ทำธุรกิจกันเก่งมาแต่ไหนแต่ไร

แพร : คนอุดรฯ จะมีความชาตินิยมในตัวเอง และจะมีคอนเน็กชั่นที่เชื่อมต่อกัน ถ้ามีใครสักคนทำอะไรสักอย่าง เขาจะช่วยสนับสนุนกัน มันเลยจะไปกันเป็นกลุ่มๆ แบบนี้ แพรว่าการทำธุรกิจในเมืองเล็กๆ คือต้องมีการเชื่อมโยงอะ ห้ามโดดเดี่ยว เหมือนเข้ามาแล้วโดดเดี่ยว ก็ต้องเจ๋งจริงอะ

คนอุดรฯ จะมีความ...บอกไม่ถูก ภูมิใจในความเป็นอุดรธานีน่ะ และพยายามอยากทำอะไรดีๆ ให้เมือง ทั้งวัยรุ่น จนถึงคนทุกอายุ อีกอย่างคือเทศบาลอุดรเขาทำงานร่วมกับนักธุรกิจ สำหรับบางคนเขาอาจจะมองว่ายังไม่ดีนะ แต่แพรโตที่นี่ก็มองว่าพัฒนามาเรื่อยๆ นะคะ

สมัยแพรกลับมาก็ยังไม่ค่อยมีใครกลับมาหรอก ตอนปี 2554 ย้ายมาปั๊ปเราก็กลับมาเหงาๆ แต่ก็มีกลุ่มวายอีซี (สมาคมลูกหลานนักธุรกิจอุดรธานี) รุ่น 1-2 ทำให้เรารู้จักเพื่อนใหม่

P1010273-2.jpg

กลุ่มนักธุรกิจอุดรฯ ต้องเล่าตั้งแต่ยุคพ่อ-แม่คือกลุ่มนักธุรกิจที่มาสร้างเมืองร่วมกัน เขาก็จะมีลูกใช่ไหมคะ ลูกอยากสร้างความสัมพันธ์กัน กลุ่มวายอีซีก็เกิดขึ้น รุ่น 1-2 คือลูกหลานคนอุดรที่แท้จริง ลูกหลานเจ้าของกิจการในอุดร แต่มาวายอีซี รุ่น 3-4 มันแอบแฝงอะ เราเลยไม่อินแล้ว

สำหรับแพร วายอีซีดร็อปลงไปเยอะ เด็กวัยรุ่นเหมือนหันหน้าหนีเลย วายอีซีหรอ ไม่มีประโยชน์เลย มันไม่ชัดเจนว่ารวมกลุ่มกันทำอะไร อย่างมีเป็นโปรเจ็กต์ แต่พอถึงเวลาจริงๆ ขึ้นมาอะ มันยังไม่มีอะไรที่มันเปลี่ยนแปลงชัด เห็นเป็นรูปธรรมได้ อย่างอุดรฯ มีซิตี้บัสก็เป็นของภาคเอกชนที่ทำเอง แต่มันไม่ได้เกิดจากการรวมตัวกันทำ


แต่เห็นว่ามีการจัดงานในจังหวัดจากกลุ่มคนอิสระกันเพิ่มมากขึ้นในจังหวัด

แพร : มีกลุ่ม ‘มาดีอีสาน’ ที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรมโดยเอาเครือข่ายจากกรุงเทพฯ เพื่อให้คนอุดรฯ ได้มีงานเสวนาแบ่งปันความคิด หรือกลุ่มที่แพรอยู่ ‘ยูดีไอดี’ จัดกิจกรรมด้วยคอนเซ็ปต์ว่า ถ้าอุดรฯ ดี (UD) เราก็ดีไปด้วย จัดฉายหนังกลางเมือง นี่จะเป็นกลุ่มกิจกรรมเล็กๆ ที่ทำร่วมกับแล้วค่อยๆ ขยาย อาจจะมีการเชื่อมนอกจังหวัดด้วย เราต้องเริ่มจากเล็กๆ นี่แหละ แต่เราก็มีเป้าหมายใหญ่นะ ไม่ใช่แค่ทำๆ ไป  


แพรอยากจะเห็นเมืองอุดรฯ เติบโตไปยังไงต่อไป

แพร : เราอยากให้มันมีสไตล์ คนเข้ามาแล้วรู้สึกมีเสน่ห์ คนชอบบ่นว่าอยากให้เมืองอุดรฯ เหมือนเชียงใหม่ มันไม่เหมือนกันหรอก มันเหมือนกันไม่ได้ แต่อุดรก็ยังขาดเอกลักษณ์ที่ชัดเจน แม้มันก็กำลังจะเกิดจากกลุ่มคนวัยรุ่นค่อยๆ สร้างกัน ซึ่งยังไม่รู้หรอกจะไปในทางไหน

On Being
198Article
0Video
0Blog