ไม่พบผลการค้นหา
ความโกลาหลของการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ หรือ 'เบร็กซิต' ยืดเยื้อยาวนาน และล่าสุดกำหนดการออกจากอียูเพิ่งถูกเลื่อนออกไปเป็นปี 2563 สร้างผลกระทบอย่างหนักให้กับภาคธุรกิจที่หาความแน่นอนไม่ได้

​ภาคธุรกิจในประเทศอังกฤษยังคงต้องเดินหน้าดิ้นรนอย่างต่อเนื่องเพื่อเอาตัวรอดในสถานการณ์ของความไม่แน่นอนของการพยายามแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ หรือ 'เบร็กซิต' โดยความกังวลของนักธุรกิจและบรรดานักลงทุนได้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นหลังจาก มีการเลื่อนกำหนดเบร็กซิตออกไปอีกครั้งเป็นครั้งที่ 3 โดยนายโดนัลด์ ทัสก์ ประธานรัฐสภายุโรปกล่าวว่า การเลื่อนเบร็กซิตครั้งนี้เป็นการเลื่อนกำหนดการแบบยืดหยุ่น โดยใช้คำว่า 'Flextension' หมายความว่า อังกฤษสามารถออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเมื่อไหร่ก็ได้จนถึงวันที่ 31 ม.ค. 2563

สำนักข่าว BBC รายงานว่าที่ผ่านมา ภาคธุรกิจค่อนข้างมีความมั่นใจในตัวของนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งหลังการลาออกของนางเทเรซา เมย์ อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ซึ่งยอมรับว่าเธอประสบความล้มเหลวในการนำพาอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกอียูตามที่ให้คำมั่นไว้ โดยบรรดานักธุรกิจและนักลงทุนเชื่อว่าจอห์สันจะสามารถยุติความไม่แน่นอนของกรณีเบร็กซิตได้อย่างทันท่วงทีตามที่เขาได้ประกาศอย่างชัดเจนหลังขึ้นดำรงตำแหน่งว่าอังกฤษจะต้องออกจากอียูอย่างแน่นนอนในวันที่ 31 ตุลาคม 2562

นอกจากนั้น BBC ยังระบุว่าภาคธุรกิจยอมทุกอย่างเพื่อให้กระบวนการเบร็กซิตจบลงโดยเร็วที่สุด แม้ว่าพวกเขาอาจจะต้องออกจากสหภาพยุโรปด้วยข้อตกลงที่อาจจะไม่เอื้อต่ออังกฤษ หรืออาจสร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศบ้างก็ตาม เช่นข้อตกลงที่อาจสร้างกำแพงทางการค้าที่มากขึ้นระหว่างอังกฤษและประเทศคู่ค้าขนาดใหญ่ทั่วโลก เพราะอย่างน้อยที่สุดสิ่งที่พวกเขาจะได้รับในทันทีก็คือ 'ความชัดเจน' อันจะนำไปสู่การผลักดันให้เกิดความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะเริ่มใช้จ่ายอย่างจริงจังอีกครั้ง หลังต้องยุติกิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ ไปชั่วคราวเพราะความไม่แน่นอนของสถานภาพอังกฤษกับอียู


ฮอนด้า-เบร็กซิต-อังกฤษ

พอล เดลส์ นักเศรษฐศาสตร์จาก Capital Economics ระบุในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าความล่าช้าของเบร็กซิตไม่ใช่หายนะใหญ่ของระบบเศรษฐกิจอังกฤษ เพราะจริงๆ แล้วมันคือการไม่จบไม่สิ้นของกระบวนการเบร็กซิตที่ถูกลากยาวออกไปเรื่อยๆ ต่างหาก ซึ่งรายงานการวิจัยของ Capital Economics ยังชี้ด้วยว่าการหดตัวของเศรษฐกิจในประเทศอังกฤษครั้งแรกในรอบ 7 ปีเมื่อไตรมาสที่ 2/2562 ที่ผ่านมา จะทำไปสู่ภาวะที่น่ากังวลใจอย่างมากในปี 2563 เพราะนักเศรษฐศาสตร์ของ Capital Economics ต่างคาดการณ์ว่าในปี 2563 เศรษฐกิจของอังกฤษจะโตเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ผลกระทบที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งที่เกิดจากการยืดเยื้อของเบร็กซิตตลอด 3 ปีที่ผ่านมาก็คือการเติบโตของการลงทุนจากภาคธุรกิจนั้นลดลงติดต่อกันถึง 5 ไตรมาสในช่วง 6 ไตรมาสล่าสุดที่ผ่านมา อ้างอิงจากข้อมูลทางการของรัฐบาลอังกฤษ นอกรายงานการวิจัยจาก Stanford University และ Bank of England ก็ระบุว่าความไม่แน่นอนของเบร็กซิตส่งผลให้การลงทุนลดลงทันที 11 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนผลิตภาพของประเทศก็ลดลงมากถึง 5 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาเดียวกัน 


AP-อียู-อังกฤษ-เบรกซิต-เบร็กซิต-เบรกซิท-Brexit

BBC ชี้ว่าภาคอุตสาหกรรมการผลิตของอังกฤษคือกลุ่มที่กระทบหนักที่สุดท่ามกลางความไม่แน่นอนของเบร็กซิต โดยกลุ่มผู้ค้า Make UK ยืนยัน 2 ใน 3 ของอุตสาหกรรมการผลิตต้องเผชิญกับผลกระทบทางลบอย่างต่อเนื่องจนทำให้ 2 ปีให้หลังแทบจะมองไม่เห็นกำไรในการดำเนินธุรกิจเลย

โดยสมาคมผู้ผลิตและจำหน่ายยานยนต์ของอังกฤษ หรือ Society of Motor Manufacturers and Traders ระบุว่า การลงทุนในภาคยานยต์ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ลดลงมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ไปอยู่ที่ประมาณ 90 ล้านปอนด์เท่านั้น 

ที่ผ่านมาบรรดาบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ต่างชาติต่างพากันถอนตัวออกจากอังกฤษและลดบทบาทของอังกฤษในการเป็นศูนย์กระจายสินค้าประจำภูมิภาคยุโรป บริษัทฮอนด้าของญี่ปุ่นก็ตัดสินใจปิดฐานการผลิตของตัวเองในอังกฤษลงกระทบพนักงาน 3,500 คนทันที ส่วนบริษัทนิสสันก็ยกเลิกแผนการการผลิตรถยนต์ X-Trail SUV ใหม่ในซันเดอร์แลนด์ลง อันเป็นเหตุมาจากความไม่แน่นอนที่ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้จากการเปลี่ยนผ่านของเบร็กซิต