ไม่พบผลการค้นหา
กองทัพเกาหลีใต้ระบุว่า กองทัพไม่เคยกีดกันคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ก็ยังคงมีกฎหมายลงโทษทหารที่มีเพศสัมพันธ์กับทหารเพศเดียวกัน จำคุกถึง 2 ปี

ร้อยโทคิม ไม่ประสงค์ออกชื่อเล่าว่า เขารู้ว่าชีวิตการเป็นทหารของตัวเองจะถูกทำลายอย่างเป็นทางการ เมื่อเขาถูกสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ของกองทัพเมื่อปี 2017 เพื่อกดดันให้ยอมรับว่าเขามีเซ็กซ์กับทหารชายอีกคน ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมสำหรับกองทัพเกาหลีใต้

เจ้าหน้าที่สอบสวนของกองทัพเปิดวิดีโอคอลให้ร้อยโทคิมคุยกับคนรักเก่าของเขา ที่ยอมรับว่าเคยมีความสัมพันธ์กัน ทำให้ตัวเขาต้องรับสารภาพเช่นกัน เจ้าหน้าที่สอบสวนได้ยึดสมาร์ทโฟนของเขา กดดันให้เขาชี้เป้าว่ามีทหารคนไหนอีกที่เป็นเกย์ อีกทั้งยังถามคำถามส่วนตัวเช่น “มีเซ็กซ์กันท่าไหน” หรือ “หลั่งที่ไหน” เมื่อสอบสวนแล้วว่าเขาเป็นเกย์จริง ร้อยโทคิมมีโอกาสถูกลงโทษจำคุก แต่เนื่องจากเขาแสดง “ความรู้สึกผิด” จึงทำให้กองทัพระงับการลงโทษเขา จากนั้น เขาก็ตัดสินใจที่จะออกจากกองทัพ เพราะเชื่อว่า เขาไม่น่าจะมีอนาคตการงานที่ดีในกองทัพอีกต่อไปแล้ว

กองทัพเกาหลีใต้ประกาศว่า กองทัพไม่ได้เลือกปฏิบัติกับคนหลากหลายทางเพศ แต่ร้อยโทคิมเป็นหนึ่งในตัวอย่างให้เห็นว่าทหารที่เป็นเกย์หรือคนข้ามเพศจะถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 92-6 ของรัฐบัญญัติอาชญากรรมกองทัพ ซึ่งมักใช้เป็นเครื่องมือบีบให้ทหารยอมรับออกมาว่าเป็น LGBTQ และลงโทษพวกเขา แม้เพศสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นแบบที่ทุกฝ่ายยินยอม


บังคับผู้ชายทุกคนเกณฑ์ทหาร แต่คนเป็นเกย์จะถูกลงโทษ

เกาหลีใต้ ซึ่งยังถือเป็นประเทศที่อยู่ในสงครามกับเกาหลีเหนือ มีทหารอยู่ในกองทัพประมาณ 600,000 คน เกาหลีใต้กำหนดให้ผู้ชายทุกคนที่มีร่างกายสมบูรณ์ต้องเกณฑ์ทหารเป็นเวลา 2 ปี กองทัพยืนยันว่า ไม่เคยกีดกันเกย์และคนข้ามเพศในการเป็นทหาร กระทรวงกลาโหมได้ขยายการฝึกอบรมให้ครอบคลุมเรื่องการปกป้องสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศ

อย่างไรก็ตาม มาตรา 92-6 ของรัฐบัญญัติอาชญากรรมกองทัพระบุว่า “การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักและอื่นๆ” ระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารมีโทษสูงสุดจำคุก 2 ปี แม้ว่าจะครบกำหนดปลดประจำการก็ตาม และแม้ทหารจะมีเพศสัมพันธ์กันนอกเวลาและต่างคนต่างยินยอมกันก็ยังถือเป็นความผิด

รายงาน “รับใช้ชาติในความเงียบ” ของแอมเนสตี้ อินเทอร์เนชั่นแนล องค์กรด้านมนุษยชนสากล อธิบายรายละเอียดการคุกคามทางเพศและคุกคามด้านอื่นๆ ที่เกย์หรือคนที่ถูกมองว่าเป็นเกย์ต้องเผชิญจากผู้บังคับบัญชาและเพื่อนทหารด้วยกัน โดยรายงานระบุว่า กฎหมายเอาผิดการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายเป็นการส่งเสริมอคติต่อเกย์ ไบเซ็กชวล คนข้ามเพศและกลุ่มนอนไบนารีอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะในกองทัพ บนท้องถนน หรือที่บ้าน

โรแซนน์ ไรฟ์ ผู้อำนวยการการวิจัยด้านตะวันออกกลางของแอมเนสตี้ กล่าวว่า กองทัพเกาหลีใต้ต้องหยุดการปฏิบัติกับกลุ่ม LGBTIQ ราวกับเป็นศัตรู กองทัพควรตระหนักว่ารสนิยมทางเพศไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับความสามารถในการเป็นทหารเลย

แม้นักเคลื่อนไหวด้านความหลากหลายทางเพศพยายามผลักดันให้ยกเลิกกฎหมายนี้มาโดยตลอด แต่ก็ไม่สำเร็จ เนื่องจากกองทัพเกาหลีใต้ระบุว่า มาตรา 92-6 ไม่ได้มีไว้ลงโทษคนหลากหลายทางเพศ แต่มีไว้เพื่อป้องกันการคุกคามทางเพศในกองทัพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย และศาลรัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้เคยตัดสินมาหลายครั้งแล้วว่า กฎหมายนี้มีความชอบธรรม เพราะกองทัพจำเป็นต้องรักษาระเบียบและ “พลังในการต่อสู้”


การดำเนินคดีกับเกย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

การบังคับใช้มาตรา 92-6 มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จำนวนของทหารที่ถูกตั้งข้อหานี้มีเพิ่มจาก 2 นายต่อปีในช่วงปี 2009 – 2010 เป็น 14 นายในปี 2012 และจนขึ้นมาเป็น 28 นายในปี 2017 และช่วงครึ่งปีแรกของปี 2018 ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดที่เปิดเผยต่อสาธารณะ มีทหารถูกตั้งข้อหานี้ 10 นายแล้ว แต่ยังไม่มีใครถูกส่งตัวเข้าเรือนจำแต่อย่างใด

อดีตทหารหลายคนเคยเปิดเผยว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อคนรักเพศเดียวกันในกองทัพมานานแล้ว และมีการคุกคามเกย์โดยทั่วไป ทั้งการทำร้ายร่างกาย การรับน้อง และการกลั่นแกล้ง โดยทหารเกย์ส่วนใหญ่จำเป็นต้องเก็บรสนิยมทางเพศเป็นความลับ เกรงว่าจะจะถูกแฉและถูกคุกคาม


เรื่องราวการคุกคามทหารเกย์

แอมเนสตี้ได้สัมภาษณ์ทหารและอดีตทหาร 21 คน ซึ่งส่วนหนึ่งได้ขอปกปิดชื่อจริงของตัวเอง รวมถึงร้อยโทคิม โดยอดีตทหารเกาหลีใต้คนหนึ่งเปิดเผยกับแอมเนสตี้ว่า เขาถูกผู้บังคับบัญชาบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ทางปากและทางทวารหนักกับทหารเกย์อีกคน และถูกถากถางว่า “ไม่อยากมีเซ็กซ์กับผู้ชายที่เหมือนผู้หญิงหรือไง?” ขณะที่อีกหลายคนถูกคุกคามทางเพศ เพราะ “ไม่แมนพอ”, “เดินเหมือนผู้หญิง” หรือเสียงแหลม

เจรัม ยุงฮุน คัง เป็นหนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์ที่กล้าเปิดเผยชื่อจริงกับสำนักข่าวเดอะ นิวยอร์ก ไทม์สกล่าวว่า เข้าไปเป็นทหารเมื่อปี 2008 เขามักถูกทหารคนอื่นๆ ในหน่วยคุกคามทางเพศ ตั้งแต่การจับอวัยวะเพศ จูบที่คอ หรือดึงกางเกงในของเขาลง และเมื่อเขาแจ้งกับผู้บังคับบัญชาว่าเขาเป็นเกย์และต้องการความช่วยเหลือ ผู้บังคับบัญชาของเขาได้ประกาศให้ทุกคนในหน่วยรับรู้ว่าเขาเป็นเกย์ พร้อมถามเขาว่า “คุณไปยั่วใครมาบ้างเมื่อคืนนี้”

หลังจากวันนั้น คังจำเป็นต้องติดเข็มกลัดรูปหน้ายิ้มบนหน้าอก เพื่อบ่งบอกว่าเขาเป็น “ทหารที่ต้องได้รับความสนใจเป็นพิเศษ” เขาต้องอาบน้ำคนเดียว คนอื่นมองว่าเขาเป็นคนสกปรก “คนที่ไม่ใช่ทั้งชายและหญิงไม่ควรถอดเสื้อผ้าให้ผู้ชายคนอื่นเห็น”

คังยังถูกส่งตัวไปยังแผนกจิตเวชของกองทัพ และถูกบังคับให้กินยาต้านอาการซึมเศร้าวันละ 2 ครั้ง เจ้าหน้าที่ในแผนกแนะนำให้เขาแสร้งว่าเป็นบ้า จะได้ถูกประเมินว่าไม่เหมาะกับการเป็นทหารและถูกขับไล่ออกจากกองทัพในที่สุด แต่คังปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น จากนั้นเขาก็พยายามฆ่าตัวตาย 2 ครั้ง จนถูกขังเดี่ยวโดยที่ถูกมัดแขนขาติดเตียงในห้องที่ไม่มีเสียงหรือแสงใดๆ หลังจากอยู่ในโรงพยาบาล 116 วัน เขาถูกขับไล่ออกจากกองทัพในปี 2009 ด้วยเหตุผลทางจิตเวช

คังเล่าว่า แม่ของคังตัดสินใจขายบ้าน เพื่อให้เขาย้ายไปอยู่และเรียนที่กรุงลอนดอนของอังกฤษ ซึ่งมีสังคมที่เปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศมากกว่า และตั้งแต่ปี 2016 ที่เขาย้ายไปเรียนที่ลอนดอน เขาก็นำประสบการณ์ในกองทัพออกมาถ่ายทอดเป็นศิลปะและหนังสือ แต่วีซ่าของคังกำลังจะหมดแล้ว ทำให้เขารู้สึกกังวลที่จะกลับไปยังประเทศบ้านเกิด


ที่มา : The New York Times, Channel News Asia


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :