ไม่พบผลการค้นหา
เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน วิพากษ์กรณีนายกรัฐมนตรีฉีดแอลกอฮอลล์ใส่หน้านักข่าว ชี้เป็นภาพสะท้อนทัศนะคติของผู้นำ บ่มเพาะการแกล้งกันเป็นเรื่องปกติ โดยมีอำนาจเหนือคนอื่น

จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ฉีดสเปรย์แอลกอฮอลล์ใส่กลุ่มสื่อมวลชน หลังถูกยิงคำถามเรื่อง พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล หวนกลับเข้าสู่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยการกระทำดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมและความเหมาะสมของผู้นำประเทศ

เช่นเดียวกับผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร หรือ หมอโอ๋ กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น รพ.รามาธิบดีฯ เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ได้โพสต์ข้อความระบุถึงกรณีดังกล่าวว่าไม่ใช่เรื่องสนุก เพราะสะท้อนให้เห็นทัศนคติของผู้นำ โดยมีเนื้อหาดังนี้

การแกล้งกันมันไม่ใช่เรื่องธรรมดา ข่าวนายกรัฐมนตรีเอาแอลกอฮอล์พ่นใส่หน้านักข่าว กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลกต่างชาติค่อนข้างซีเรียสกับข่าวที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับการที่เอาแอลกอฮอล์มาพ่นใส่กัน เพราะมันสร้างอันตรายกับอวัยวะสำคัญ บางคนแพ้และเสียชีวิตได้ และมันไม่ควรทำโดยคนเป็นผู้นำในสังคม

ตอนแรกหมอก็ชั่งใจว่าจะเขียนถึงดีหรือไม่จนรัฐมนตรีบางท่านออกมาแก้ต่าง ว่าเป็นการล้อกันสนุกๆ ของท่านนายกฯ อย่าไปคิดมาก

“ถ้าสื่อคิดมากแบบนี้ ต่อไปจะไม่เล่นด้วย”

“ก็นี่มันเมืองไทย”??!!

“ท่านก็แค่แหย่เล่น เครื่องฆ่าเชื้อที่ทำเนียบเสีย”

โดยหมอโอ๋ชี้ว่าปัญหาการ ล้อ แกล้งรังแก เป็นปัญหาใหญ่ในโรงเรียนของบ้านเรา ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ปัญหาการ ล้อ แกล้ง รังแก กลายเป็นปัญหาที่แก้ไม่ง่าย คือการที่ผู้ใหญ่ มีความเข้าใจว่าการแกล้งกัน มัน "เป็นเรื่องธรรมดา" และหลายคนมองว่า "ก็แค่ขำๆ"

“เพื่อนเขาก็แค่อย่าเล่น”

“เธอจะไปจริงจังทำไม”

“ถ้าแค่นี้เล่นไม่ได้ ต่อไปจะได้บอกไม่ให้เพื่อนเล่นด้วย

คำพูดและทัศนคติของผู้ใหญ่ทำให้เด็กหลายคนไร้ที่พึ่ง การแกล้ง การใช้ความรุนแรง เพื่อให้คนอื่นเจ็บแล้วหัวเราะได้... 


"ไม่ใช่เรื่องสนุก"

เด็กหลายคนกลายเป็นเด็กที่มีความสุข บนความทุกข์ของคนอื่นเด็กหลายคนไม่สนใจใครจะรู้สึกยังไง เอาให้ฉันมันส์ ฉันสนุกเข้าไว้ ก็เป็นพอ เด็กหลายคนมีความสุข ขบขัน แบบขาดความเห็นใจในความเดือดร้อนของผู้อื่น

หลายครั้งของทัศนคติเหล่านั้น เกิดจากการซึมซับจากผู้ใหญ่ ที่มองเรื่องแกล้งกันมัน "ช่างธรรมดา" หรือ "น่าสนุกจริงๆ"

เด็กหลายคนโดนแกล้งจากผู้ใหญ่ในบ้าน เด็กหลายคนโดนล้อ โดนแหย่ จนพบว่านี่เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตเด็กหลายคนเห็นการแกล้งกันในสื่อ ในโลกออนไลน์ จนกลายเป็น "ความเคยชิน" การเล่นสนุก ต่างจากการแกล้ง แหย่ 


คนเท่ากัน

นอกจากนี้เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ยังเห็นว่าการเล่นสนุก ต้องเกิดบนฐาน “อำนาจที่เท่ากัน” ไม่ควรมีใครที่มีอำนาจเหนือใคร และไม่ควรมีใครเดือดร้อนหรือเป็นอันตรายจากการเล่นนั้น  ไม่ใช่การแกล้งแบบที่ฉันสนุกฝ่ายเดียว หรือฉันทำได้เพราะมีอำนาจมากกว่า มองกลับกันว่าถ้าอีกฝ่ายจะทำเหมือนกัน แต่ทำไม่ได้ นั่นเป็นการแสดงถึงอำนาจที่ไม่เท่า

"การแกล้งกัน ไม่ควรทำให้มันเป็นเรื่องธรรมดา เราต้องยืนยัน ว่าไม่ควรมีใครต้องยอมรับกับการเป็นผู้ถูกกระทำและเราไม่ควรสนับสนุนการกระทำที่ไม่ถูกต้องโดยเฉพาะกับคนที่มีบทบาทเป็นต้นแบบของสังคม"