ไม่พบผลการค้นหา
18 ธนาคารอุ้มเอสเอ็มอีวงเงิน 1.8 แสนล้าน 70% ปรับโครงสร้างหนี้ 30% ปล่อยสินเชื่อใหม่

บริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) และสถาบันการเงิน 18 แห่ง ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในมาตรการสนับสนุนเงินทุนให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ภายใต้วงเงินกว่า 180,000 ล้านบาท

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า เงินจำนวนดังกล่าว จะแบ่งเป็นการรับผิดชอบในวงเงินกู้ที่แตกต่างกันออกไป โดยร้อยละ 70 ของเงินจะเป็นไปเพื่อการประคองสินเชื่อของลูกหนี้รายเดิมจากโครงการ PGS 5 - 7 และอีกร้อยละ 30 จะเป็นงบในส่วนของการปล่อยสินเชื่อลูกหนี้ใหม่

สำหรับยอดวงเงิน 180,000 ล้านบาท แบ่งเป็น :

  • 1. โครงการ "ต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย" ในวงเงิน 60,000 ล้านบาท สำหรับลูกหนี้รายใหม่
  • 2. การเพิ่มระยะเวลาค้ำประกันลูกหนี้รายภายใต้โครงการ PGS 5-7 เดิมอีก 5 ปี ภายใต้วงเงิน 70,000 ล้านบาท
  • 3. การเติมเงินหมุนเวียนภายใต้โครงการดีกำลัง 3 ด้วยวงเงิน 10,000 ล้านบาท และฟรีค่าธรรมเนียม 3 ปีแรก พร้อมค้ำประกันสูงสุด 10 ปี
  • 4. การเติมเงินหมุนเวียนภายใต้โครงการ PGS 8 ด้วยวงเงิน 40,000 ล้านบาท พร้อมฟรีค่าธรรมเนียม 2 ปีแรก และค้ำประกันสูงสุด 10 ปี

นอกจากนี้นายรักษ์เสริมว่า ล่าสุด บสย. มีการปลดล็อกที่จะเสริมสร้างความมั่นใจให้ธนาคารพาณิชย์ในการปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีด้วยการ ปรับอัตราการรับความเสียหายจากร้อยละ 30 เป็น 40

นายรักษ์ชี้ว่า สัดส่วนกว่าร้อยละ 70 เป็นไปเพื่อการประคองหนี้เพราะต้องการช่วยไม่ให้ผู้ประกอบการมีประวัติด่างพร้อยเพื่องานต่อการทำธุรกิจและเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญหน้ากับหนี้เสีย หรือ NPL

ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวเป็นความตั้งใจของรัฐบาลเพื่อต่อสู้กับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

มาตรการครั้งนี้ที่ได้รับความสนับสนุนจากธนาคารพาณิชย์ รวมถึง บสย.เข้ามาเป็นตัวกลางจะช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ถึง 142,000 คน พร้อมย้ำว่า หากมาตรการดังกล่าวมีแนวโน้มที่ดี รัฐบาลก็พร้อมสนับสนุนเพิ่มเติม

นายอุตตม อธิบายว่า นโยบายช่วยเหลือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการประคองไม่ให้ผู้กู้ตกไปอยู่ในบัญชีหนี้เสียหรือหนีที่มีปัญหา เป็นมาตรการในการอุ้มเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/2562 ที่เริ่มมีนโยบายการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน ผ่านมาตรการชิมช้อปใช้ ที่เม็ดเงินถูกหมุนเวียนไปยังเอสเอ็มอีในพื้นที่ต่างๆ นอกจากนี้ก็ยังมีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวต่างๆ 

ทั้งนี้ นายอุตตม ปิดท้ายเรื่องงบประมาณปี 2563 ว่าไม่อยากให้ฝ่ายใดกังวล เพราะรัฐบาลได้เตรียมทางออกไว้หมดแล้ว และย้ำว่า สำหรับโครงการที่เป็นการลงทุนผูกพันสามารถเบิกจ่ายได้ตามปกติ รัฐบาลมีงบสนับสนุนเพียงพอ