ไม่พบผลการค้นหา
องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมอีสานตอบโต้ หลัง ครม.ปลดล็อคเอื้อนายทุน ไม่สนใจคนอีสานและสิ่งแวดล้อม ชี้ในอนาคตคนอีสานจะเสียที่ดินมากขึ้น

จากกรณีหลังจาก ครม. ได้อนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการให้ตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (ฉบับที่...) พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 โดยสรุป คือ การแก้ไขบทนิยามคำว่า “โรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ” เพื่อให้ครอบคลุมทุกประเภทกิจการของโรงงานลำดับที่ 42 

คือ โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับ เคมีภัณฑ์ สารเคมี หรือวัสดุเคมี ตามที่ระบุในบัญชีท้ายกฎกระทรวง (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และ กำหนดข้อยกเว้นในการตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบให้สามารถขออนุญาตตั้งโรงงานได้ แม้จะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลไม่ถึง 50 กิโลเมตร แต่ต้องได้รับความยินยอมจากโรงงานน้ำตาลในพื้นที่นั้น

ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน กล่าวว่า หลังจากเห็น มติ ครม. ตามหนังสือพิมพ์บางฉบับกล่าวแสดงว่ารัฐบาลไม่ได้นำข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ที่ได้แสดงข้อมูลและผลกระทบอย่างกว้างขวางที่จะเกิดขึ้นหากมีการขยายโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล

โดยเฉพาะพื้นที่อำนาจเจริญที่ชาวบ้านยังคัดค้านกันอย่างหนัก เพราะชาวบ้านในพื้นที่เป็นห่วงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม แต่รัฐบาลไม่เคยหยิบยกข้อเรียกร้องจากชาวบ้านที่คัดค้านมามาพิจารณา แต่กลับไปให้ความสำคัญกับนายทุนก่อนเสมอนั้นจึงสะท้อนถึงความไม่จริงใจของรัฐบาล คสช. ที่ไม่ให้ความสำคัญกับชาวบ้าน และสิ่งแวดล้อมเลย 

อีกทั้งไม่ได้มีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาราคาอ้อยที่ต่ำกว่าต้นทุนมายาวนานกว่า 10 ปี การปลดล็อกให้โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงงานเอทานอล โรงงานเคมีชีวภาพต่าง ๆ เช่น ไบโอพลาสติก ไบโอก๊าซ พลาสติกชีวภาพ เคมีภัณฑ์ หรือแม้แต่สารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตยา เครื่องสำอาง ฯลฯ ไม่ต้องมีค่าขนส่งวัตถุดิบ สามารถตั้งได้ในบริเวณเดียวกันกับโรงงานน้ำตาลเดิม จะส่งผลให้เอกชนสามารถขยายการลงทุนได้ในพื้นที่เดิมแล้ว ยังได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และการส่งเสริมด้านการทำวิจัยและพัฒนาโดยใช้งบประมาณของรัฐผ่านหน่วยงานสถาบันต่างๆ ด้วย

นายสิริศักดิ์ สะดวก กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลาที่รัฐบาล คสช. ยึดอำนาจเข้ามาบริหารประเทศ มีแต่มุ่งหน้าทำงานเพื่อเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนอย่างโจ่งแจ้ง โดยไม่ได้แยแสต่อข้อกังวลและผลกระทบต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของชาวบ้าน และความขัดแย้งที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ ภาคอีสานจึงเสนอให้รัฐประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภัยทางสิ่งแวดล้อมประชาชนต้องมีสิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม

ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน กล่าวว่า มติ ครม.ทำให้เห็นชัดว่านโยบายประชารัฐของรัฐบาล คสช. เป็นนโยบายที่กินรวบในพื้นที่ประชาชนคนอีสาน โดยรัฐบาลให้น้ำหนักกับอุตสาหกรรมเป็นตัวตั้งดูได้จากการเอื้อให้กลุ่มทุน 3 กลุ่มได้จัดสรรปันส่วนโดยไม่เห็นหัวคนอีสาน 

โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้คือ 1.การที่มีมติ ครม.เปิดทางให้กลุ่มทุนลงทุนนั้นจะเป็นการทำให้ในอนาคตคนอีสานจะเสียที่ดินมากขึ้น

2.รัฐไม่เคยเห็นการมีส่วนร่วมของประชาชนเลย แสดงให้เห็นว่าเสียงคัดค้านของประชาชนรัฐไม่ให้ความสนใจเลยในยุคนี้

3.นโยบายการจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล ที่รัฐกำลังผลักดันผันน้ำโขงเข้ามาทางภาคอีสานก็เพื่ออุตสาหกรรมที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ใช่เพื่อการเกษตรอย่างที่บางหน่วยงานกล่าวอ้าง 

นอกจากนี้อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ภาพของการผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพ อุตสาหกรรมชีวภาพของนายทุนใหญ่ 3 ราย ประเด็นใหญ่ที่แสดงเป้าหมายสะท้อนเบื้องหลังการบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หน้าที่ของรัฐบาลคือการออกนโยบายที่เสนอโดยนายทุน ขับเคลื่อนเพื่อผลประโยชน์ของนายทุน และยังสะท้อนภาพที่ชัดเจนของพยายามของรัฐบาลที่ต้องสืบทอดอำนาจต่อให้ได้ ในช่วงเวลาที่กำลังจะมีการเลือกตั้งนี้ ประเด็น bioeconomy และอุตสาหกรรมชีวภาพที่บังคับยัดเยียดให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานจะสั่นคลอนความมั่นคงของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน