วันนี้ (28 พฤษภาคม 2568) นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร เข้าร่วมการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 2 ครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 โดยนายกรัฐมนตรีได้แถลงร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ต่อสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้
คณะรัฐมนตรีขอเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 โดยมีหลักการและเหตุผล ดังนี้
หลักการ ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 เป็นจำนวนไม่เกิน 3,780,600,000,000 บาท โดยเป็นการตั้งงบประมาณเพื่อชดใช้เงินคงคลังเป็นจำนวน 123,541,060,200 บาท
เหตุผล เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณได้มีกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับ ใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ที่รัฐบาลนำเสนอต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ต่อยอดการพัฒนาภาคการผลิต และบริการ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและความเสมอภาคทางสังคมดูแลคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประชาชน ผ่านการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทต่าง ๆ และนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ตามแถลงภาวะเศรษฐกิจของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ณ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 เศรษฐกิจไทยในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.3 - 3.3 โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐ การบริโภคภายในประเทศ และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดจากภาระหนี้สินภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง และมีปัจจัยเสี่ยงจากมาตรการกีดกัน ทางการค้าของสหรัฐอเมริกา ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และความผันผวนในภาคเกษตร สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 - 1.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 2.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ โดยเศรษฐกิจในปี 2569 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.3 - 3.3 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่การดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วง ร้อยละ 0.5 - 1.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลร้อยละ 2.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
สำหรับฐานะการคลัง หนี้สาธารณะคงค้าง ณ เดือนมีนาคม 2568 มีจำนวน 12,080,809.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง ของรัฐ ที่กำหนดไว้ต้องไม่เกินร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 เมษายน 2568 มีจำนวนทั้งสิ้น 252,124.8 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงฐานะและนโยบายการเงินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากนโยบายการค้าโลก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่ากรอบเป้าหมายจากราคาน้ำมันดิบโลกและมาตรการภาครัฐ ซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาค่าครองชีพและลดต้นทุน ของภาคธุรกิจ ด้านภาวะการเงินโดยรวมยังตึงตัว คณะกรรมการนโยบายการเงิน จึงมีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี ในการประชุมเดือนเมษายน 2568 เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งสามารถดูแลภาวะการเงิน ให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป สำหรับฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 มีจำนวน 237,045.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 2.4 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งจัดว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงนโยบายการคลังและความสัมพันธ์ระหว่างรายรับและงบประมาณรายจ่ายที่ขอตั้งว่า ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รวมถึงสนับสนุนการฟื้นตัวและส่งเสริมอัตรา การขยายตัวทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยประมาณการจัดเก็บรายได้จากภาษีอากรสุทธิ การขายสิ่งของและบริการ รัฐพาณิชย์ และ รายได้อื่น รวมทั้งสิ้น จำนวน 3,061,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 จากปีก่อน และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 141,000 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรร เป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,920,600 ล้านบาท และกำหนดวงเงินกู้ เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 860,000 ล้านบาท รวมเป็นรายรับทั้งสิ้น 3,780,600 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 มีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,780,600 ล้านบาท จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,652,301.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 70.2 รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 123,541.1 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 3.3 รายจ่ายลงทุน จำนวน 864,077.2 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 22.9 และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 151,200 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.0 โดยรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ที่เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 10,519.6 ล้านบาท
ทั้งนี้ สาระสำคัญของงบประมาณรายจ่าย ขอจำแนกการนำเสนอตามกลุ่มงบประมาณ และยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ ดังนี้
1. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำแนกตามกลุ่มงบประมาณ ประกอบด้วย
1.1 งบประมาณรายจ่ายงบกลาง จำนวน 632,968.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16.7 ของวงเงินงบประมาณ
1.2 งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ จำนวน 1,408,060.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 37.2 ของวงเงินงบประมาณ
