ไม่พบผลการค้นหา
"วราวุธ ศิลปอาชา" ไม่เห็นด้วยตั้งค่าหัวล่าฉลามในพื้นที่เจ๊ะบิลัง เพราะฉลามเป็นสัตว์หายาก ชี้ไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ย่อมมีพฤติกรรมการป้องกันตัวเองโดยธรรมชาติ แนะหาทางแก้ไขที่อยู่บนพื้นฐานของความสมเหตุสมผล

เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รายงานว่าจากกรณีนายกเทศมนตรีตำบลเจ๊ะบิลัง จ.สตูล ประกาศตั้งค่าล่าหัวฉลาม 1,000 บาท หากใครจับได้ในเขตคลองเจ๊ะบิลง ตั้งแต่จุดท่าเรือโลมาจนถึงท่าเรือ อบจ.สตูล หลังเกิดเหตุฉลามกัดเด็กชายวัย 12 ปี จนต้องเย็บกว่า 50 เข็มนั้น 

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตามที่ตนได้รับข่าวกรณีมีการตั้งค่าหัวล่าฉลามในพื้นที่ตำบลเจ๊ะบิลัง จังหวัดสตูล ตนยอมรับว่ารู้สึกตำหนิการกระทำดังกล่าว เนื่องจาก ฉลามเป็นสัตว์ทะเลที่หายากในปัจจุบัน อีกทั้ง นับเป็นสัตว์ที่เป็นผู้ควบคุมความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล 

นอกจากนี้ ช่วงหลายปีที่ผ่านมากระทรวงทรัพย์ฯ ได้พยายามรณรงค์เลิกการล่าฉลามเพื่อการบริโภค เพื่อให้จำนวนประชากรฉลามเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับเต่าทะเล วาฬ โลมา และพะยูน การกำหนดค่าหัวฉลาม เปรียบเสมือนสนับสนุนให้ออกล่าเพื่อเงินรางวัล ซึ่งหากเทียบประโยชน์ที่ฉลามเป็นสัตว์ที่ควบคุมสมดุลของระบบนิเวศแล้ว ก็ไม่อาจประเมินเป็นจำนวนเงินได้ ตนอยากจะฝากถึงท่านนายกเทศมนตรีตำบลเจ๊ะบิลัง อย่าได้ตั้งค่าหัวฉลามหรือสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนออกไล่ล่าฉลามเพื่อเงินรางวัล แต่อยากให้ประกาศหรือติดป้ายแจ้งเตือนแทนจะดีกว่า สำหรับตนจะขอบันทึกไว้ว่าตำบลเจ๊ะบิลัง คือ พื้นที่ที่มีระบบนิเวศทางทะเลสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งความสมบูรณ์แบบนี้นับวันยิ่งหาได้น้อยลง 

อย่างไรก็ตาม ตนก็ยังคงเป็นห่วงเด็กๆ ที่ลงเล่นน้ำในบริเวณดังกล่าว อาจจะต้องเล่นน้ำด้วยความระมัดระวัง และควรอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่ พร้อมกล่าวทิ้งท้าย ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ย่อมมีพฤติกรรมการป้องกันตัวเองโดยธรรมชาติ แต่เพียงเพื่อการอยู่รอดและการดำรงชีวิต การสั่งล่าไม่ใช่เป็นการป้องกันตัวตามธรรมชาติ แม้อาจจะยังไม่ผิดกฎหมาย แต่นับว่าเป็นพฤติกรรมที่ผิดจากที่ธรรมชาติกำหนด ธรรมชาติสร้างสิ่งต่างๆ บนพื้นฐานความสมเหตุสมผล โดยทุกอย่างจะสร้างสมดุลกันเองตามธรรมชาติ การล่าไม่ใช่การลงโทษสัตว์ทะเล แต่เป็นการทำลายสมบัติที่จะต้องตกเป็นของลูกหลานในอนาคต

ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า ตนได้ให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ พร้อมนักวิชาการลงตรวจสอบทันที ทราบว่า ฉลามดังกล่าวเป็นฉลามหัวบาตรซึ่งโดยธรรมชาติมีนิสัยรักสงบ ไม่ดุร้าย ซึ่งจากกรณีดังกล่าวน่าจะเกิดจากการตกใจหรืออาจจะเข้าใกล้ตัวฉลามมากเกินไปซึ่งอาจคิดว่าศัตรูจึงป้องกันตัว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฉลามจะยังไม่ถูกกำหนดเป็นสัตว์คุ้มครองหรือมีกฎหมายคุ้มครอง แต่ในปัจจุบันจำนวนประชากรฉลามในประเทศไทยก็พบไม่มากและจัดอยู่ในประเภทสัตว์ทะเลใกล้ที่จะหายาก ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งสมัยที่นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีฯ ได้มีนโยบายการผลักดันให้ฉลามในประเทศไทยได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เช่นเดียวกับฉลามวาฬ วาฬบรูด้า วาฬโอมุระ เต่ามะเฟือง และพะยูน 

ทั้งนี้ ตนได้สานงานต่อและได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่และนักวิชาการติดตามพฤติกรรมฉลามหัวบาตรในพื้นที่ดังกล่าวเป็นพิเศษ รวมทั้งสำรวจจำนวนฉลามในพื้นที่และรายงานให้ตนทราบ เพื่อจะได้กำหนดมาตรการในการคุ้มครองและป้องกัน ต่อไป สำหรับประชาชนที่พบเห็นฉลามหัวบาตรในพื้นที่ ขออย่าล่าแต่ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อจะได้ส่งทีมเจ้าหน้าดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนและหลักวิชาการที่ถูกต้องต่อไป