ไม่พบผลการค้นหา
อาสาสมัครราว 3,000 คน เดินหน้าโครงการปลูกป่าครั้งใหญ่ในเมืองเลเรีย ซึ่งเป็นผืนป่าเก่าแก่สุดของประเทศโปรตุเกส ทว่าเกิดความเสียหายร้ายแรงจากโศกนาฏกรรมไฟไหม้เมื่อเดือนมิถุนายน และตุลาคมปีก่อน
000_1360VR.jpg

ต้นสนจำนวน 67,500 ต้น ถูกแจกจ่ายให้กับอาสาสมัครราว 3,000 คน เพื่อทยอยนำไปปลูกลงบนพื้นที่ป่าในเขตปีโดรเกา กรานเด (Pedrogao Grande) เมืองเลเรีย (Leiria) ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคกลางของประเทศโปรตุเกส และเพิ่งฟื้นสภาพจากการเหตุการณ์เปลวเพลิงสีแดงจ้าเผาไหม้จนกลายเป็นขี้เถ้า นับเป็นโศกนาฏกรรมไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์

“เหตุการณ์ไฟไหม้ป่าในเดือนตุลาคม ทำให้เราสูญเสียป่าสนของเมืองเลเรียไปมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น หน้าที่ที่ยิ่งใหญ่กำลังรอพวกเราอยู่เรื่อยๆ เนื่องจากการปลูกป่าต้องทำให้ได้ประมาณ 22 ล้านต้น” ซิดาเลีย เฟอร์ไรรา (Cidalia Ferreira) นายกเทศมนตรีของแคว้นมารินฮา แกรนเด (Marinha Grande) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าอายุ 800 ปีกล่าว

เดิมที ผู้คนที่อาศัยอยู่แถบภาคกลางของโปตุเกสมักเดินทางมาพักผ่อน หรือปิกนิกกับครอบครัวในป่าเมืองเลเรีย ขณะที่ต้นไม้ในผืนป่าเมืองเลเรียส่วนใหญ่นิยมนำไปต่อเรือ เพื่อใช้ออกเดินเรือในศตวรรษที่ 15-17 จนทำให้โปรตุเกสกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางทะเล

000_1361GE.jpg

เหตุการณ์ไฟไหม้ป่าในโปรตุเกสเมื่อเดือนมิถุนายน และตุลาคมปีที่แล้ว ส่งผลให้ผืนป่าถูกทำลายกว่า 520,000 เฮกเตอร์ หรือขยายวงกว้างเกือบ 52 เท่าของลิสบอน (Lisbon) เมืองหลวงของโปรตุเกส หรือคิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ป่าทั้งหมดในสหภาพยุโรปที่ถูกทำลายในปี 2017

นอกจากนั้น โศกนาฏกรรมไฟไหม้ป่าครั้งเลวร้ายสุดในประวัติศาสตร์ ยังทำให้มียอดผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 114 คน โดยเหยื่อรายล่าสุดเพิ่งเสียชีวิตจากบาดแผลของเธอเมื่อวันเสาร์ (24 มี.ค. 2561) ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม อาสาสมัครคืนชีวิตใหม่ให้ผืนป่าสนได้รับการสนับสนุนจากทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ดับเพลิง โดยการริเริ่มของรัฐบาล เพื่อช่วยกันกู้คืนพื้นที่ที่ถูกทำลาย

“เราจะสร้างป่าสนขึ้นมาใหม่ เพื่อในอนาคตเด็กๆ ของเราได้หายใจเอาอากาศที่สะอาดเข้าไป นั่นเป็นสิ่งที่กระตุ้นผม” โจเซ ไดโอนิซิโอ (Jose Dyonisio) หนึ่งในอาสาสมัครกล่าวว่า