ไม่พบผลการค้นหา
ป.ป.ช.มีมติชี้มูลอดีตเลขาธิการสภาฯ พร้อมพวก กรณีจัดจ้างโครงการปรับปรุงนาฬิกาภายในอาคารรัฐสภาเมื่อปี 2555 โดยดำเนินความผิดและวินัยร้ายแรงกับอดีตเลขาธิการสภาฯ ฐานกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทำให้สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้รับความเสียหาย

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 10 ส.ค. 2566 นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช.   แถลงว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูล วัชระชัยย์ หรือสุวิจักขณ์ นาควัชระชัยท์ หรือนาควัชระชัย พร้อมพวก กรณีจัดจ้างโครงการปรับปรุงระบบนาฬิกา (Clock system) สำหรับติดตั้งบริเวณภายในและโดยรอบอาคารรัฐสภา โดยมิชอบ ​​สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติมอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นเพื่อดำเนินการไต่สวนเบื้องต้น กรณีกล่าวหาวัชระชัยย์ หรือสุวิจักขณ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กับพวก รวม 16 ราย ว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีจัดจ้างโครงการปรับปรุงระบบนาฬิกา (Clock system) สำหรับติดตั้งบริเวณภายในและโดยรอบอาคารรัฐสภา โดยมิชอบ ทำให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้รับความเสียหาย 

โดย ​​คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้ ​​การดำเนินการทางอาญาและทางวินัย

1. การกระทำของวัชระชัยย์ หรือสุวิจักขณ์ นาควัชระชัยท์ หรือนาควัชระชัย และสุชนา ศรีสิยวรรณ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามกฎ ก.ร. ว่าด้วยวินัยข้าราชการรัฐสภาสามัญ พ.ศ. 2555 ข้อ 6 (1)

2. การกระทำของศราวุธ พงษ์สงวนสุข และบริษัท อิควิป แมน จำกัด มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 มาตรา 264 และมาตรา 268 วรรคสอง     ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน        และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 และมาตรา 268 วรรคสอง ได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด สิทธิการดำเนินคดีอาญาย่อมระงับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ให้ยุติการดำเนินคดีตามฐานความผิดดังกล่าว

3. การกระทำของ ดวงกมล อุดมกิจปัญญา และบริษัท พรีเชียส ไทม์ เทรดดิ้ง จำกัด มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ตามพระราชบัญญัติ   ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

4. การกระทำของ สมพงษ์ ปรีชาธนพจน์ พิสิฏฐ์ เกตุประเสริฐวงค์ สมคิด หรือชรัณ  ศึกขันเงิน หรือภู่พานิชพงศ์ และภัทร เสถียรกาล มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการ   ให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ และไม่ปฏิบัติตามแบบธรรมเนียมของทางราชการ ตามกฎ ก.ร. ว่าด้วยวินัยข้าราชการรัฐสภาสามัญ พ.ศ. 2555 ข้อ 2 (3) และข้อ 5

สำหรับความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ราย พิสิฏฐ์ เกตุประเสริฐวงค์ สมคิด หรือชรัณ ศึกขันเงิน หรือภู่พานิชพงศ์ และภัทร เสถียรกาล สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้มีคำสั่งลงโทษลดเงินเดือนเป็นการเหมาะสมแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องแจ้งผู้บังคับบัญชาลงโทษทางวินัยอีก

5. การกระทำของ ทวีเกียรติ เชาวลิตถวิล มานิตย์ หน่องพงษ์ คม แสงแก้ว และ สายสมร ตระกูลอำนวยผล มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง กรณีประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามกฎ ก.ร.ว่าด้วยวินัยข้าราชการรัฐสภาสามัญ พ.ศ. 2555 ข้อ 3 (4) และข้อ 6 (7)

6. การกระทำของ จุฑารัตน์ ลิขิตจิตถะ ในฐานะเจ้าหน้าที่พัสดุ มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ และไม่ปฏิบัติตามแบบธรรมเนียมของทำงานราชการ ตามกฎ ก.ร. ว่าด้วยวินัยข้าราชการรัฐสภาสามัญ พ.ศ. 2555 ข้อ 2 (3) และข้อ 5 ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้มีคำสั่งลงโทษลดขั้นเงินเดือน เป็นการเหมาะสมแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องแจ้งผู้บังคับบัญชาลงโทษทางวินัยอีก

สำหรับการกระทำของ จุฑารัตน์ ลิขิตจิตถะ ในฐานะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง กรณีประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามกฎ ก.ร. ว่าด้วยวินัยข้าราชการรัฐสภาสามัญ พ.ศ. 2555 ข้อ 3 (4) และข้อ 6 (7)

ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับนายวัชระชัยย์ หรือสุวิจักขณ์ นาควัชระชัยท์ หรือนาควัชระชัย สุชนา ศรีสิยวรรณ ศราวุธ พงษ์สงวนสุข บริษัท อิควิป แมน จำกัด ดวงกมล  อุดมกิจปัญญา และบริษัท พรีเชียส ไทม์ เทรดดิ้ง จำกัด และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และ คำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัยกับ สุวิจักขณ์ , สมพงษ์ , ทวีเกียรติ เชาวลิตถวิล ,มานิตย์ หน่องพงษ์ ,คม แสงแก้ว ,จุฑารัตน์ ลิขิตจิตถะ ,สายสมร ตระกูลอำนวยผล และ สุขนา ศรีสิยวรรณ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป