นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากข้อมูลการส่งออกของไทยประจำเดือนเมษายน 2568 มีมูลค่า 25,625.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.2% ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ยังคงเดินหน้าอย่างมั่นคง ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก สำหรับยอดรวมการส่งออกช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 (มกราคม–เมษายน) อยู่ที่ 107,157.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
“การส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของตลาดโลกที่ยังมีต่อสินค้าไทย และเป็นผลจากการที่รัฐบาลมีมาตรการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในเชิงรุก แม้จะมีกระแสความกังวลต่อมาตรการภาษีของสหรัฐฯ แต่ผลลัพธ์ในเชิงตัวเลขสะท้อนชัดว่าไทยยังไม่รับผลกระทบในทางลบ โดย ตลาดส่งออกสำคัญยังคงเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ
- สหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้น 23.8%
- อาเซียน เพิ่ม 7.8% ต่อเนื่อง 2 เดือน
- เอเชียใต้ เพิ่ม 8.7% ต่อเนื่อง 7 เดือน
- สหภาพยุโรป เพิ่ม 6.1% ต่อเนื่อง 11 เดือน
- ญี่ปุ่น เพิ่ม 5.5% ต่อเนื่อง 2 เดือน
- จีน เพิ่ม 3.2% ต่อเนื่อง 7 เดือน
นางสาวศศิกานต์ กล่าวต่อไปว่าสำหรับตลาดส่งออกสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทย ยังมีสัญญาณที่แตกต่างกัน แต่สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทเชิงยุทธศาสตร์ในการวางแผนการค้าระหว่างประเทศของรัฐบาลได้อย่างชัดเจน การส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน 2568 มีมูลค่า 5,040.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การนำเข้าอยู่ที่ 1,785.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ที่ 3,256.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อพิจารณาภาพรวมตลอดช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 (มกราคม–เมษายน) ไทยมีมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ รวมทั้งสิ้น 20,848.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 6,853.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงถึง 13,994.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมเดินหน้าเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย–สหภาพยุโรป โดยตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ โดยจะมีการหารือกับนายมารอส เซฟโควิช กรรมาธิการยุโรปด้านการค้า และเข้าพบองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เพื่อเร่งผลักดันการเจรจาให้มีความคืบหน้ามากที่สุด ในส่วนของตลาดสหรัฐฯ การเจรจาเกี่ยวกับประเด็นภาษีมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ภายใน 90 วันตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้
“รัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด และพร้อมปรับกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในทุกมิติ ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า ทุกก้าวของการดำเนินนโยบายภาครัฐจะยังคงมุ่งเน้นการดูแลเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคง แข็งแรง และเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืนในเวทีการค้าระดับโลก” นางสาว ศศิกานต์ ระบุ