ไม่พบผลการค้นหา
คปน.อีสานจี้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งกรรมการตรวจสอบกระบวนการจัดทำอีไอเอโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล พร้อมระงับกระบวนการทั้งหมดในภาคอีสาน

ที่อำเภอว่าการอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ตัวแทนสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ รับฟังข้อมูลคณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล หรือ คปน.ภาคอีสาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่คัดค้านกระบวนการจัดทำอีไอเอโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ในภาคอีสาน 5 กรณีปัญหา 6 จังหวัด โดยมีตัวแทนคปน.เข้าร่วมกว่า 100 คน ซึ่งในการพูดคุยกลุ่มดังกล่าวได้เสนอให้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งกรรมการตรวจสอบกระบวนการจัดทำอีไอเอและให้ทำหนังสือถึงบริษัทระงับกระบวนการจัดทำอีไอเอไว้ก่อน ในขณะที่รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับข้อเสนอและจะรีบรวบรวมข้อมูลเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในอาทิตย์หน้า

ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานคปน.ภาคอีสาน กล่าวว่า หลังจากที่ทางตัวแทนได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 62 โดยมีข้อเสนอให้ยกเลิกแผนผลักดันโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้น เนื่องจากเมื่อปลายปี 2558 สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลซึ่งผูกขาดด้วยผู้ประกอบการรายใหญ่ 6 กลุ่ม สามารถตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ หรือย้ายขยายกำลังผลิตไปตั้งยังที่แห่งใหม่ รวมกับโรงงานที่ได้รับอนุญาตตามมติ ครม. ปี 2554 ในภาคอีสานจะมีไบโอฮับเป็นศูนย์กลางในพื้นที่ฐานการผลิต และจะมีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 30 โรงงาน 

S__6733834.jpg

โดยความชัดเจนเริ่มปรากฏชัดเมื่อแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นถูกกำหนดและผูกขาดด้วยทุนขนาดใหญ่ รวมถึงกระบวนการในการแก้ไขกฏหมายและระเบียบของภาครัฐเอื้อต่อการลงทุน เพิ่มกลไกให้กลุ่มทุนขยายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นในรูปแบบของพลังประชารัฐ และสามารถวางกรอบนโยบายไว้ในแผนพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจชีวภาพ ผ่านการผลักดันของคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 

คือคณะทำงานด้านการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ ในวันนี้ตัวแทนทั้ง 5 กรณี 6 จังหวัดในภาคอีสานที่มีแผนผลักดันโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล บางพื้นที่เริ่มมีการเปิดโรงงานกำลังดำเนินการบางพื้นที่อยู่ระหว่างการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น บางพื้นที่ทางบริษัทที่ปรึกษารับฟังความคิดเห็นเสร็จแล้ว โดยปัญหาแต่ละพื้นพบว่า พื้นที่ซึ่งมีแผนดำเนินการก่อสร้างนั้นเป็นพื้นที่ไม่เหมาะสมเนื่องจากใกล้ วัด ชุมชน โรงเรียน

ขณะที่แหล่งน้ำสำคัญของชุมชน ที่สำคัญไม่มีวัตถุดิบหลักคืออ้อยกระบวนการจัดตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลควรไปดำเนินการในพื้นที่ซึ่งมีวัตถุดิบอ้อยจริงๆ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มกำไรชาวไร่อ้อย ขณะเดียวกันชาวบ้านไม่เคยรับรู้ข้อมูลข่าวสารมาก่อนว่าจะมีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลเกิดขึ้นในพื้นที่ และกระบวนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นชาวบ้านที่มีความเห็นต่างกลับถูกกีดกันโดยเจ้าหน้าที่รัฐ 

จึงได้มีข้อเสนอต่อสำนักปลัดสำนักนายรัฐมนตรีที่ลงพื้นที่เพื่อมารับฟังข้อมูลคือ 1.ให้ยกเลิกโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคอีสาน 2.ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบกระบวนการรับฟังความคิดเห็นกรณีดังกล่าว โดยให้คปน.ภาคอีสานเข้าไปมีส่วนร่วม 3.ให้ระงับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและตรวจสอบกระบวนการรับฟังความคิดเห็น 4.ให้มีการประเมินยุทธศาสตร์การพัฒนารายพื้นที่ และทั้งภาคอีสานและให้ศึกษาข้อเสนอต่อโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล ภาคอีสาน

ทางด้านนายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก่อนลงมาพื้นที่ในวันนี้ก็ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ อุตสาหกรรม พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาเข้าร่วมด้วยในวันนี้ ซึ่งกำหนดการในวันนี้ช่วงเช้าจะรับฟังปัญหาและข้อเสนอของกลุ่มที่คัดค้านเสร็จแล้วจะลงพื้นที่ ในช่วงบ่ายจะรับฟังกลุ่มที่สนับสนุน และในวันที่ 12 พ.ย. 62 จะประชุมร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ในการรับฟังข้อเสนอของกลุ่มที่คัดค้านทางสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จะรวบรวมข้อมูลข้อเสนอของกลุ่มที่คัดค้านในประเด็นข้อเสนอ ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ในกระบวนการจัดทำอีไอเอ และประเด็นข้อเสนออื่นๆที่ทางกลุ่มคัดค้านได้เสนอเพื่อนำเสนอให้นายกรัฐมตรีดพิจารณาในอาทิตย์หน้า

S__6733831.jpg