ไม่พบผลการค้นหา
ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดของประเทศ สื่อมวลชนย่อมมีพันธกิจหลักในการดำรงไว้ซึ่ง ‘คุณค่าของประชาธิปไตย’ ผ่านการถ่ายทอดความรู้ข่าวสาร เป็นเครื่งมือตรวจสอบทางการเมือง รวมถึงเปิดพื้นที่สาธารณะให้เกิดการถกเถียงจนกลายเป็นมติของสาธารณะ

พันธกิจนี้เดินทางอย่างยากลำบากในบริบทการเมืองไทย จนนำไปสู่ ‘เสียงท็อปบู๊ต’ ที่ดังกระหึ่มในค่ำคืนวันที่ 19 ก.ย. 2549  เป็นการยึดอำนาจจาก ‘ทักษิณ ชินวัตร’ นายกฯ ในขณะนั้นที่กำลังประชุมอยู่ต่างประเทศ หนังสือพิมพ์หลายฉบับพาดหัวข่าวหลังจากนั้นว่า ‘ขาไปเป็นนายกฯ ขากลับตกงาน’ 

‘วอยซ์’ พาผู้อ่านหวนรำลึกถึงบทบาทของสื่อมวลชนไทยในช่วงรัฐบาลไทยรักไทย (2544-2549) ซึ่งมีบทบาทอย่างสูงในการโค่นล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่ถูกมองว่าแข็งแกร่งเกินไปจนเป็นอันตราย จนอาจกล่าวได้การล้างบาง ‘ระบอบทักษิณ’ กลายเป็นพันธกิจชั่วชีวิตของสื่อยุคนั้น มากกว่าการสร้าง ‘ประชาธิปไตย’ อย่างแท้จริง


แทรกแซง-โฆษณา-คุกคาม : วิกฤตสื่อภายใต้ทักษิณ 

เป็นที่ทราบกันดีว่า ทักษิณ ชินวัตร ตระหนักดีถึงอิทธิพลของสื่อมวลชนในการเป็นเครื่องมือทางการเมืองในหาเสียง สร้างภาพลักษณ์ทางการเมืองทั้งในช่วงก่อนการเลือกตั้ง และเข้มข้นมากขึ้นหลังจากได้รับคะแนนเสียงอันล้นหลามภายใต้ ‘พรรคไทยรักไทย’ ถึง 11 ล้านเสียง ชนิดที่ไม่เคยมีพรรคการเมืองไหนเคยทำได้ 

สถานีโทรทัศน์ ‘ไอทีวี’ เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากฟากประชาชนภายใต้นโยบาย “ไอทีวี ทีวีเสรี” หลังเหตุการณ์พฤษภาคมปี 2535 เรียกได้ว่าเป็นสื่อมวลชน ‘ดาวรุ่ง’ ของเอเชีย จนได้รับฉายาว่า “ผู้พิทักษ์ประชาธิปไตย” 

กระนั้น ไอทีวี ก็ยังคงประสบปัญหาภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเดือน พฤษภาคม ปี 2543 บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เสนอตัวเข้าอุ้มกิจการไอทีวีด้วยการถือหุ้นกว่า 39% เป็นผลให้ต้องเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารยกชุด โดยมี บุญคลี ปลั่งศิริ ผู้บริหารระดับสูงของชินคอร์ปฯ มานั่งประธานบอร์ด ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวของฝ่ายข่าวที่ต้องการป้องสัญลักษณ์ ‘ทีวีเสรี’ 

เหตุการณ์เริ่มบานปลาย จนนำไปสู่การแจกซองขาวพนักงานฝ่ายข่าว 23 คนที่ขึ้นชื่อว่า ‘กบฏไอทีวี’ และมีการฟ้องร้องผู้บริหารไอทีวีตามมาตรา 41 ในรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และการแสดงออกของสื่อมวลชน

ลากยาวไปจนถึงบรรยากาศที่ธุรกิจใหญ่เข้ามามีอิทธิพลต่อสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ผู้บริหารบริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือแกรมมี่เตรียมจะเข้าซื้อหุ้นสามัญจากบริษัทผู้ถือหุ้นต่างๆ ของบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ราว 32.23% ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสื่อมวลชนและประชาชนว่าเป็น ‘แผนฮุบสื่อ’ ของทักษิณ? เพราะไพบูลย์มีความสนิทสนมกับทักษิณ 

ส่งผลให้เกิดกลุ่มคิด ‘เพื่อนมติชน’ และกลุ่มเครือข่ายมิตรของสื่อ จัดตั้งโดยภาคประชาชน นักวิชาการ และองค์กรต่างๆ เคลื่อนไหวหาแนวทางคัดค้าน จนในที่สุดแกรมมี่ก็ยอมลดสัดส่วนการถือหุ้นมติชนไม่เกิน 20% โดยขายหุ้นคืนให้กับมติชน 12% เป็นเงิน 300 ล้านบาท 


บทบาทเข้มข้นของสมาคมวิชาชีพ

ในยุครัฐบาลไทยรักไทย อาจเรียกได้ว่าเป็นห้วงเวลาที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ทำหน้าที่อย่างขะมักเขม้นในการออกแถลงการณ์คัดค้านการกระทำของรัฐบาลที่ถูกมองว่าเป็นการ ‘แทรกแซง-แทรกซึม’ กิจการสื่อมากที่สุดยุคหนึ่ง

เช่น แถลงการณ์คัดค้านการเข้ามาแทรกแซงไอทีวี โดยถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานของสื่อมวลชนที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 39, 40 และ 41 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่กล่าวถึงใจความสำคัญของการทำหน้าที่ และเสรีภาพของสื่อมวลชนโดยตรง 

แถลงการณ์ตอบโต้สำนักงานตำรวจสันติบาล ที่ส่งหนังสือตักเตือนหนังสือพิมพ์ที่นำเสนอข่าว ‘คดีซุกหุ้น’ ในปี 2544  โดยอ้างว่าเป็นการทำงานโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของสังคมไทย ตลอดจนแทรกแซงการทำหน้าที่ของผู้ดำเนินรายการวิทยุ อ.ส.ม.ท. คลื่น 97.5 เมกะเฮิรตซ์ ที่รายงานเรื่องดังกล่าว โดยแถลงการณ์ระบุว่า “ขอให้สำนักงานตำรวจสันติบาลยุติพฤติกรรมละเมิดรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสนในสิทธิเสรีภาพที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ” 

นอกจากนี้ยังมีการยื่นคำร้องต่อ พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร ประธานวุฒิสภาในขณะนั้น และเสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้มีการตรวจสอบการแทรกแซงสื่อของหน่วยงานรัฐ  ยังไม่รวมถึงกรณีที่รัฐสั่งให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแห่งชาติ (ป.ป.ง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงินของนักหนังสือพิมพ์ 

แม้การเมืองไทยจะอยู่ในยุคที่ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบมากที่สุดครั้งหนึ่ง มีรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ถูกมองว่า ‘ดีที่สุด’ แต่กิจการสื่อมวลชนจากต้องดิ้นรนเพื่อให้ปลอดการควบคุมด้วยอำนาจทางกฎหมายของรัฐแล้วยังต้องต่อสู้เพื่อให้พ้นจากการจำกัดอิสรภาพทางเงื่อนไขเศรษฐกิจในโลกทุนนิยม 

นั่นจึงเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้สื่อมวลชน นักหนังสือพิมพ์ ตลอดจนสมาคมวิชาชีพสื่อใดๆ ต่าง ‘กลืนไม่เข้า-คายไม่ออก’ ว่าจะยอมขันชะเนาะอำนาจทางเศรษฐกิจที่เข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางการนำเสนอข่าวเพื่อความอยู่รอด หรือยึดมั่นในเสรีภาพ และประชาธิปไตย


ท่าทีที่ไม่เป็นมิตร ไม่ให้เกียรติ ‘ฐานันดรที่ 4’ 

ด้วยความที่พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งครั้งที่สองเมื่อปี 2548 กว่า 18 ล้านเสียง จนทำให้ได้ ส.ส.ในสภามาถึง 377 ที่นั่ง เป็นรัฐบาลพลเรือนที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ นั่นจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการถูกโจมตีว่า เป็น ‘เผด็จการรัฐสภา’ หรือเกิดเป็น ‘ระบอบทักษิณ’ 

ทักษิณ ไทยรักไทย 00_HKG2005020457586.jpg

ขณะที่วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งก็ถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘สภาผัว-สภาเมีย’ องค์กรอิสระเองก็ถูกยัดเยียดสถานะ ‘ลูกเบี้ยรายเดือน’ 

การกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้นำกับสื่อมวลชนยังคงมีให้เห็นเนืองๆ ด้วยบุคลิกภาพที่เป็นคน ‘ปากไว’ ต่อล้อต่อเถียงสื่อ จนทำให้สื่อที่คิดว่าตัวเองเป็น ‘ผู้ทรงเกียรติ-ฐานันดรที่ 4’ รู้สึกโดนล้ำเส้น หรือไม่ให้เกียรติ

เห็นได้จากรายการ ‘นายกฯ ทักษิณพบสื่อมวลชน’ ที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากการกระทำที่ทักษิณจะชูป้ายวงกลมหรือกากบาท เพื่อกรองคำถามว่าสร้างสรรค์หรือไม่ นั่นเป็นเหมือนชนวนที่ทำให้ถูกมองว่าเป็นการดิสเครดิตสื่อ และเลี่ยงตอบคำถาม 

หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์รายงานเมื่อวันที่ 26 ส.ค.2548 ว่า เครื่องหมายดังกล่าวถูกใช้ในรายการทีวีแชมเปี้ยน และทักษิณได้ความคิดนี้มาจากการที่พานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น และซื้อเกมที่มีเครื่องหมายดังกล่าวมา จึงหยิบยืมมาเล่นกับสื่อมวลชนเพื่อไม่ให้เกิดความเครียด

‘วาสนา นาน่วม’ นักข่าวสายทหาร ผู้ทำงานใกล้ชิดกับกองทัพและกลาโหม ก็เปิดเผยว่า ตนก็เคยโดนทักษิณหมายหัว ครั้งหนึ่งทักษิณพูดในห้องประชุมที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เมืองทองธานี ว่า ทำไมไอ้ W (Wassana) ถึงรู้โผทหาร โผตำรวจไปเสียหมด ตนก็ได้ยืนรอให้ทักษิณมาด่าต่อหน้า แต่เขาก็เดินผ่านไป ไม่มีอะไรเกิดขึ้น 

ในช่วงต้นปี 2549 รัฐบาลทักษิณ 2 ต้องเจอกับปัญหาทางการเมือง และหน้าข่าวที่ไม่เป็นผลดีต่อเสถียรภาพรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความล้มเหลวในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มหากาพย์ซุกหุ้นภาค 2 เรียลลิตี้แก้ปัญหาความยากจนภายใต้ชื่อ ‘อาจสามารถโมเดล’ ที่สื่อต่างพาดหัวว่าเป็น ‘แม้ว แฟนเทเชีย’ หรือจะเป็นข่าวการเปิดสนามบินสุวรรณภูมิที่ยังไม่มีความพร้อมในหลายด้าน 

ผสมโรงกับ ‘ม็อบพันธมิตรฯ’ นำโดย ‘สนธิ ลิ้มทองกุล’ ผู้จัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ และผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ที่ปลุกกระแสขับไล่ทักษิณจนจุดติด จาก ‘กัลยาณมิตร’ สู่ ‘พิฆาตมิตร’ ที่ห้ำหั่นจนถึงขั้นเอาเป็นเอาตาย จากการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานไปสู่ข้อกล่าวหาเรื่องการล้มล้างสถาบันฯ 

บวกกับท่าทีแข็งกร้าวของทักษิณที่หลายฝ่ายมองว่า เป็นการต่อสู้กับ ‘กลุ่มอำมาตย์อำนาจเก่า’ โดยเฉพาะเรื่องของการโยกย้ายแต่งตั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพ ส่วนกระแสสังคมคนชั้นกลางและสื่อมวลชนในขณะนั้นต่างก็หน่ายกับเขา เพราะ ‘อยู่มานานเกินไป’

ทักษิณ ยุบสภา 24 กุมภาพันธ์  2549 000_Del24068.jpg

ในที่สุดทักษิณตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 24 ก.พ. 2549 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย. 2549 แต่กลับถูกพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้น ได้แก่ ประชาธิปัตย์, ชาติไทย และมหาชน บอยคอตการเลือกตั้ง โดยไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง อีกทั้งกระแสข่าวการ ‘เว้นวรรค’ ทางการเมืองของทักษิณก็โหมกระพือ ส่วนสื่อจำนวนมากนั้นไม่ต้องการให้เว้นวรรค แต่ต้องการให้ยุติบทบาทไปเลย 

ภายใต้ ‘รัฐบาลรักษาการ’ ใช่ว่าเรื่องทุกอย่างจะจบ สื่อมวลชนต่างขุดคุ้ยเรื่องราว หยิบยกประเด็นโน้นประเด็นนี้มาผสมปนเป เรียกง่ายๆ ว่า หยิบจับอะไรมาด่าได้ก็ด่า อย่างเช่น ‘คอลัมน์อินไซด์โหรา’ ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 17 ก.ย. 2549 ที่ระบุว่า 

“ทักษิณถูกขับไล่จนต้องหาไปหมอดูพม่า อีที ทำแก้เคล็ด นอนกลางดินกินกลางทราย ไปพักตามวัด ล่าสุดไปต่างประเทศเพื่อหลบดวงคราสจากสุริยคราส และจันทรคราส วันที่ 22 ก.ย. 2549 ดวงจะตกต่ำที่สุดวันที่ 29 ก.ย. และ 22-24 ต.ค. ให้รีบลาออก…” 

“ทักษิณ ชินวัตร นับอักษรได้ 13 ตัว ยศมาเพิ่มอีก 3 ตัว เป็น 16 บวกเป็น 7 เลขดาวเสาร์ เป็นเลขดาวบาปเคราะห์ไม่ดี บ้านที่พักก็ 472 รวมเป็น 13 ขึ้นเป็นนายกฯ หลุดจากศาลรัฐธรรมนูญก็อยู่ภายใต้อิทธิพลเลข 13” 


ทักษิณเทียบรัศมี ‘เปรม’ - สื่อหนุนอำนาจนอกระบบ 

ณ เวลานั้นเริ่มมีกระแสข่าวว่า บ้านสี่เสาเทเวศร์ไม่เอาทักษิณแล้ว 

ราวๆ 3 วันก่อนการยึดอำนาจ หากไปย้อนดูหนังสือพิมพ์เก่าที่หอสมุดแห่งชาติ จะพบการพาดหัวข่าวหนุน ‘อำนาจนอกระบบ’ ด้วยการอธิบายที่ว่า ทักษิณเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ไม่ว่าจะเป็นการพาดหัวตัวใหญ่เบิ้มว่า ยกตัวเองเทียบป๋า, ประกาศชัย ‘ทักษิณ’ เทียบป๋า, ป๋า : แม้วไม่เหมาะ หรือล้อมกรอบข้อความของทักษิณว่า 

“สังคมไทย สื่อไทย ขี้เบื่อ อยู่นานไปก็เบื่อ ป๋าเปรมที่วันนี้สื่อยกย่องว่าเป็นคนดี แต่เมื่อย้อนกลับไปดูสมัยเป็นนายกฯ ในช่วงหนังสือพิมพ์ถูกโจมตี…” 

ประกอบกับการที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในตอนนั้นก็ลุกขึ้นมาแต่งตัวด้วยชุดทหารเต็มยศ เดินสายบรรยายพิเศษให้กับนักเรียนนายน้อยฯ ในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) ด้วยวาทะอมตะว่า 

“รัฐบาลก็เหมือนกับ Jockey คือเข้ามาดูแลทหาร ไม่ใช่เจ้าของทหาร เจ้าของทหารคือชาติ และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว…ที่พูดนี่เพื่อให้นักเรียนเข้าใจว่า เราเป็นทหารของชาติ เป็นทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” 

1992022_๒๒๐๙๑๙_5.jpg

อีกทั้งข้อเขียน ทัศนะ หรือบทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์หลายฉบับต่างๆ ก็เขียนในทำนองที่ว่า พล.อ.เปรม เป็นคนดี มีคุณธรรม ดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา 

“ที่สื่อเรียกร้องเพราะป๋าเปรมไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอันเป็นหัวใจของระบบประชาธิปไตย แม้เปรม จะซื่อสัตย์มือสะอาด แต่การต่อต้านทักษิณมาจากสังคมเห็นว่า ไม่สะอาด ไม่โปร่งใส ขาดไว้ซึ่งจริยธรรม คุณธรรม ซึ่งห้วงเกือบ 1 ปี วิกฤตการณ์ก็มาจากบุคคลเพียงคนเดียว คือทักษิณ ไม่ต้องการให้เว้นวรรค ต้องการให้ยุติบทบาททางการเมืองเลย” นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 16 ก.ย. 2549

นี่ยังไม่นับรวมกับหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดกวน (ผู้จัดการ) ในขณะนั้นที่เล่นพาดหัวบนหน้าหนึ่งด้วยประโยคว่า “ถวายคืนพระราชอำนาจ” เพื่อชูธงขอนายกฯ พระราชทาน ในขณะที่ยังคงมีนายกรัฐมนตรีอยู่ เท่ากับเป็นการดึงสถาบันฯ ให้ลงมาเกี่ยวกับการเมืองโดยตรง 


วาทกรรม ‘สื่อแท้-สื่อเทียม’  

กระแสการเรียกร้องขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร นำโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เริ่มเข้ามาในสายธารของหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยในช่วงปี 2548 ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และการเชื่อมต่อการสื่อสารที่กว้างไกลมากขึ้น 

ภาพของทักษิณในหน้าสื่อ จากนักธุรกิจสู่นายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ของสยามประเทศ ถูกแทนทับด้วยภาพของ ‘ปีศาจทุนนิยม’ ผู้ใช้อำนาจทุนเข้ายึดครองอำนาจทางการเมือง เพื่อกินรวบทางเศรษฐกิจ ล้อไปกับการสร้างวาทกรรมของกลุ่มพันธมิตรฯ  “สื่อที่ไม่เห็นด้วยกับเรา คือสื่อรับใช้ระบอบทักษิณ” 

สมาคมสื่อ 3 แห่งซึ่งประกาศตัว 'พิทักษ์เสรีภาพ รักในประชาธิปไตย' อันประกอบไปด้วย สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ก็ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เตือนภัยประชาชน เรื่อง บทบาทสื่อมวลชนในสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2549

สมชาย แสวงการ แก้รธน_1.นัดแรก_201124.jpg

สมชาย แสวงการ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ ในขณะนั้น (ปัจจุบันเป็น ส.ว.)  กล่าวว่า ขณะนี้สังคมไทยมีทั้งสื่อแท้และสื่อเทียม อยากให้ประชาชนพิจารณาจากเนื้อหาของสื่อเป็นหลักว่ามีทิศทางเป็นอย่างไร เพราะล่าสุด มีการสร้างหนังสือพิมพ์ขึ้นมาบางฉบับ ทำหน้าที่เชียร์รัฐบาลอย่างชัดเจน และยังสร้างสถานีโทรทัศน์เคเบิลทีวี หรือทีวีดาวเทียมขึ้น โดยใช้นักจัดรายการชื่อดังที่เคยพยายามจัดที่ อสมท. แต่ไม่เป็นผล เคยเป็นกระบอกเสียงช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 โดยใช้วิทยุยานเกราะเป็นสื่อ สถานการณ์ช่วงนี้น่าเป็นห่วงมากว่าจะเป็นเหมือน 6 ตุลาฯ คือมีสื่อที่สร้างขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ของรัฐ ทำการปลุกระดมให้คนเกลียดชังกัน

สื่อที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็น ‘สื่อเทียม’ นั่นก็คือ เว็บไซต์ www.1reporter.tv หรือสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม MV1 โดยเป็นการใช้ยุทธศาสตร์เดียวกันกับสถานีโทรทัศน์ ASTV ที่เป็นที่นิยมในหมู่มวลชนที่เกลียดกลัวทักษิณ โดยมีผู้ดำเนินรายการสำคัญๆ ได้แก่ สมัคร สุนทรเวช, วีระ มุสิกพงศ์, จตุพร พรหมพันธุ์ และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ 

การผลิตวาทกรรม ‘สื่อแท้ สื่อเทียม’ ทำให้การทำหน้าที่ของสื่อกลายเป็นข้อถกเถียง และถูกตั้งคำถามจากสังคมในขณะนั้นว่า การกล่าวหาสื่อที่ไม่ได้ทำตามแนวทางที่สมาคมวิชาชีพสื่อฯ กำหนดถือเป็น ‘สื่อเทียม’ ใช่หรือไม่ ทำไมเส้นความเป็นมืออาชีพถูกกำหนดไว้ที่การเอนเอียงไปตามกระแสหลัก จนเป็นเหตุให้ผลักไสคนที่คิดต่าง 

 
ชัยชนะของ ‘สื่อแท้’ - ความพ่ายแพ้ของประชาธิปไตย 

ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ มันกลายเป็นการสร้างชุดความคิดว่า ‘สื่อที่ด่าทักษิณ คือ สื่อแท้’ ‘สื่อที่อวยทักษิณ คือ สื่อเทียม’ 

หากนั่งไทม์แมชชีนย้อนไปในช่วง 2548-2549 การเฝ้ารอดูรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ คงเหมือนกับการเฝ้ารอดูรายการโหนกระแสในปี 2565 ต่างเพียงประเด็นที่หยิบยกมาพูด เมืองไทยฯ เร่งเร้าการถอนรากถอนโคนทักษิณผู้ชั่วช้าสามานย์ โหนกระแสเร่งเร้าการวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมโซเชียล

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวอาวุโส เคยให้สัมภาษณ์ว่า วาทกรรม ‘สื่อเลือกข้าง’ สามารถให้เหตุผลด้วยชัยชนะของม็อบพันธมิตรฯ และ ‘ปรากฏการณ์สนธิ’ กลายเป็นเรื่องใหม่ที่ผิดแผกไปในสังคม การเอาสื่อลงไปเล่นการเมือง สื่อจะมีสภาพไม่ต่างอะไรกับ Propaganda Machine หรือเครื่องจักรโฆษณาชวนเชื่อ เพราะการเมืองไทยในอดีตที่นำไปสู่การนองเลือดก็ล้วนมาจากสื่อที่เป็น Propaganda ทั้งสิ้น 

สุภลักษณ์ ยังกล่าวถึงปรากฏการณ์สนธิว่า เริ่มมาจากอัตวิสัย ซึ่งคือความขัดแย้งส่วนตัวระหว่างสนธิกับทักษิณ ก่อนที่เหล่าชนชั้นนำทั้งหลายจะมองว่าทักษิณเป็นภัย จึงร่วมกันสร้างบรรยากาศของการเกลียดกลัวทักษิณ 

สนธิ พันธมิตรประชาชน ลิ้มทองกุล _Hkg138693.jpg

“ปรากฏการณ์สนธิ จึงไม่ใช่ปรากฏการณ์ในเชิงสื่อสารมวลชน แต่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่บังเอิญว่าคนจุดประเด็นเป็นพวกสื่อสารมวลชนอย่างสนธิ ถ้าไม่ใช่สนธิ บางทีอาจไม่ powerful ขนาดนี้ก็ได้” สุภลักษณ์ กล่าว 

เมื่อสื่อมวลชนผู้ซึ่งต้องทำหน้าที่สังเกตการณ์ กลับกลายเป็นผู้กำหนดทิศทางสถานการณ์ เคล้ากับความหวาดหวั่นของชนชั้นนำต่อนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง นั่นกลายเป็นตัวเร่งปฏิกริยาชั้นดีให้ ‘ท็อปบู๊ต’ ซึ่งถูกเก็บเข้ากรุมานานกว่า 15 ปีกลับมาโลดแล่นบนสนามการเมืองอีกครั้ง ! 


สูญสิ้น ‘ระบอบทักษิณ’ 

คงไม่ต้องมีคำบรรยายใดๆ ให้แก่เหตุการณ์ของค่ำคืนวันที่ 19 ก.ย. 2549 

ประเทศไทยยูเทิร์นสู่วงจรอุบาทว์อีกครั้งด้วยการ ‘รัฐประหาร’ นำมาสู่การล้มกติกาประชาธิปไตย ไม่มีใครคาดคิดว่า ‘รัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุด’ จะไม่เคยปรากฏกลับสู่สังคมไทยอีกเลยจวบจนปัจจุบัน  

นักข่าวนักหนังสือพิมพ์หลายสำนักถูกเรียกกลับเข้ากองบรรณาธิการ สื่อโทรทัศน์ไม่ต้องพูดถึง ถูกทหารตัดสัญญาณก่อนเชื่อมเข้าสู่สัญญาณของช่อง 5 เพียงช่องเดียว จะมีก็แต่ช่อง 9 ที่ทหารขึ้นผิดตึก จนทำให้ทักษิณมีเวลาอ่านประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ส่งตรงมาจากกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา สักพักก่อนจะถูกตัดไป 

วันที่ 20 ก.ย.2549 หนังสือพิมพ์ทุกฉบับต่างพาดหัวใหญ่ว่า ‘ปฏิวัติ’ , ‘โค่นทักษิณ’ , ‘ล้มทักษิณ’ ไปจนถึงประโยคที่ว่า ‘ยึดอำนาจแม้ว’ 

รัฐประหาร ทักษิณ  ปฏิวัติ 272484.jpg

ล่วงเลยมาจนถึงวันที่ 22 ก.ย. 2549 จึงปรากฏภาพข่าวในหน้าหนึ่ง เป็นภาพคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ประกอบไปด้วย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ และพล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เป็น ‘หลักฐาน’ ให้ประชาชนได้ ‘รับทราบโดยทั่วกัน’ 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวง สนธิ บุญรัตกลิน รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เปรม 47839989472_6711710564881967434_n.jpg

ทั้งนี้ สื่อต่างขนานนามการรัฐประหารในวัน ว. เวลา น. ที่ 19 เดือน 9 ปี 2549 เวลา 9.39 (21.39 น.) ว่า ‘รัฐประหารคลาสสิค’ เพราะไม่มีการเสียเลือดเนื้อ บ้างก็เรียกว่า ‘ปฏิวัติเปื้อนยิ้ม’ เพราะมีแต่รอยยิ้มของประชาชนที่มอบดอกกุหลาบให้แก่ทหาร เพื่อขอบคุณที่ทำให้ความวุ่นวายทางการเมืองจบลงเสียที 

แต่ใครจะรู้บ้างว่า นั่นเป็นก้าวแรกที่จะสร้างผลกระทบใหญ่หลวงให้แก่การเมืองไทยมาจนถึงทุกวันนี้


ความชอบธรรม ‘จำเพาะ’ 

จาก บทนำ “ทำไมต้องรัฐประหาร” หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 21 ก.ย. 2549 ระบุในตอนหนึ่งว่า 

“ในทางหลักการ การใช้กำลังเข้าเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองการปกครอง โค่นล้มรัฐบาลไม่เป็นไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญย่อมถือว่าไม่ถูกต้องเพราะไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย แต่ในความจริง ท่ามกลางวิกฤตการณ์ของประเทศที่ถือเป็นวิกฤตการณ์ร้ายแรงที่สังคมไทยไม่เคยประสบมาก่อน รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น นอกจากไม่สามารถจะแก้ไขด้วยวิธีการอันเหมาะสมให้เข้ากับขนบธรรมเนียมประเพณีของคนไทยที่ยึดหลักการประนีประนอม การผ่อนหนักผ่อนเบา เมื่อรู้ว่าผิดก็ต้องขอโทษขอโพย จากนั้นก็เริ่มหันหน้าเข้าหากันแล้วปรับปรุงพฤติกรรมให้ดีขึ้น แต่ยังเป็นฝ่ายที่สร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาเอง…” 

1992022_๒๒๐๙๑๙_9.jpg

ปัญหาอันเกิดจากการบริหารประเทศของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ได้แก่ การทุจริตคอร์รัปชั่น การครอบงำหน่วยงาน องค์กรอิสระ พฤติกรรมที่หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบ่อยครั้ง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องเข้ายึดอำนาจ ว่าไปแล้วก็เป็นคำอธิบายที่ชอบธรรมเพราะปัญหาเหล่านี้ได้มีการโจษขาน กล่าวถึง อย่างอื้ออึงผ่านสื่อมวลชน…” 

จากบทความ “ปฏิวัติเพื่อประชาชน ต้องรีบคืนสิทธิตามรัฐธรรมนูญ” หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 20 ก.ย. 2549 ระบุในตอนหนึ่งว่า 

“การคืนสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน ด้วยการปฏิรูปการเมือง สถาปนาและร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้นมาใหม่โดยเร็วที่สุดเท่านั้น จะเป็นคำตอบสุดท้ายที่ประชาชนสามารถไว้วางใจและชื่นชมยินดีเต็มร้อยว่า นี่คือการปฏิวัติเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งนี้เชื่อได้ว่า นักวิชาการ นักกฎหมาย นักประชาธิปไตย และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการผลักดันขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญออกมาบังคับใช้โดยเร็วที่สุด เพราะระบอบประชาธิปไตยถือเป็นการปกครองที่ได้ชื่อว่าเคารพในสิทธิและเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนอย่างแท้จริง แม้ว่าประชาชนคนไทยจะผ่านประสบการณ์ความเจ็บปวดจากประชาธิปไตยบิดเบี้ยว หรือจำแลงมาตลอดระยะเวลากว่า 6 ปี ในระบอบทักษิณก็ตาม…” 

จากบทความ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” คอลัมน์ท่านขุนน้อย หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 20 ก.ย. 2549 ระบุในตอนหนึ่งว่า 

“เวลาแห่งการสมานฉันท์ที่แท้จริง…ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว!!!...”

นี่ไม่ใช่…การถอยหลัง!!! แต่เป็นการแสดงออกถึงความมีสติ และความตระหนักถึงภยันอันตรายที่กำลังคุกคามระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นสิ่งที่จะต้องขจัดออกไปก่อนที่ระบอบการปกครองชนิดนี้จะพังพินาศไปพร้อมๆ กับความเป็นชาติอย่างที่อาจไม่มีโอกาสฟื้นคืนกลับมาได้อีกเลย…!!!”


เพราะบ้านเมืองนี้ต้องการคนดี มีจริยธรรม

เมื่อทหารออกมาล้มกระดานประชาธิปไตย สื่อบางสำนักก็ออกมาแสดงความดีใจ ส่วนใหญ่แม้จะไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด แต่ก็แสดงท่าทีเข้าใจในเหตุผลที่คณะปฏิรูปการปกครองฯ (คปค.) ทำรัฐประหาร

กระทั่งจนมีการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ 11 ต.ค. 2549 ก็ปรากฏรายชื่อสื่อมวลชนทุกแขนงเข้าไปนั่งอยู่มากถึง 20 คนจากทั้งหมด 242 คน ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาตินี้ก็ถูกขนานนามว่า ‘ขันทีสีเขียว’

ถึงแม้จะมีเสียงคัดค้านอย่างหนักจากองค์กรภาคสังคม และมีสื่อมวลชนบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยจนถึงขั้นล่ารายชื่อเพื่อขอให้สื่อที่ถูกเลือก ถอดชื่อตนเองออกจาก สนช. แต่สื่อรุ่นใหม่เหล่านั้นกลับถูกเรียกเข้า ‘ห้องดำ’ ให้ยกเลิกการทำกิจกรรมนี้เสีย

สื่อมวลชนโดยในวันนั้นพยายามชี้ให้สังคมเห็นว่า การรัฐประหาร 2549 ไม่เหมือนกับรัฐประหารที่ผ่านๆ มาในอดีต รัฐประหารไม่ใช่สิ่งเลวร้าย เพราะมีสิ่งที่เลวร้ายกว่าคือ ‘ระบอบทักษิณ’

การรัฐประหารเกิดซ้ำอีกครั้งเกือบ 8 ปีต่อมา วิกฤตการเมืองแผ่ขยายลากยาวมาจนปัจจุบัน ไม่แน่ใจว่ายังมีสื่อมวลชนที่ยืนยันความคิดดังเช่นวันนั้นอีกกี่มากน้อย

AFP รัฐประหาร 19 กันยายน 49 ทักษิณ สนธิ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ g325776.jpgประยุทธ์ คสช รัฐประหาร อัยการศึก kg9834074.jpg

เชิงอรรถ:



ทัตตพันธุ์ สว่างจันทร์
คนหาข่าวการเมืองประจำทำเนียบฯ-องค์กรอิสระ-กระทรวงมหาดไทย เนิร์ดเรื่องการเมืองวัฒนธรรม-วาทกรรมการเมือง-เบียร์
18Article
0Video
0Blog