ไม่พบผลการค้นหา
หอการค้าฯ ชี้ หนี้ครัวเรือนสูงจากเศรษฐกิจประเทศตกต่ำ ปี 2562 หนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 มาอยู่ที่ครัวเรือนละ 340,053.65 บาท มากที่สุดตั้งแต่เก็บสถิติมา แนะรัฐกระตุ้นจ้างงานเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจ

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยเริ่มขยับเข้าใกล้ความน่ากังวลมากขึ้น โดยมีสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีสูงถึงร้อยละ 78 ตามข้อมูลจากรายงานนโยบายการเงินเดือนมีนาคม 2562 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ล่าสุด 'ธนวรรธน์ ผลวิชัย' รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย ปี 2562 ที่มีการขยายตัวขึ้นร้อยละ 7.4 มาอยู่ที่ 340,053.65 บาท/ครอบครัว จากเดิมอยู่ที่ 316,326.51 บาท/ครอบครัว ในปี 2561 หรือคิดเป็นภาระในการผ่อนชำระหนี้ประมาณ 16,124.06 บาท/เดือน ซึ่งเป็นเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่หอการค้าไทยเก็บข้อมูลมา

'อุมากมล สุนทรสุรัติ' ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เมื่อจำแนกตามประเภทหนี้สินพบว่า ร้อยละ 38.4 เป็นหนี้เพื่อการใช้จ่าย ตามมาด้วยหนี้ซื้อยานพาหนะ ที่สัดส่วนร้อยละ 32.9 และหนี้ซื้อบ้านในลำดับที่สาม ที่สัดส่วนร้อยละ 21.3 ขณะที่หนี้บัตรเครดิตมีสัดส่วนร้อยละ 19.9

แล้วเมื่อแยกประเภทหนี้ตามอาชีพพบว่า ประชาชนที่รับราชการหรือทำงานในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีหนี้สินจากการซื้อบ้านมากที่สุด ราวร้อยละ 33.3 ตามมาด้วยการซื้อรถ และหนี้บัตรเครดิต สำหรับลูกจ้างรายวัน หนี้อันดับแรกอยู่ที่การใช้จ่ายทั่วไปถึงร้อยละ 86.1 ส่วนพนักงานเอกชนมีหนี้รถมากที่สุดที่ร้อยละ 48.9 ด้านเกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจมีหนี้เพื่อการพัฒนากิจการเป็นอันดับแรก

'ธนวรรธน์' ชี้ว่า ผลจากการสำรวจสะท้อนอย่างชัดเจนว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจส่งผลต่อการเป็นหนี้ของประชาชนมากที่สุด โดยสาเหตุอันดับแรกที่ประชาชนสะท้อนออกมาคือ รายได้ที่ลดลง ในสัดส่วนร้อยละ 17.3 ตามมาด้วยค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ในสัดส่วนร้อยละ 15.3 อย่างไรก็ตาม สำหรับความกังวลเรื่องการใช้จ่ายอย่างไม่ระมัดระวังของประชาชน แม้ตัวเลขจะไม่ได้สูงมากนักที่ร้อยละ 13.4 จากการใช้บัตรเครดิตมากเกินไป และอีกร้อยละ 9.8 จากการผ่อนสินค้ามากเกินไป แต่ก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกับกลุ่มเจนวายที่มีแนวโน้มใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้น

'ธนวรรธน์' วิเคราะห์เพิ่มว่า อุปนิสัยและลักษณะการใช้เงินของเจนวายมีความแตกต่างจากเจนเอ็กซ์และเบบี้บูมเมอร์ค่อนข้างมาก เนื่องจากคนวัยนี้นิยมใช้เงินทันทีที่หามาได้ แตกต่างจากคนรุ่นก่อนที่เริ่มใช้เงินเมื่ออายุสูงขึ้น อีกทั้งผลสำรวจความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ ผู้ที่มีรายได้ในช่วง 10,001 - 30,000 บาท ยังเป็นช่วงเงินเดือนที่สะท้อนความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้มากที่สุด ซึ่งมักเป็นช่วงเงินเดือนของคนเจนวายที่กำลังสร้างตัว

'ธนวรรธน์' ปิดท้ายว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นวิกฤตที่มีสัดส่วนหนี้สูงถึงร้อยละ 80 ต่อจีดีพี แต่ก็ถือว่าต้องระมัดระวังอย่างใกล้ชิด ส่วนการแก้ปัญหาจำเป็นต้องหันมากระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศให้กลับมาเติบโตเพิ่มขึ้น เพราะผลจากการสำรวจพบว่าหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นเกิดจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเป็นหลักมากกว่าการใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายของประชาชน 

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ควรเน้นไปที่มาตรการกระตุ้นการจ้างงานมากที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่ท้องถิ่น การอัดฉีดเม็ดเงินลงไปในกองทุนหมู่บ้านให้มีเงินทุนซื้อวัตถุดิบรวมถึงสนับสนุนการไปสัมมนาในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้มากขึ้น เมื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมได้

'ธนวรรธน์' เชื่อว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนจะดีขึ้นเองอัตโนมัติเนื่องจากปัจจุบันประชาชนตระหนักถึงภาระหนี้อยู่แล้วและไม่คิดจะก่อหนี้เพิ่มขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :