ไม่พบผลการค้นหา
ทีมนักวิจัยจากแดนอาทิตย์อุทัยคิดค้นกระบวนการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จาก ‘เปลือกไม้’ ที่ให้ความรู้สึกคุ้นลิ้นคล้ายๆ ‘สาเก’ และเตรียมออกวางจำหน่ายในอีก 3 ปีข้างหน้า

หากโกวเล้ง (Gu Long) นักเขียนนวนิยายกำลังภายใน ผู้ได้รับฉายาว่า ‘ปีศาจสุรา’ ยังมีชีวิตอยู่ในปี 2018 เขาอาจจะไม่เอ่ยประโยคที่ว่า “ข้ามิได้พึงใจในรสชาติสุรา แต่ข้าพึงใจในบรรยากาศของการร่ำสุรา” แล้วก็เป็นได้

เพราะช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา รสชาติซับซ้อนของวิสกี้ บรั่นดี ไวน์ ค็อกเทล และคราฟต์เบียร์แฝงกลิ่นหอมนวล กลายเป็นเรื่องน่าค้นหามากกว่าบรรยากาศ หรือบทสนทนา ซึ่งท้าทายนักดื่มที่ชื่นชอบแสวงหาสิ่งใหม่ๆ ในการดับกระหายไม่น้อย

อีกไม่นานเกินรอ ผู้คลั่งไคล้ในศาสตร์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คงเนื้อเต้นไปกับมิติใหม่ในการร่ำสุรา หลังจากตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2009 ทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัยป่าไม้ และผลิตภัณฑ์จากป่า (Forestry and Forest Products Research Institute - FFPRI) ประเทศญี่ปุ่น ริเริ่มการศึกษากระบวนการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เรียกกันว่า เอทานอล (Ethanol) ที่พิเศษกว่าวิธีการแบบเดิมๆ ซึ่งมักใช้แป้ง น้ำตาล หรือเส้นใย โดยพวกเขาเลือกหยิบ ‘เปลือกไม้’ รอบๆ ตัวมาเป็นวัตถุดิบหลักในกระบวนการผลิตแทน

จนกระทั่งระยะเวลา 9 ปีผ่านไป พวกเขาสามารถพิสูจน์ให้โลกเห็นแล้วว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากเปลือกไม้ สามารถดื่มด่ำได้สบายๆ ปลอดภัย ไม่ตาบอด และคุณสมบัติก็คล้ายๆ กับสุราที่บ่มด้วยถังไม้ นั่นหมายความว่า คุณสามารถดื่มด่ำกับธรรมชาติแท้จริงผ่านแก้วเครื่องดื่มเย็นๆ ได้ทุกวันหลังเลิกงาน ขอเพียงแค่จิบเบาๆ และอย่าเมาขาดสติเสียก่อน

ที่สำคัญคือ ตามตำราภูมิศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่น แบ่งพื้นที่ออกเป็น 47 จังหวัด กระจายตาม 8 ภูมิภาค และโดดเด่นแตกต่างกันไปในหลากหลายแง่มุม นั่นทำให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากเปลือกไม้จะกลายเป็นเรื่องน่าค้นหา ด้วยรสชาติแบบท้องถิ่น และกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งแน่นอนว่า มันจะพานักดื่มหลุดพ้นจากกิจวัตรประจำวันที่ซ้ำซากจำเจ และปล่อยวางอารมณ์ได้ชั่วขณะหนึ่ง

ทว่าหากใครกำลังรู้สึกเปรี้ยวปากอยากลิ้มรสสัมผัสใหม่ๆ ในชีวิตคงต้องอดใจรออีกสักนิดหน่อย เพราะความรื่นรมย์ของแอลกอฮอล์ชนิดใหม่จะพร้อมเสิร์ฟแก่ลูกค้าในปี 2021 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า

Wood

เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตเอทานอลแตกต่างกันไปตามประเภทวัตถุดิบ ทำให้ในกระบวนการศึกษาของทีมนักวิจัยจากสถาบันป่าไม้ฯ พวกเขาต้องบดเปลือกไม้ก่อนผ่านปฏิกิริยาไฮโดรไลซิส (Hydrolysis) ด้วยเอนไซม์ จนออกมาเป็นน้ำตาล แล้วเติมยีสต์ลงไปหมักน้ำตาลให้กลายเป็นแอลกอฮอล์ที่ดื่มได้ นอกจากนั้น ทางทีมนักวิจัยพยายามหลีกเลี่ยงการใช้พลังงานความร้อนในการย่อยสลายไม้ เพราะต้องการสร้างรสสัมผัส และเก็บรักษากลิ่นอันเป็นธรรมชาติจากต้นไม้

สุราจากเปลือกไม้ทำออกมา 2 เวอร์ชันทั้งแบบชง และกลั่น โดยผลิตจากสนซีดาร์ (Cedar) ต้นเบิร์ช (Birch) และต้นเชอร์รี โดยสนซีดาร์ปริมาณ 4 กิโลกรัม สามารถสกัดเครื่องดื่มออกมาได้ 3.8 ลิตร และมาพร้อมดีกรีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงพอๆ กับไวน์ข้าว หรือสาเก

ทางด้านเคนโกะ มาการะ (Kengo Magara) หนึ่งในทีมนักวิจัยที่คิดค้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากเปลือกไม้กล่าวว่า แอลกอฮอล์ที่กลั่นออกมาถือเป็นเครื่องดื่มคุณภาพดี

“กระบวนการผลิตของเราสามารถทำให้มันดื่มได้ และมาพร้อมกลิ่นไม้ด้วย เพราะมันไม่ต้องใช้ความร้อนสูง หรือกรดซัลฟิวริกในการย่อยสลายไม้”

สถาบันวิจัยป่าไม้ฯ เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น เปี่ยมไปด้วยเงินทุน และทรัพยากรมหาศาลในการศึกษาค้นคว้าทุกสิ่งที่เกี่ยวกับป่าไม้ของประเทศ และมาการะก็ยอมรับอีกด้วยว่า การคิดค้นรูปแบบใหม่ๆ ของการดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นเรื่องเล็กน้อย

“มันน่าเป็นเรื่องน่าสนใจเมื่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถทำจากสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา เช่น ต้นไม้ และทั่วประเทศญี่ปุ่นก็อุดมสมบูรณ์ด้วยต้นไม้ ดังนั้น ผู้คนสามารถเพลิดเพลินกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากต้นไม้ ซึ่งคุณลักษณะเป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันไปตามภูมิภาค” มาการะกล่าว

อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยวาดหวังไว้ว่า ในอนาคตอันใกล้ บริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะสนใจเข้ามาเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ ช่วยสนับสนุนเรื่องการจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากเปลือกไม้ที่รสชาติเป็นเอกลักษณ์ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม: