ไม่พบผลการค้นหา
'ครูหยุย' เตรียมดัน 'กฎหมายสมรสเท่าเทียม' เข้าพิจารณาสมัยประชุมวิสามัญ มิ.ย. นี้ ยันทุกคนเห็นพ้องไม่ติดปัญหา

เมื่อเวลา 11.40 น. วันที่ 25 เม.ย. ที่รัฐสภา วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สว.ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ...หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม กล่าวว่าร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวได้มีการประชุมไปแล้ว 3 นัด ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่าเสร็จภายในสิ้นเดือน พ.ค. แน่นอน เพราะที่ประชุมมีการพิจารณาถ้อยคำในประเด็นหลักๆ เช่น สามี ภรรยา ชายหรือหญิง คู่สมรสหรือคู่ชีวิต จะเอาหรือไม่เอา รวมทั้งเรื่องการหมั้น การแต่งงาน เป็นต้น ซึ่งจะเหลือการประชุมอีก 10 ครั้ง แต่คิดว่าพิจารณาเพียง 5-6 ครั้งก็จะจบ โดยในต้นเดือนพ.ค. จะเชิญผู้แปรญัตติ 3 คน มาชี้แจง จากนั้นจะเป็นการพิจารณารายมาตรา ที่ขณะนี้มีการพิจารณาไปแล้ว 14 มาตรา จาก 68 มาตรา ดังนั้นขอยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมจะเสร็จภายในสิ้นเดือน พ.ค. เพื่อให้เข้าสู่วาระประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ ที่จะมีการเปิดประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 68 ในต้นเดือน มิ.ย. 

วัลลภ กล่าวต่อว่า นอกจากร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมจะเข้าสู่ที่ประชุมแล้ว ยังมีกฎหมายเกี่ยวกับการปราบปรามทุจริตคอรัปชั่น และการให้ความเห็นชอบบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการตรวจสอบประวัติฯ ที่มีพล.อ.อู๊ด เบื้องบน สว. เป็นประธาน ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่สว.จะต้องทำทุกอย่างให้เสร็จเรียบร้อย ก่อนที่จะพ้นจากวาระในวันที่ 10 พ.ค. 

เมื่อถามว่า ในชั้น กมธ.ที่พิจารณากฎหมายสมรสเท่าเทียมมีทิศทางเป็นอย่างไร วัลลภ กล่าวว่า ต้องชมว่าร่างที่มาจากภาคประชาชน เป็นร่างที่สนใจมาก เป็นการเทียบเคียงกับร่างเดิม คือกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เก่า และเอาบริบทความเข้าใจของสังคมไทยมาใส่ไว้ด้วย รวมทั้งเอาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาผสมผสาน รวมถึงมุมมองความคิดว่าโลกนี้เป็นโลกที่ไร้เพศ ที่ทุกเพศสามารถอยู่ด้วยกันได้ ซึ่งเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยแท้ และเมื่อร่างของร่างประชาชนเป็นเช่นนี้ ร่างของรัฐบาลก็รับร่างของประชาชนมาแล้ว 80% เมื่อมาถึงวุฒิสภาก็อาจมีบางประเด็นที่ข้องใจอยู่ เช่น ประเด็นที่ติดค้าง ทั้งเรื่องการหมั้นการแต่งเรื่องคำว่าชายหญิงควรมีหรือไม่ การรอไว้ 120 วันช้าไปหรือไม่ สามารถบังคับใช้ทันทีได้หรือไม่ เราได้มีการพูดคุยกันหมดแล้ว และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาอะไรเป็นที่หนักใจเลย

วัลลภ กล่าวต่อว่า ส่วนข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับศาสนานั้นทาง กมธ.ได้พูดคุยกันแล้ว ซึ่งหลักของกฎหมายที่เกี่ยวกับศาสนามีข้อเกี่ยวพันกับกฎหมายหลายฉบับ ที่ผ่านมาก็ปฏิบัติกันได้ เพราะได้รับข้อยกเว้นในหลักศาสนานั้นอยู่แล้ว เช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาก็ใช้หลักศาสนาเขาอยู่แล้ว นอกจากนี้ทางกระทรวงมหาดไทยก็ชี้แจงหากมีการอบรมเจ้าหน้าที่ก็จะเข้าใจได้ว่า การปฏิบัติหน้าที่คือการปฏิบัติหน้าที่ หลักศาสนาคือหลักศานา ไม่มีการบังคับกัน และมีข้อยกเว้นว่าถ้าเจ้าหน้าที่เป็นมุสลิม ไม่อยากจัดการสมรสหรือขึ้นทะเบียนให้กับบุคคลที่ต้องการจดทะเบียน เราก็สามารถที่จะเว้นการดำเนินการได้ โดยให้คนที่เป็นพุทธมาดำเนินการแทนได้ โดยประเด็นเหล่านี้ไม่ปัญหา ดังนั้น ขอให้สบายใจได้ว่า พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมได้ใช้แน่นอน


ลั่น สว.ชุดเก่า ไม่ควรยุ่งโหวตนายกฯ

วัลลภ กล่าวถึงกรณีที่ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อ.ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้จับตาช่วงรอยต่อระหว่าง สว.ชุดเก่ากับชุดใหม่ หากมีการเลือกนายกรัฐมนตรีเกิดขึ้นหลังวันที่ 10 พ.ค. สว.ชุดเก่ามีสิทธิ์โหวตนายกฯได้หรือไม่ว่า แม้ในรัฐธรรมนูญจะระบุว่าให้ สว.ชุดเก่าทำหน้าที่ไปจนกว่าจะมี สว.ชุดใหม่ก็ตาม แต่ตนเห็นว่า สว.ชุดเก่าไม่ควรเข้าร่วมประชุม และไม่ควรจะไปยุ่งด้วย ยิ่งอยู่ในช่วงจะหมดวาระ แต่ต้องทำหน้าที่ต่อก็เป็นการทำหน้าที่เฉพาะเรื่องที่ค้างอยู่เท่านั้น แต่ไม่ควรร่วมโหวตนายกฯ เพราะถือว่าทำให้เราเสียหาย ที่ผ่านมาเราก็โดนหนักแล้ว พอเสียที 

เมื่อถามถึงกรณีที่หากมีคนไปยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยอำนาจ สว.ชุดเก่า หากต้องเลือกนายกฯในช่วงนั้นจริงๆ วัลลภ กล่าวว่า ไม่ต้องไปถามศาลฯ เขาไม่เลือกกันหรอก ตนเชื่อว่า สว.ไม่ทำหน้าที่เด็ดขาด เพราะที่ผ่านมาก็ย่ำแย่ไปตามๆกันแล้ว สำหรับคนที่ไปใช้มติเสี่ยง แต่สำหรับตน รู้สึกเฉยๆ เพราะไม่ได้ทำอะไรผิด และเห็นว่าใครทำอย่างไรก็รับอย่างนั้น