ไม่พบผลการค้นหา
ในปาฐกถาดิเรก ชัยนาม ครั้งที่ 2 ของศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ‘ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร’ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึง ‘ 3 ปริศนาความเหลื่อมล้ำ’ สังคมไทย พร้อมชี้แจงแถลงไขถึงสาเหตุ ทางออก และช่องโหว่

ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำมีหลายมิติ ทั้งวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา รายได้ ความมั่งคั่ง การเข้าถึงสวัสดิการสาธารณะ เช่น การศึกษา และความยุติธรรม อีกทั้งยังมีความเหลื่อมล้ำแอบแฝง ที่บางครั้งเรามองไม่เห็น ความเหลื่อมล้ำต่างประเภทเหล่านี้ ล้วนเกี่ยวโยงกันไปหมด 

ดังนั้นในฐานะที่ตนเป็นนักเศรษฐศาสตร์การเมือง จึงจะพยายามตอบปริศนาความเหลื่อมล้ำด้วยกรอบคิดดังกล่าว 

ปริศนาข้อแรก : ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาหรือไม่

จากประสบการณ์ที่ศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำมานานกว่า 30 ปี และได้พบทั้งนักวิชาการและไม่ใช่นักวิชาการบางคน บอกว่า ไม่ต้องสนใจเรื่องนี้ เพราะมีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่า เช่น จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจเติบโต หรือบางคนมองว่า จำเป็นต้องมีความเหลื่อมล้ำเพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนทำงานหนัก ทำให้เศรษฐกิจเติบโต

แต่ขณะนี้ นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกและเป็นจำนวนมากต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอุปสรรคทำให้เศรษฐกิจชะงักงันได้ ซึ่งเป็นผลจากหลายประเทศเผชิญกับความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้นมาก รวมถึงในประเทศที่นับว่ารวยที่สุด เช่น สหรัฐอเมริกา และประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุดคือ จีน ขณะที่ทั่วโลกก็วิตกกังวลกับผลลัพธ์ของความเหลื่อมล้ำสูง 


“เดิมนักเศรษฐศาสตร์อาจมีแนวคิดว่า ความเหลื่อมล้ำทำให้เศรษฐกิจโตเร็ว แต่ขณะนี้ส่วนใหญ่กลับเห็นตรงกันข้าม เพราะมีการศึกษาเปรียบเทียบจากหลายประเทศในโลก มีข้อค้นพบในขณะนี้ว่า ประเทศที่ยิ่งเหลื่อมล้ำสูง ยิ่งโตช้าลง”


เพราะประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงขาดความเชื่อมต่อ จึงตกลงกันไม่ได้ว่าใช้นโยบายอะไร และที่ร้ายที่สุดคือสังคมมีความขัดแย้งวุ่นวายไม่รู้จบ จนท้ายที่สุด เศรษฐกิจหยุดอยู่กับที่ หรือโตช้าลงมาก

“ความเหลื่อมล้ำต่างๆ ในสังคมเราเป็นปัจจัยหลักที่อยู่เบื้องหลังความยุ่งยากทางการเมืองในช่วงประมาณ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ใช่ มันมีปัจจัยอื่นๆ ที่โยงกับกลุ่มคน แต่ความเหลื่อมล้ำเป็นปัจจัยรากฐานแน่นอน”

“อีกทั้งไม่ใช่ความเหลื่อมล้ำที่เป็นตัวเลขทางสถิติ แต่เป็นความเหลื่อมล้ำที่รู้สึกได้ อีกนัยหนึ่งสะท้อนว่า สังคมได้เดินทางมาถึงจุดวิกฤต เมื่อเกิดความรู้สึกว่า สังคมนี้ไม่แฟร์ ความรู้สึกนี้ได้ขยายวงไปสู่คนจำนวนมากขึ้น และจุดวิกฤตจะบังเกิด เมื่อคนจำนวนมากรู้สึกว่า ช่องว่างชักจะเกินเลยจนขาดความชอบธรรม” ศ.ดร.ผาสุก กล่าว

ขณะที่หลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ ก็เคยได้กล่าวว่า “ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาระดับชาติ และควรถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นที่รัฐบาลควรมาแก้ไข” 

ข้อเสนอของ พล.อ. ประยุทธ์ จึงชี้นำคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญชุดแรกของรัฐบาล คสช. ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ ศ.ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ

แต่เมื่อความวุ่นวายจางหาย ประเด็นความเหลื่อมล้ำก็หลุดออกจากความสนใจ รัฐบาล คสช. ถูกวิจารณ์ว่าไม่ได้มีความคิดริเริ่มใหม่ๆ ที่จะลดความเหลื่อมล้ำลงได้อย่างมีนัยสำคัญ 

อย่างไรก็ตาม ในยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ 6 ด้าน คสช. ได้รวมยุทธศาสตร์ด้านสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมเอาไว้ด้วย พร้อมได้ทำนโยบาย 2-3 เรื่องที่อาจมีผลลดความเหลื่อมล้ำ คือ 1. การผ่านพระราชบัญญัติภาษีมรดก 2. จัดให้มีบัตรคนจน และ 3. เมื่อเดือน เม.ย. 2561 ได้เห็นชอบให้มีพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ในแง่หนึ่ง แม้ คสช. ประกาศลดความเหลื่อมล้ำ แต่ คสช. ก็ได้คุกคามที่จะเปลี่ยนโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จนดูเหมือนต้องการยกเลิกกลับไปเป็นแบบเดิม ทั้งที่นักวิจัยจำนวนมากชี้ว่าโครงการนี้ลดความเหลื่อมล้ำได้ผล และน่าจะต้องทำให้ยั่งยืนและปรับปรุงให้ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณไม่มากและคุ้มค่า จนทำให้ประเทศไทยมีชื่อเสียงไปทั่วโลก 


“นโยบายลดความเหลื่อมล้ำมีน้อย แต่นโยบายเพิ่มช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนกลับมีมากขึ้น”


สะท้อนจากค่า GINI ที่เป็นดัชนีวัดความเหลื่อมล้ำได้ผงกหัวขึ้นมาอีก หลังจากลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 

ขณะที่ทีมเศรษฐกิจของ คสช. บอกชัดว่า ความเหลื่อมล้ำของสังคมจะลดลงเอง เมื่อเศรษฐกิจเติบโตเร็วจากผลของเศรษฐกิจไหลริน หรือ Clicker Down Effect จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น อีอีซี แสดงนัยว่า ไม่มีต้องมีนโยบายหรือปฏิรูปอะไรเป็นพิเศษอีกก็ได้

จนอาจกล่าวได้ว่า ภายใต้สภาพการเมืองและแนวนโยบายในปัจจุบันไม่อาจคาดหวังให้ความเหลื่อมล้ำลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญในเวลาอันใกล้ในประเทศไทย 

อีกทั้งในประเทศไทยปัจจุบัน การพูดถึงความเหลื่อมล้ำและทางออกของสังคมไทยเช่นเมื่อ 4 ปีที่แล้วหายไป เพราะประชาชนถูกบอกให้เงียบ และการกำราบปราบปรามไม่ให้แสดงความเห็นง่ายกว่าที่จะจัดการการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ 

กลับเป็นคำถามว่า เมื่อการพูดถึงหายไป แต่ความรู้สึกว่าสังคมเราไม่แฟร์กลับไม่ได้หายไป และสังคมไทยได้ตระหนักรู้ถึงความไม่แฟร์ความไม่เป็นธรรมหลากหลายรูปแบบมากขึ้น เช่น กรณีเรดบูลลอยนวลรอดเงื้อมมือกฎหมาย หรือกรณีเศรษฐีนักธุรกิจใหญ่สามารถล่าเสือดำในป่าสงวน รวมถึงกรณีทายาทตระกูลเศรษฐีนักธุรกิจใหญ่ยื่นคำร้องขอรับความช่วยเหลือการประกันตัวจากกองทุนกระทรวงยุติธรรม ซึ่งสื่อสังคม (โซเชียลมีเดีย) ได้เปิดให้คนแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งสำคัญมาก

อีกทั้งการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน ยิ่งเปิดให้คนไทยมีโอกาสเปรียบเทียบสังคมไทยกับสังคมอื่นๆ อย่างกว้างขวาง ซึ่งมีผลกระทบต่อทัศนคติและโลกทัศน์ของผู้คนจะมีมากขึ้น และเกิดความตื่นตัวรับรู้ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมของสังคมไทยเพิ่มมากขึ้น


“ถ้าถามว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาหรือไม่ คำตอบคือ ถ้ามีคนว่าในสังคมเราไม่แฟร์ ย่อมเป็นปัญหาแน่นอน” ศ.ดร.ผาสุก กล่าว


ปริศนาข้อสอง : ถ้าจะแก้ไขความเหลื่อมล้ำ ต้องใช้เงินมากหรือไม่ เป็นคำถามที่ผิด แต่ต้องถามคือ ต้นทุนสังคมที่เหลื่อมล้ำสูงขนาดไหน

ศ.ดร.ผาสุก ระบุว่า คนจำนวนมากอาจคิดว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำต้องใช้เงินมาก และกระทบกับภาษีที่ต้องจ่าย 

“นี่เป็นวิธีคิดที่ผิด คำถามที่ตั้งก็ผิด เพราะความเหลื่อมล้ำที่สูงในปัจจุบันเป็นต้นทุนที่เรามองไม่เห็น และไม่ได้พูดถึงกันมากนัก แต่ควรถามว่า หากไม่มีความตั้งใจลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ ต้นทุนหรือผลกระทบด้านลบต่อสังคมคืออะไร” 

จากการศึกษาวิจัยชี้ว่า ความเหลื่อมล้ำสูงทำให้เศรษฐกิจโตช้าลง และเป็นต้นทุนของเศรษฐกิจ อันแรกคือตั้งแต่ความขัดแย้งทางการเมืองที่เข้มข้นขึ้นช่วงกลางทศวรรษ 2000 และสืบเนื่อง 10 ปี ทำให้เศรษฐกิจไทยโตช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านร้อยละ 1-2 ต่อปี และมีคนประมาณการคร่าวๆ ได้ว่า หากไม่มีปัญหานี้ จีดีพีไทยจะโตประมาณร้อยละ 15 ต่อปี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และน่าจะทำให้คนไทยรวยขึ้นร้อยละ 15 โดยเฉลี่ย 

ต้นทุนที่สอง เมื่อมีความเหลื่อมล้ำสูงสร้างปัญหาสุขภาพ เช่น ป่วยง่าย กระทบสุขภาพทางจิต ใช้ยาเสพติดมาก และใช้ความรุนแรงต่อกัน จึงเพิ่มต้นทุนให้แก่สังคมโดยรวมในรูปรายจ่ายด้านสุขภาพสูง แต่ความสามารถหรือผลิตภาพการทำงานต่ำ เพราะสุขภาพไม่ดี

ต้นทุนที่สาม ระบบเศรษฐกิจเสียโอกาสที่จะได้ประโยชน์จากผลงานของประชาชนของแต่ละคนอย่างเต็มศักยภาพของเขา เพราะไม่ได้เรียนหนังสือ หรือเรียนอย่างไร้คุณภาพ อีกทั้งมีการประมาณการว่า มีเยาวชนในสังคมไทยอย่างน้อย 3-4 ล้านคน ที่อยู่ในระบบโรงเรียนและไม่ได้อยู่ระบบโรงเรียนที่ล้วนเผชิญกับปัญหาความยากจน ที่ทำให้เขาไม่สามารถเรียนได้ตลอดรอดฝั่ง

ดังนั้น จึงมี 2 เรื่องใหญ่ที่รัฐบาลต้องทำอย่างจริงจัง คือ การศึกษาและสวัสดิการสังคม โดยการศึกษาจะเป็นเครื่องมือให้เยาวชนสามารถเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองด้วยตนเองได้ ส่วนเรื่องสวัสดิการสังคม เช่น ระบบบริการสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อรองรับสังคมสูงอายุ และการส่งเสริมสุขอนามัยของแม่และเด็ก ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศ


“รายจ่ายเหล่านี้ ไม่ได้สูงมาก เมื่อเทียบกับต้นทุนของสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำได้ก่อขึ้น คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่หายไป การเสียสุขภาพ และความสูญเสียที่สังคมไม่ได้ประโยชน์เต็มที่จากประชาชนที่มีคุณภาพ”


ดังนั้น ถ้าถามว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ต้องใช้เงินมากหรือไม่ คำตอบคือ ตั้งคำถามผิด แต่ต้องถามใหม่ว่า ต้นทุนของการเป็นสังคมเหลื่อมล้ำสูงนั้นสูงเท่าใด

ปริศนาข้อสาม : แก้ไขความเหลื่อมล้ำทำอย่างไร

ศ.ดร.ผาสุก มีข้อเสนอเชิงนโยบาย 2 เรื่อง คือ การศึกษา และสวัสดิการทางสังคม สำคัญมาก ซึ่งประเทศที่ให้ความสำคัญแก่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ จะเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับ 2 เรื่องนี้ 

ในเรื่องสวัสดิการสังคม เช่น บำนาญ สุขภาพ เงินอุดหนุนครอบครัวที่มีปัญหา ผู้ทุพพลภาพ ชดเชยคนตกงาน การฝึกอาชีพใหม่ ด้านที่อยู่อาศัย และอื่นๆ อีก แทบทุกสังคมยอมรับว่า การใช้จ่ายด้านการศึกษาเป็นการลงทุนที่จำเป็น แต่เรื่องสวัสดิการสังคมอื่นๆ ยังไม่เป็นที่ยอมรับกันนัก

โดยประเทศกำลังพัฒนามักมองว่า เป็นความสิ้นเปลืองงบประมาณสาธารณะ นี่อาจเป็นการได้รับอิทธิพลจากนักเศรษฐศาสตร์และวิชาการอื่นๆ บางกลุ่มที่พร่ำว่า โครงการรัฐสวัสดิการนั้นไม่ดี เพราะไม่ช่วยเพิ่ม productivities (ผลิตภาพ) แต่ก็มีนักเศรษฐศาสตร์บางคนเห็นต่างที่ชี้ว่า ในภาพใหญ่ ประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้ต่อหัวประชากร และผลิตภาพสูง ไม่ว่า เยอรมนี อังกฤษ หรือ ฝรั่งเศส ล้วนมีขนาดของรัฐสวสัดิการที่ใหญ่ และหากมองย้อนไปสู่อดีตในศตวรรษที่ 20 ประเทศเหล่านี้มีอัตราการเติบโตสูงกว่าปัจจุบัน และมีการศึกษาว่ารัฐบาลเหล่านี้ลงทุนด้านสุขภาพและการศึกษาอย่างแข็งขัน จนประชาชนมีสุขภาพและทักษะดี เป็นคุณูปการต่อการเพิ่มผลิตภาพและการเติบโตของเศรษฐกิจ

ที่สำคัญ เมื่อระบบสวัสดิการทำให้คนมีความมั่นคงในชีวิตสูงขึ้น พวกเขาจึงพร้อมจะเผชิญความเสี่ยงและพร้อมที่จะลงทุนและช่วยทำให้เศรษฐกิจเติบโต

“ส่วนไทยจะมีรัฐสวัสดิการได้หรือไม่ อาจไม่ได้อยู่ที่ว่าประเทศไทยมีเงินพอหรือไม่ แต่อยู่ที่รัฐบาลมีความมุ่งมั่นทางการเมือง ที่จะให้สิทธิพลเมืองในเรื่องนี้จริงจังบ้างไหม”

เพราะแหล่งที่มาของเงินเพื่อใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคม สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว ต้องได้มาจากรายรับภาษีของรัฐบาล ดังนั้นความสามารถในการจัดเก็บภาษีให้ได้ในระดับที่จะนำมาใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคม จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

งานศึกษาของคณะเศรษฐศาตร์ จุฬาฯ นอกจากจะออกแบบระบบภาษีที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไรแล้ว ยังชี้แนวทางเพิ่มรายได้รัฐ จากการเก็บภาษีที่น่าสนใจ จากการศึกษาทำให้พบว่า กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีจากรายได้ประเภทเงินเดือนได้เก่ง คือ เก็บภาษีจากผู้มีรายได้จากน้ำพักน้ำแรง จากค่าจ้างเงินเดือนของทุกคน กรมสรรพากรเก็บได้ถ้วนทั่วตามกฎหมาย แต่รายได้ประเภทกำไร ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า ซึ่งเราอาจเรียกรวมว่า รายได้จากการลงทุน ซึ่งไม่ได้มาจากน้ำพักน้ำแรง กลับเก็บภาษีได้น้อยกว่ามากๆ แล้วคนที่มีรายได้แบบนี้มักเป็นคนรวยที่มีความสามารถจ่ายภาษีได้สูง 

ที่สรรพากรเก็บภาษีจากรายได้ที่ได้จากการลงทุนได้น้อยมากนัก ปัญหาสำคัญคือมีการแทรกแซงทางการเมืองสูง คนฐานะดีสามารถหลุดรอดจากการเสียภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ระบบภาษีมีรายการยกเว้นมาก จนในที่สุดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น 

เช่น ตุรกี ที่เดิมมีอัตราภาษีไม่ต่ำกว่าไทย แต่ได้ปรับปรุงระบบภาษีโดยอุดช่องโหว่ต่างๆ ทำให้ปัจจุบันตุรกีเก็บภาษีได้ร้อยละ30 ของจีดีพี ขณะใกล้ค่าเฉลี่ยของประเทศกลุ่ม OECD คือร้อยละ 34 ส่วนประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 18 ของจีดีพี และอยู่ในระดับนี้มาเป็นเวลานานแล้ว แม้ว่าจีดีพีจะเพิ่มสูงขึ้น 

ธนาคารโลกเคยประมาณการว่า หากไทยอุดช่องโหว่ต่างๆ ในการบริหารการจัดเก็บภาษีทั้งระบบ รัฐบาลจะสามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 5 ของจีดีพี (ปัจจุบันจีดีพีไทยประมาณ 13 ล้านล้านบาท) ซึ่งมหาศาล เพราะระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าใช้เงินน้อยกว่านี้มากๆ 

ปัจจุบันสวัสดิการต่างๆ ที่รัฐบาลไทยจัดให้ประชาชนทั้งด้านสุขภาพและการศึกษา แต่ไม่รวมบัตรคนจน คิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของจีดีพีเท่านั้น ขณะที่ OECD ใช้เงินสำหรับสวัสดิการทั้งหมดประมาณร้อยละ 22 โดยเฉลี่ย และบางประเทศใช้มากถึงร้อยละ 30-40 ของจีดีพี 

ในเรื่องนี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เคยคำนวณว่า หากจะให้พลเมืองไทยทุกคนมีสิทธิได้รับสวัสดิการถ้วนหน้าขั้นพื้นฐาน เป็นพลเมืองสุขภาพดี มีคุณภาพเต็มที่จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนตามแนวคิดของ ศ.ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ต้องใช้เงินประมาณร้อยละ 12.5 ของจีดีพี โดยสวัสดิการจะประกอบด้วยเงินช่วยเหลือแม่ตั้งแต่ตั้งภรรค์ถึงจนเด็กอายุ 6 ขวบ การศึกษาฟรี 15 ปี บำนาญคนละ 1,000 บาทต่อเดือน และมีโครงการฝึกทักษะ ระบบสุขภาพถ้วนหน้า และการอุดหนุนผู้พิการ เป็นงบประมาณที่ต้องการเพิ่มอีกร้อยละ 2.5 ของจีดีพี ซึ่งเงินเพิ่มนี้ สามารถหาได้จากการปรับปรุงระบบภาษี หากตั้งใจทำให้สำเร็จ จะได้เงินเพิ่มอีกร้อยละ 5 ของจีดีพี ซึ่งมากกว่าเงินที่ต้องการ

นอกจากนี้ หากริเริ่มให้มีภาษีใหม่ๆ เช่น ภาษีความมั่งคั่ง หรือ wealth tax รวมถึงภาษีที่ดินในอัตราที่ไม่สูงมาก ถือว่าเป็นการรวมกันของประชาชนส่วนใหญ่ที่สะท้อนความต้องการที่จะเป็นสังคมเดียวกันทั้งคนรวยคนจน ก็จะเพิ่มการจัดเก็บภาษีได้อย่างน้อยร้อยละ 1 ของจีดีพี 

“ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าจะหาเงินมาใช้จ่ายสำหรับการทำสวัสดิการสังคมไม่ได้ แต่อยู่ว่ารัฐบาลตั้งใจจะทำหรือไม่”

“การแก้ไขความเหลื่อมล้ำต้องใช้เวลา ถ้าไม่เริ่ม เราก็จะไม่ถึงเป้าหมาย ถ้าพิจารณาสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำ เช่น ญี่ปุ่น หรือประเทศแถบสแกนดิเวีย คนที่โน่นให้คุณค่าแก่ความเท่าเทียมกับความเป็นธรรมสูง โดยพร้อม���ี่จะจ่ายภาษีเพื่อรักษาสังคมเช่นนั้นไว้เพื่ออนาคต เพราะเป็นสังคมที่ไร้ความขัดแย้งที่สาหัส เพราะเป็นสังคมที่น่าอยู่”


“ขอตอบปริศนาความเหลื่อมล้ำ 3 ข้อที่ว่า หนึ่ง ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาหรือไม่ ตอบ หากยังมีคนคิดว่า สังคมเราไม่แฟร์ เป็นปัญหาแน่ สอง หากจะแก้ไขต้องใช้เงินมากใช่มั้ย ตอบ ตั้งคำถามผิด แต่ต้องถามใหม่ว่า ต้นทุนของการเป็นสังคมเหลื่อมล้ำสูงเท่าไร และสาม แก้ไขได้ไหม ตอบ ได้ และไม่ยากอย่างที่คิด” ศ.ดร.ผาสุก กล่าวสรุป


ข่าวเกี่ยวข้อง :