ไม่พบผลการค้นหา
'จีน' ร่วม 'อาลีเพย์' สร้างคิวอาร์โค้ดบอกสถานะการติดเชื้อไวรัสฯ นักวิจัยชี้ส่วนหนึ่งรัฐบาลต้องการสอดแนมประชาชน

หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์คไทมส์รายงานมาตรการการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019-nCoV ของรัฐบาลจีนด้วยการร่วมมือกับ 'แอนท์ไฟแนนซ์เชียล' บริษัทในเครืออาลีบาบา กรุ๊ป สร้างคิวอาร์โค้ดแสดงสถานะการอนุญาตเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประชาชนผ่านสมาร์ทโฟน 

'อาลีเพย์เฮลโค้ด' เริ่มให้บริการครั้งแรกทางตะวันออกของหางโจว ซึ่งเมืองหลวงของมณฑลเจ้อเจียง และมีการนำไปใช้แล้วกว่า 200 เมือง โดยประชาชนจะต้องลงทะเบียนกับแอปกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของแอนท์ ไฟแนนซ์เชียล ที่ชื่อว่า 'อาลีเพย์' จากนั้นผู้ใช้งานก็จะได้คิวอาร์โค้ดที่แสดงสี 3 แบบ คือ เขียว เหลือง และแดง โดยสีที่ได้รับจะเป็นการแสดงสถานะสุขภาพของผู้ใช้งาน โดยสีเขียวหมายถึงสุขภาพปกติสามารถออกไปทำงานได้ ขณะที่ผู้ได้รับคิวอาร์โค้ดสีเหลืองแปลว่าให้กักตัวอยู่ในบ้าน 7 วัน และผู้ที่ได้รับโค้ดสีแดงต้องกักตัวประมาณ 2 สัปดาห์

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานจากแอนท์ ไฟแนนซ์เชียล ไม่ได้ออกมาอธิบายว่าแอปพลิเคชันดังกล่าวะประมวลผลข้อมูลของประชาชนอย่างไร แต่ทางฝั่งผู้พัฒนาแอปฯ อธิบายเพียงเล็กน้อยว่า ระบบประมวลผลให้ข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) เข้ามาเป็นปัจจัยหลักในการสรุปข้อมูลผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อ 

ตามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ ณ วันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีประชาชนในมลฑลเจ้อเจียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแสดงคิวอาร์โค้ดไปแล้วกว่าร้อยละ 90 ของประชากรทั้งหมดในมลฑล และมีผู้ที่ได้คิวอาร์โค้ดสีเขียวราวร้อยละ 98.2 จากจำนวนผู้ดาวน์โหลดทั้งสิ้น ส่งผลให้ทราบว่ามีผู้อยู่ในสถานะคิวอาร์โค้ดสีเหลืองและแดงทั้งสิ้นเกือบ 1 ล้านคน 

ปัจจุบันการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะในเมืองหางโจวแทบต้องแสกนคิวอาร์โค้กทุกครั้ง นอกจากจะเป็นไปเพื่อการตรวจสอบสถานะทางสุขภาพของประชากร ข้อมูลด้านการเดินทางรวมถึงข้อมูลอื่นๆ ยังถูกส่งไปให้กับตำรวจ ซึ่งสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาติดตามประชาชนต่อได้ในภายหลัง 

เทคโนโลยีและผลข้างเคียง

การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่รัฐยิ่งทำให้เส้นบางๆ ที่กั้นระหว่างบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของจีนออกจากรัฐบาลบางลงเรื่อยๆ 

แม้ที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีของจีนจะมีการส่งข้อมูลให้กับรัฐบาลจีนอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็มีไม่บ่อยที่เป็นการส่งข้อมูลของผู้ใช้งานให้กับเจ้าหน้าที่โดยตรง อย่างไรก็ตาม การส่งข้อมูลผู้ใช้งานให้กับรัฐโดยตรงก็มีเช่นกันในกรณีที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ ใช้แอปฯอย่างแอมะซอนและเฟซบุ๊กในการติดตามเชื้อไวรัสโคโรนา 

'โจว เจียงยง' เลขาธิการพรรคคอมมิวนิตส์ในเมืองหางโจว ชี้ว่า ระบบโค้ดสีสุขภาพเป็นมาตรการสำคัญในการพัฒนาการจัดการเมืองทางดิจิทัลให้ดียิ่งขึ้น และย้ำว่าควรมีเครื่องมีการเพิ่มการใช้งานเครื่องมีดังกล่าวมากขึ้น 

ขณะที่ 'มายา หวัง' นักวิจัยชาวจีนที่ทำงานให้กับฮิวแมนไรท์วอทช์ ชี้ว่าที่ผ่านมา รัฐบาลจีนมักใช้ช่วงโอกาสใหญ่ๆ ในการเก็บข้อมูลของประชาชน อาทิ มหกรรมโอลิมปิคปี 2008 และ "การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ใหญ่ที่รัฐใช้สอดแนมประชาชน" 

อ้างอิง; NYT, ABS-CBN