1.3 งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ จำนวน 98,767.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.6 ของวงเงินงบประมาณ จำนวน 9 เรื่อง ได้แก่
1) ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
2) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
3) ต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ
4) เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย
5) บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
6) ป้องกันปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด
7) พัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต
8) รัฐบาลดิจิทัล
9) สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว
1.4 งบประมาณรายจ่ายบุคลากร จำนวน 820,820.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21.7 ของวงเงินงบประมาณ
1.5 งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน จำนวน 274,576.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.3 ของวงเงินงบประมาณ
1.6 งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ จำนวน 421,864.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.2 ของวงเงินงบประมาณ
1.7 งบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 123,541.1 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.3 ของวงเงินงบประมาณ
2. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ กำหนดไว้จำนวน 6 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ มีรายละเอียด การดำเนินงานที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ด้านความมั่นคง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 415,327.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.0 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อพัฒนาความมั่นคงของประเทศ จำแนกการดำเนินงานสำคัญ สรุป ดังนี้
1) การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ งบประมาณ 1,475.0 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
2) การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ งบประมาณ 5,418.3 ล้านบาท เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศแนวหน้าในภูมิภาคอาเซียน มีเกียรติภูมิ อำนาจต่อรอง และได้รับการยอมรับในสากล เป็นหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน
3) การป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด งบประมาณ 5,462.3 ล้านบาท เพื่อให้ปัญหายาเสพติดได้รับการแก้ไข เด็ก เยาวชน ผู้ใช้แรงงาน และประชาชนรู้เท่าทันและปลอดภัยจากยาเสพติด
4) การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ งบประมาณ 13,436.1 ล้านบาท เพื่อพิทักษ์รักษาและธำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ และสถาบันหลักของชาติ
5) การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง งบประมาณ 23,842.0 ล้านบาท เพื่อรักษาความมั่นคงภายในประเทศ ป้องกันภัยคุกคาม ภัยอาชญากรรมข้ามชาติ และความมั่นคงทางชายแดน ชายฝั่งทะเล
6) การพัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติและระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ งบประมาณ 26,685.5 ล้านบาท เพื่อบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภายในและภายนอกประเทศ
7) การรักษาความสงบภายในประเทศ การพัฒนาศักยภาพ การป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ งบประมาณ 92,519.9 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน อำนวยความยุติธรรมและบริการประชาชน รวมถึงส่งเสริม ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงมีความพร้อมที่จะเผชิญภัยคุกคามทุกรูปแบบ
8) การดำเนินงานภารกิจพื้นฐานและภารกิจอื่น งบประมาณ 40,621.5 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ งบประมาณ 205,867.3 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนภารกิจด้านความมั่นคง พัฒนา และเสริมสร้างการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข พัฒนากลไกการบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม และจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 394,611.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.5 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจ ของประเทศเติบโตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มีเสถียรภาพ และยั่งยืน จำแนกการดำเนินงานสำคัญ สรุป ดังนี้
1) การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ งบประมาณ 470.1 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม
2) การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล งบประมาณ 1,555.4 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในส่วนของโครงข่ายสื่อสารหลัก และบรอดแบนด์ความเร็วสูงที่มีคุณภาพ มั่นคง ปลอดภัย ให้ครอบคลุม ทั่วประเทศ
3) การพัฒนาความมั่นคงทางพลังงาน งบประมาณ 1,935.8 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมและพัฒนาปัจจัยแวดล้อมในการจัดหาพลังงาน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานทั้งระบบให้มีความมั่นคง
4) การขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ งบประมาณ 4,044.5 ล้านบาท เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และเป็นกลไกสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศ
5) การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง แข่งขันได้ งบประมาณ 4,196.0 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมและสร้างขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน ขยายตลาด และ มีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น
6) การพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต งบประมาณ 5,884.2 ล้านบาท เพื่อเพิ่มอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 4.8 โดยส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต
7) การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว งบประมาณ 8,075.1 ล้านบาท เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว ของประเทศ
8) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก งบประมาณ 8,341.1 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุน และ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
9) การพัฒนาพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ งบประมาณ 11,467.7 ล้านบาท เพื่อกระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมในทุกภูมิภาคของประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ระบบสื่อสาร ด้วยเทคโนโลยีระบบดิจิทัลที่ทันสมัย
10) การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม งบประมาณ 19,828.3 ล้านบาทเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อรองรับการต่อยอด สู่อุตสาหกรรม พัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้มีทักษะสูงขึ้น
11) การเกษตรสร้างมูลค่า งบประมาณ 35,054.9 ล้านบาทเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและผลิตภาพด้านการผลิต ภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น
12) การพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ งบประมาณ 211,963.0 ล้านบาท เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์และนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ
13) การดำเนินงานภารกิจพื้นฐานและภารกิจอื่น งบประมาณ 38,112.9 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ งบประมาณ 43,682.6 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่า
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 605,927.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16.0 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้คู่คุณธรรมและคุณภาพชีวิตที่ดี จำแนกการดำเนินงานสำคัญ สรุป ดังนี้
1) การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม งบประมาณ 3,447.7 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมและวัฒนธรรม ที่ดีงาม
2) การเสริมสร้างศักยภาพการกีฬา งบประมาณ 3,832.7 ล้านบาทเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนออกกำลังกายและเล่นกีฬาเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง
3) การเสริมสร้างให้คนมีสุขภาวะที่ดี งบประมาณ 71,868.0 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดีทั้งกายและใจ สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานสากล ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ
4) การพัฒนาคุณภาพการศึกษา การเรียนรู้ และศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต งบประมาณ 73,531.1 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ มีสุขภาวะที่ดี สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพเพื่อสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำ
5) การดำเนินงานภารกิจพื้นฐานและภารกิจอื่น งบประมาณ 23,533.8 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ งบประมาณ 429,714.0 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่า รวมทั้งสนับสนุน ให้สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ น้อมนำแนวพระราชดำริมาปรับใช้ในการพัฒนาสังคมและชุมชนในท้องถิ่น
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 942,709.2 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.9 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับสวัสดิการพื้นฐาน บริการสาธารณะอย่างทั่วถึงเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ จำแนกการดำเนินงานสำคัญ สรุป ดังนี้
1) การบริหารจัดการที่ดิน ทรัพยากรดิน และการส่งเสริมเศรษฐกิจ ฐานราก งบประมาณ 3,930.1 ล้านบาท เพื่อเพิ่มการกระจายการถือครองที่ดินทำกินให้กับเกษตรกรและประชาชนอย่างเข้าถึงได้และเป็นธรรม
2) มาตรการแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่มและการรองรับสังคมสูงวัย งบประมาณ 14,010.8 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชน กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษได้รับการคุ้มครองและ มีสวัสดิการสังคมที่เพียงพอเหมาะสมต่อการดำรงชีวิต สามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของรัฐและโอกาสทางสังคมได้อย่างเท่าเทียมและปลอดภัย
3) การส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ งบประมาณ 26,525.2 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดให้เป็นศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี
4) การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและสังคม งบประมาณ 101,641.2 ล้านบาท เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและมีมาตรฐาน
5) การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น งบประมาณ 380,144.5 ล้านบาท เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถพึ่งตนเองได้ในทุกมิติ ประชาชนในพื้นที่ได้รับบริการสาธารณะที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง
6) การสร้างหลักประกันและพลังทางสังคม งบประมาณ 407,119.0 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองและมีหลักประกันทางสังคม เช่น เพิ่มความสะดวกจากบริการพื้นฐานการแพทย์ใกล้บ้าน ผ่านนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ไม่น้อยกว่า 47,502,000 คน ฯลฯ
7) การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน งบประมาณ 665.6 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ งบประมาณ 8,672.8 ล้านบาท เพื่อให้ การดำเนินภารกิจด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม มีประสิทธิภาพ และเกิดความคุ้มค่า รวมทั้งสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ เพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วนเป็นกำลังของการพัฒนาประเทศในทุกระดับ
ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 147,216.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.9 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างการเติบโต อย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจภาคทะเล ส่งเสริมการรับมือกับภัยธรรมชาติ การจัดการมลพิษและสุขภาพประชาชน และการบริหารจัดการผลิตภาพน้ำทั้งระบบ จำแนกการดำเนินงานที่สำคัญ สรุป ดังนี้
1) การจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม งบประมาณ 1,144.2 ล้านบาท เพื่อให้ประเทศมีการบริหารจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ
2) การจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ งบประมาณ 2,368.3 ล้านบาท เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
3) การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และการสนับสนุนการสร้างการเติบโต บนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม งบประมาณ 7,660.9 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ ป้องกัน อนุรักษ์ และรักษาพื้นที่ป่าในความดูแล 99 ล้านไร่ พัฒนาและเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภท 9,604 ไร่ ส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ 37,300 ไร่ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้รับการป้องกันและควบคุมไฟป่าไม่น้อยกว่า 27.3 ล้านไร่
4) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และเสริมสร้างประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ งบประมาณ 107,485.7 ล้านบาท เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงด้านน้ำเพิ่มขึ้น โดยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน
5) การดำเนินงานภารกิจพื้นฐานและภารกิจอื่น งบประมาณ 10,826.5 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ งบประมาณ 17,731.3 ล้านบาท เพื่อรักษาพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติให้มีความสมบูรณ์ สนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรดินและแร่ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวง พัฒนาแหล่งอนุรักษ์พันธุ์พืช รวมทั้งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจภาคทะเล
ยุทธศาสตร์ที่ 6 : ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 605,441.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16.0 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อยกระดับการบริการภาครัฐ ให้มีขีดสมรรถนะสูง โดยเปลี่ยนผ่านไปสู่ราชการทันสมัยในระบบดิจิทัล การจัดการปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบ จำแนกการดำเนินงานสำคัญ สรุป ดังนี้
1) การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ งบประมาณ 961.2 ล้านบาท เพื่อทำให้ประเทศไทยปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ
2) รัฐบาลดิจิทัล งบประมาณ 6,921.7 ล้านบาท เพื่อยกระดับ การเปลี่ยนผ่านดิจิทัลภาครัฐให้ยืดหยุ่น คล่องตัว หน่วยงานภาครัฐสามารถ ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้บริการประชาชนและภาคธุรกิจ ได้อย่างเต็มศักยภาพ
3) การพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม งบประมาณ 17,881.0 ล้านบาท เพื่อพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา
4) การพัฒนาบริการประชาชนและการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ งบประมาณ 30,296.8 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบการบริการภาครัฐ ให้สามารถติดต่อราชการได้สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส ลดค่าใช้จ่าย และตรวจสอบได้
5) การสนับสนุนด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ งบประมาณ 408,337.7 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐสามารถปฏิบัติงานและให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง สนับสนุนการดำเนินงานด้านนิติบัญญัติ และเป็นค่าใช้จ่ายตามสิทธิและประโยชน์ต่าง ๆ ของบุคลากรภาครัฐที่กำหนดไว้ในงบกลาง
6) การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน งบประมาณ 25,890.4 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ งบประมาณ 115,152.8 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบงานของภาครัฐและพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรให้มีขีดความสามารถ ในการปฏิบัติงาน เกิดความคุ้มค่าในการดำเนินภารกิจของรัฐ
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงรายการค่าดำเนินการภาครัฐว่า รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ จำนวน 669,365.5 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.7 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ และชดใช้เงินคงคลัง ดังนี้
1) แผนงานบริหารเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 123,960.0 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง ภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ และเงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง รวมทั้งการกระตุ้นและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงวินัยทางการคลัง
2) การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 421,864.4 ล้านบาท เพื่อให้การบริหารจัดการหนี้และการชำระหนี้ภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ
3) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 123,541.1 ล้านบาท เพื่อเป็นรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังที่ได้จ่ายไปแล้ว ตามพระราชบัญญัติ เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
.
“ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ที่รัฐบาลเสนอในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติ ภายใต้ข้อจำกัดด้านรายได้และสถานการณ์เศรษฐกิจโลก รัฐบาลจึงดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุลเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยกำหนดวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,780,600 ล้านบาท เพื่อให้ หน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายงบประมาณที่ได้รับจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ทั้งในด้านความมั่นคง การสร้างความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปรับปรุงระบบราชการให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าได้อย่างมั่นคง ประชาชนได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายงบประมาณอย่างแท้จริง และเกิดผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” นายกรัฐมนตรี ย้ำ