ไม่พบผลการค้นหา
ในแต่ละปีมีการเกณฑ์ทหารเพื่อเข้าประจำการปีละราว 1 แสนคนโดยเฉลี่ย แต่ละปีจะมีตัวเลขที่ไม่เท่ากันแต่อยู่ในอัตราใกล้เคียงกัน จึงเกิดคำถามว่าแล้วกองทัพใช้หลักเกณฑ์ใดในการ ‘คำนวณ’ ตัวเลขเหล่านี้ ?

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่า หลักเกณฑ์อัตราบรรจุกำลังพลแต่ละปีต้องคำนวณรวมกันทั้ง 3 เหล่าทัพ กองทัพบก-เรือ-อากาศ ซึ่งยอดแต่ละเหล่าทัพและแต่ละปีก็จะไม่เท่ากัน เพราะต้องดูจำนวนทหารเกณฑ์ที่ประจำการอยู่ว่าเหลืออัตราเท่าใดบ้าง เพราะแต่ละคนจะประจำการในระยะเวลาที่เท่ากัน ได้แก่ 6 เดือน 1 ปี และ 2 ปี ตามวุฒิการศึกษา และการสมัครเข้าเป็นทหารกองประจำการ หรือ การจับดำใบแดง จึงทำให้ตัวเลขเหล่านี้ไม่นิ่ง

ส่วนใหญ่ ‘ทหารเกณฑ์’ จะไปอยู่ในหน่วย ‘กำลังรบ’ เพราะต้องใช้ ‘คนหนุ่ม’ เป็นหลัก แล้วประจำการในช่วงระยะเวลา 6 เดือน ถึง 2 ปี 

สำหรับทหารที่ประจำการหน่วยที่ไม่ใช่กำลังรบ จะไม่ใช้ ‘คนหนุ่ม’ แต่จะใช้คนที่ ‘รับราชการทหาร’ เป็นหลัก และจะต้องดูแลไปถึงเกษียณฯอายุ 60 ปี

ส่วนที่มีข้อเสนอว่าทำไมไม่ใช้ ‘ทหารนายสิบ’ มาเป็นทหาร ‘หน่วยกำลังรบ’ เป็นหลักบ้าง พล.ท.คงชีพ ระบุว่า ถ้านายสิบอายุมากขึ้นสภาพร่างกายก็จะไม่ไหว และต้องดูแลไปถึงอายุ 60 ปีด้วย และต้องใช้งบประมาณในการดูแลต่างๆจำนวนมาก เช่น สวัสดิการ มากกว่าการใช้ระบบเกณฑ์ทหารเข้ามาอีก

เกณฑ์ทหาร 20180409_Sek_10.jpg


พล.ท.คงชีพ ยังชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการ ‘ลดจำนวน’ การเกณฑ์ทหาร ว่า มีโอกาสเป็นไปได้ โดยมีปัจจัยอยู่ที่ระบบยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีต่างๆของกองทัพ ถ้ามีความทันสมัยมากขึ้น ก็จะลดการใช้กำลังพลลงไปด้วย เหมือนกับโรงงานอุตสาหกรรม ถ้ามีเทคโนโลยีที่สูงก็จะลดการใช้แรงงานคนลงไป เพราะยุทโธปกรณ์หลายอย่างในกองทัพก็ใช้งานมานานกว่า 50 ปี หรือนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

ส่วนการตั้งข้อสังเกตว่า “ประเทศไทยไม่มีสงคราม จะเกณฑ์ทหารไปรบกับใคร” นั้น พล.ท.คงชีพ ชี้แจงถึงวาทกรรมนี้ว่า ต้องดูภารกิจของกองทัพตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ว่ารัฐต้องมีกองทัพเพื่อปกป้องอธิปไตย รักษาความสงบภายใน ความมั่นคง การพัฒนา และการช่วยเหลือประชาชน ผ่านการบรรเทาสาธารณภัย จึงต้องไปดูข้อกฎหมายเหล่านี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม หากดูสถิติตัวเลขการ ‘สมัครใจ’ หรือ ‘สมัคร’ ขอเป็นทหารกองประจำการ หรือ ‘ทหารเกณฑ์’ สูงขึ้นเรื่อยๆ นับจากปี 2558 เป็นต้นมาแล้วสิ่งใดเป็น ‘แรงจูงใจ’ ให้เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้น ?

พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า ด้วยระยะเวลาประจำการผู้ที่สมัครใจจะสั้นกว่าผู้ที่จับใบดำใบแดง โดยยึดตามวุฒิการศึกษาเป็นหลัก จึงเป็นแรงจูงใจมากขึ้น และสิ่งหนึ่งคือ ‘ภาพลักษณ์’ ของกองทัพที่ดีขึ้นด้วย


โดยปี 2558 มีชายไทยสมัครเป็นทหาร 43,446 คน ปี2559 มีชายไทยสมัครเป็นทหาร 47,172 คน ปี2560 มีชายไทยสมัครเป็นทหาร 50,580 คน และปี2561 มีชายไทยสมัครเป็นทหาร 44,797 คน


ซึ่งทหารที่เกณฑ์เข้ามาจะเรียกว่า ‘ทหารกองประจำการ’ ส่วนผู้ที่ไม่ได้เกณฑ์เข้ามา (ทหารนอกประจำการ) จะเรียกว่า ‘กำลังสำรอง’ โดยในกรณี ‘ทหารนอกประจำการ’ จะต้องเป็น ‘อัตราคง’ ไว้ จนถึงอายุ 45 ปี เพื่อรองรับหากเกิดภารกิจที่ ‘ทหารกองประจำการ’ มีจำนวนไม่เพียงพอ เช่น การเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ สึนามิ เป็นต้น 

โดยจะนำกำลังส่วนนี้ไปเป็นกองหนุนอยู่ใน ‘กองพลหนุน’ ที่เป็นหน่วยโครง เช่น พล.ร.11 เดิม ที่เปลี่ยนเป็น ‘กองพลทหารราบเบา’ ไปแล้ว และ พล.ร.15 เป็นต้น โดยอัตราปกติ 1 หมู่จะมี 11 คน แต่อัตราโครงจะมี นายสิบ 5 คน ต่อ 1 หมู่ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้จึงเป็นการ ‘เกณฑ์คน’ มาหมุนเวียน โดยทหารก็คือประชาชนด้วยเช่นกัน ไม่ใช่การเกณฑ์มาเป็น ‘ไพร่สม-ไพร่ส่วย’ อีกทั้งทหารเกณฑ์เหล่านี้ก็ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ต้องพัฒนาประเทศและช่วยเหลือประชาชน และเป็นหน้าที่ของ ‘ชายไทย’ ตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ.2497



กองทัพบก กองทัพ 000_K40PJ.jpg


อีกวาทกรรมหนึ่งที่ถูกใช้อย่างมาก คือ “เกณฑ์ทหารไปรบกับหญ้า ฆ่ากับมด” พล.ท.คงชีพ ชี้แจงว่า เราต้องแบ่งภารกิจของ ‘กองทัพ’ ออกเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรก คือ การใช้เป็น ‘กำลังรบ’ จะต้องไม่ให้เกิด ‘การสูญเสีย’ เวลาเกิดการรบและปะทะขึ้นมา เช่น กรณีทหารไทยปะทะกับทหารกัมพูชา สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงต้องมีการเตรียมกำลัง ผ่านการฝึกการใช้อาวุธ การฝึกแบบบุคคล การฝึกต่อสู้แบบบุคคล ตามมาด้วยการฝึกระบบหมู่-หมวด-กองร้อย-กองพัน โดยจะมีวงรอบการฝึกทั้งปี

ส่วนที่ 2 คือ ‘หลังการฝึก’ เพราะทหารเกณฑ์เหล่านี้จะต้องอยู่ในพื้นที่นาน จึงต้องดูแลรับผิดชอบ ‘กองร้อย’ ด้วย ต้องทำความสะอาด ตัดแต่งหญ้า ตามปกติ

ทั้ง 2 ส่วนนี้ จึงต้องหมุนเวียนกันทำหน้าที่ จึงไม่มี ‘การรบกับหญ้า ฆ่ากับมด’ เมื่อเกิดปัญหาภายนอกค่ายทหารก็ต้องออกไปช่วยประชาชน เช่น น้ำท่วม พายุถล่ม

คงชีพ ตันตระวาณิชย์ b Cover Template.jpg

(พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม)

พล.ท.คงชีพ ยังขอให้ย้อนดูอีกด้านด้วยว่า คนที่จบการเป็นทหารไปได้อะไรบ้าง เช่น ความภาคภูมิใจ การมีระเบียบ มีเพื่อนมากขึ้น อีกทั้งมีการศึกษาที่สูงขึ้น หากใครที่ประจำการตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ก็จะต้องเรียน กศน. ควบคู่ไปด้วย เพื่อเพิ่มวุฒิการศึกษาเมื่อปลดประจำการออกไปแล้ว

“หากเปรียบเทียบกับภาคเอกชน ก็จะมีฝ่ายบุคคลที่จะจัดเทรนด์นิ่งบุคคลหรือละลายพฤติกรรมพนักงานที่ทำกันทุกๆปี ดังนั้นคนที่ถูกเข้ามาในกองทัพ ก็จะต้องถูกเทรนด์นิ่งให้ ‘เสียสละ-รักชาติ’ จึงทำให้ไม่มีปัญหาตามมา หลังปลดประจำการออกไป บางคนที่ลูกหลานเกเร พ่อแม่ก็อยากให้เป็นทหารก็มี” พล.ท.คงชีพ กล่าว


เกณฑ์ทหาร


แต่สิ่งหนึ่งที่กองทัพถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด คือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับกำลังพลและทหารเกณฑ์ ผ่านการฝึกหรือการถูกลงโทษ พล.ท.คงชีพ ชี้แจงว่า การฝึก มาตรการการฝึก การธำรงวินัย ทางกระทรวงกลาโหมได้กำชับสั่งการเหล่าทัพไม่ให้เกิดการละเมิด หากเกิดเรื่องขึ้นมาผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบ ถึงขั้น ‘ปลด’ ออกจากราชการทหาร และผู้บังคับกองพันก็ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะ “กองทัพไม่ปกป้องคนเลวไว้ในกองทัพ คนที่ผิดต้องลงทัณฑ์ทางวินัย ถ้าผิดไปกว่านี้ก็คือทางอาญาด้วย ไม่มียกเว้น”

ทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นว่า ‘กองทัพ’ พยายามปรับปรุง ‘ระบบการเกณฑ์ทหาร’ ให้ดีขึ้น อีกทั้งพยายามปรับ ‘ภาพลักษณ์ทหารเกณฑ์’ มากขึ้น

โดยสิ่งที่ทำได้โดยเร็ว คือ ระบบ’โครงสร้าง-เรื่องทางเทคนิค’ แต่สิ่งที่ต้องใช้ระยะเวลา คือ ‘วัฒนธรรม-ทัศนคติ’ ในกองทัพที่มีต่อ ‘พลทหาร’ เหล่านี้ ที่กำลังปลูกฝังใน ‘กองทัพ’ ว่าเป็น “ครอบครัวเดียวกัน” และ “พลทหารคือน้องคนสุดท้อง”

แน่นอนว่าในยุคที่สังคม ‘เปิดกว้าง’ และยากจะปกปิดสิ่งใด จึงทำให้กองทัพ ต้องทำอะไรให้ ‘คลีน’ และ ‘เคลียร์’ มากขึ้น ทั้งหมดนี้จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ ‘กองทัพ’ ต้องปรับตัว

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog