ไม่พบผลการค้นหา
‘จาตุรนต์’ เร่ง 'ปธ.สภา' บรรจุวาระแก้ รธน. หลังศาลตีตกคำร้อง ชี้หากไม่แก้ พ.ร.บ.ประชามติก่อน จะสะดุดอีก

วันที่ 19 เม.ย. จาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องที่รัฐสภาส่งไปให้วินิจฉัยสืบเนื่องจากการที่ประธานรัฐสภาไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่นายชูศักดิ์ ศิรินิลกับคณะเสนอ ด้วยเหตุผลว่าไม่ใช่กรณีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาที่เกิดขึ้นแล้ว ผมเห็นว่าหากจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลเสนอต่อรัฐสภาไว้เดินหน้าต่อไปได้ น่าจะเหลือเพียงทางเดียวคือประธานรัฐสภาบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าระเบียบวาระเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาต่อไป หากประธานรัฐสภาไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าระเบียบวาระก็จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ไปอีกนาน ซึ่งเท่ากับเป็นการจำกัดอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาเอง ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ห้ามไว้

มีประเด็นว่ารัฐสภาจะดำเนินการให้เกิดการทำประชามติเสียก่อนการบรรจุเข้าระเบียบวาระได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ได้

การทำประชามติในขั้นตอนก่อนที่รัฐสภาเห็นชอบในวาระที่สามไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หากจะอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๔/๒๕๖๔ ที่ว่า “หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่…จึงวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่“

คำถามคือขณะนี้รัฐสภาต้องการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วหรือยัง ซึ่งก็ชัดเจนอยู่แล้วว่ายัง รัฐสภาจึงไม่มีช่องทางที่จะทำให้เกิดการทำประชามติในขั้นตอนนี้ได้ การทำประชามติจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรัฐสภาเห็นชอบร่างแก้ไขในวาระที่สามแล้ว

อาจมีคำถามว่าหากประธานสภาสั่งให้บรรจจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าระเบียบวาระและรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไข แล้วมีการร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญจะทำอย่างไร คำตอบก็คือเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างไร รัฐสภาก็ทำไปตามนั้น ไม่มีอะไรเสียหาย

ส่วนที่มีการเสนอให้ครม.เป็นผู้ดำเนินการให้มีการทำประชามติตามข้อเสนอของคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาศึกษาเรื่องการทำประชามตินั้น หากจะทำก็ได้ แต่การทำประชามติแบบนั้นจะเป็นเพียงการสอบถามความเห็นจากประชาชนเท่านั้น ไม่มีผลตามรัฐธรรมนูญและไม่มีผลผูกพันรัฐสภาแต่อย่างใด เมื่อมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วที่ประชุมรัฐสภาไม่เห็นชอบ ร่างก็ตกไป

การทำประชามติโดยครม.เป็นผู้ดำเนินการจะมีประโยชน์อยู่บ้างก็คือทำให้การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าต่อไปได้และไม่มีใครตั้งคำถามอีกว่า "ถามประชาชนแล้วยัง" ข้อเสียก็คือถ้าทำประชามติแล้วไม่ผ่าน การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะยุติลงเพียงเท่านี้ และคงไม่อาจมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปอีกนานหรือตลอดไป

นอกจากนั้นการทำประชามติโดยครม.ยังมีประเด็นที่ไม่ตกผลึกคือจะตั้งคำถามกี่ข้อและถามว่าอย่างไร คำถามที่ควรถามจริงๆ คือจะให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ แต่ถ้าไปตั้งคำถามที่เกินจำเป็น อาจทำให้ประชามติไม่ผ่านเพราะการตั้งคำถามผิดตั้งแต่ต้นก็ได้

สำหรับการทำประชามติที่จะเกิดขึ้นนั้น ไม่ว่าจะทำกี่ครั้งก็ตาม เงื่อนไขที่สำคัญมากยังอยู่ที่จะต้องแก้พรบ.ประชามติเสียก่อน หากทำโดยพรบ.ประชามติฉบับปัจจุบัน โอกาสที่จะผ่านความเห็นชอบจะน้อยมากจนเกือบเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้นจึงจำเป็นนที่ต้องแก้พรบ.ประชามติโดยเร็วที่สุด การแก้พรบ.ประชามตินี้มิได้ต้องการเงื่อนไขพิเศษหรือพิสดารอะไร แต่แก้เพื่อให้การทำประชามติใช้หลักเกณฑ์ที่ถูกต้องคือหลักเกณฑ์เดียวกันกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2560 นั่นเอง

การจะได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยหรือรัฐธรรมนูญของประชาชนเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นในการที่สังคมไทยจะก้าวหน้าพัฒนาต่อไป เรื่องนี้นอกจากเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองหลายพรรคให้สัญญาประชาคมไว้ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาแล้ว ยังเป็นนโยบายที่รัฐบาลแถลงไว้ต่อรัฐสภาด้วย ดังนั้นแม้ยังมีอุปสรรคขวากหนามอีกมาก ทั้งรัฐบาล รัฐสภาและพรรคการเมืองตลอดจนประชาชนผู้ต้องการให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยก็ต้องร่วมกันหาทางแก้ปัญหาเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าต่อไปจนประสบความสำเร็จในที่สุด

ที่มา : https://www.facebook.com/photo/?fbid=968662124624474&set=a.345566913600668