ไม่พบผลการค้นหา
ผู้เชี่ยวชาญชี้ 'หน้ากากอนามัย' ทั้งแบบที่แพทย์ใช้ในห้องผ่าตัดและ N95 อาจไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ในการป้องกันเชื้อไวรัส แม้ยอดขายหน้ากากอนามัยจะพุ่งสูงจนเกิดภาวะขาดแคลน

Business Insider รายงานว่า การสวมหน้ากากอนามัยคือหนึ่งตัวเลือกหลักที่ผู้คนนิยมใช้เมื่อต้องการป้องกันตัวเองในสถานการณ์ที่มีการแพร่กระจายของเชื้อโรคและเชื้อไวรัส ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการที่ทางศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention - CDC) ได้ออกมาสั่งการให้บุคลากรทางการแพทย์แนะนำให้ผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวข้องกับไข้หวัดทุกชนิดใช้หน้ากากอนามัย เพื่อลดการรับเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นผ่านทางน้ำลายและเสมหะ

CDC ย้ำว่า วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือวิธีที่ง่ายที่สุดที่เราสามารถทำได้ในชีวิตประจำวันอย่างการล้างมือด้วยสบู่เป็นประจำ ไม่นำมือมาสัมผัสอวัยวะบนใบหน้า และเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือผู้ที่มีอาการป่วย และสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ที่ทำการรักษาผู้ติดเชื้อ สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องสวมหน้ากากอนามัยและแว่นตาเพื่อป้องกันการรับเชื้อ แต่สำหรับบุคคลทั่วไป การสวมใส่หน้ากากอนามัยอาจไม่มีความจำเป็นขนาดนั้น 

หน้ากากอนามัยแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่

หน้ากากอนามัยถูกออกแบบมาเพื่อดักจับ 'สิ่งปนเปื้อน' และ 'อนุภาคขนาดเล็ก' โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุภาคขนาดเล็กในสิ่งแวดล้อมที่เป็นพาหะนำเชื้อโรคต่างๆเข้าสู่ร่างกาย โดยปกติแล้วหน้ากากอนามัยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆคือ หน้ากากอนามัยที่บุคลากรทางการแพทย์ใช้ในโรงพยาบาลและห้องผ่าตัด (Surgical Mask) และหน้ากากอนามัยป้องกันมลพิษและก๊าซพิษ (N95 Respirator)

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหลังจากที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ระดับนานาชาติ คนไทยเริ่มคุ้นเคยกันมากขึ้นกับหน้ากากอนามัยแบบ N95 ซึ่งสามารถป้องกันการทะลุผ่านของอนุภาคขนาดเล็กที่ลอยมาในอากาศได้เป็นอย่างดี โดยสามารถปกป้องผู้สวมใส่จากอนุภาคที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กถึง 0.3 ไมครอนได้ เป็นขนาดที่เล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดของเส้นผมมนุษย์ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางระหว่าง 50-70 ไมครอน จึงทำให้หน้ากาก N95 เป็นที่นิยมอย่างมากเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่คนเราต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศ 

อย่างไรก็ตาม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของ "ไวรัสโคโรนา" นั้นเล็กเพียง 0.12 ไมครอนเท่านั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าไวรัสโคโรนาจะสามารถทะลุผ่านหน้ากาก N95 เข้ามาสู่ร่างกายได้

ขณะที่ 'Surgical Mask' หน้ากากอนามัยที่บุคลากรทางการแพทย์ใช้ในโรงพยาบาลและห้องผ่าตัด ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้ละอองของอนุภาคขนาดใหญ่และการกระเด็นของอนุภาคต่างๆ จากปากของบุคลหนึ่งไปยังคนรอบข้างได้ ดังนั้นหน้ากากชนิดนี้จึงมีจุดประสงค์หลักในการป้องกันไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์แพร่กระจายเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อโรคไปยังผู้ป่วยขณะเข้ารับการรักษา โดยลักษณะทางกายภาพที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งคือ Surgical Mask จะไม่รัดรูปเข้ากับใบหน้าของผู้สวมใส่เท่ากับหน้ากากประเภท N95 มีลักษณะหลวมกว่ามาก จึงสามารถช่วยป้องกันได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น

สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่าประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัยทั้ง 2 ชนดนี้ก็คือ ผู้สวมใส่ส่วนใหญ่มักไม่สวมหน้ากากอย่างถูกวิธี บ้างก็ไม่กระชับกับรูปหน้า มีช่องว่างระหว่างข้างจมูกและแก้ม ไปจนถึงการที่หลายคนมีพฤติกรรมชอบจับ ปรับ ขยับหน้ากากเป็นประจำตลอดทั้งวันเพื่อสัมผัสใบหน้า ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ส่งผลให้ทั้งมลพิษและเชื้อโรคสามารถเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ตลอดเวลา ตรงกับผลการศึกษาของรัฐนิวเซาท์เวลส์ออสเตรเลียเมื่อปี 2016 ที่ระบุว่า คนเราใช้มือสัมผัสใบหน้าเฉลี่ยประมาณ 23 ครั้งใน 1 ชั่วโมง

จีน - ไวรัสโคโรนา - AFP

ทั้งนี้ในบางประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ยังไม่มาก อย่างในสหรัฐฯ พบว่าล่าสุดมีจำนวนผู้ติดเชื้อ 5 คน เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศที่มีอยู่ราว 329.45 ล้านคน ยังถือว่าเป็นอัตราที่น้อยมาก โดย ดร.ปีเตอร์ แรบบิโนวิตซ์ จากมหาวิทยาลัยแห่งวอชิงตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดกล่าวกับ The New York Times ว่า "สถานการณ์ความเสี่ยงในสหรัฐฯยังต่ำเกินไปที่ประชาชนจะต้องสวมหน้ากากอนามัย" ขณะที่ CDC ระบุว่าความเสี่ยงด้านสาธารณสุขของสหรัฐฯตอนนี้ยังต่ำอยู่

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เมืองอู่ฮั่นในมณฑลหูเป่ยของจีน ต้นกำเนิดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทวีความตึงเครียดอย่างต่อเนื่อแบบรายชั่วโมง โดยเมื่อช่วงเช้าของวันนี้ (28 ม.ค.) มีการยืนยันว่าขณะนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตพุ่งสูงถึง 106 ราย (เพิ่มจากวันก่อนหน้า 26 ราย) และมีผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 4,175 คน (เพิ่มจากวันก่อนหน้าราว 1,400 คน) ซึ่งทางการกำชับประชาชนทุกคนให้สวมหน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด 

ขณะนี้เกิดการขาดแคลนหน้ากากอนามัยอย่างมากในจีน ห้างร้านต่างๆ ไม่มีหน้ากากอนามัยในสต็อกอีกต่อไป ถึงขั้นที่นักท่องเที่ยวในจีนกวาดซื้อหน้ากากอนามัยจากไทยกลับบ้านจำนวนมาก ซึ่งนายเคา จุน ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทผู้ผลิตหน้ากากอนามัย Lanhine ของจีนให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า ปัจจุบันความต้องการซื้อหน้ากากอนามัยในจีนพุ่งสูงถึง 200 ล้านชิ้นต่อวัน ขณะที่ทางบริษัทสามารถผลิตได้เพียง 400,000 ชิ้นต่อวัน เท่านั้น ทำให้ขณะนี้มีการเพิ่มราคาขายในท้องตลาดอย่างเห็นได้ชัด

ขณะที่ในประเทศญี่ปุ่นก็มีการติดป้ายตามร้านค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ เพื่อเป็นการให้กำลังใจชาวจีนที่เดินทางมาซื้อหน้ากากอนามัยเพื่อนำกลับไปใช้ที่บ้านในสถานการณ์คับขันเช่นนี้ อย่างเช่นข้อความว่า "ประเทศจีนสู้ๆ" "อู่ฮั่นสู้ๆ" และเมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา ประชาชนชาวญี่ปุ่นก็ร่วมกันบริจาคหน้ากากอนามัยกว่า 1 ล้านชิ้นไปยังประเทศจีน โดยขนส่งไปยังสนามบินเสฉวนเรียบร้อยแล้ว โดยสายการบินเสฉวนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 3U8086