ไม่พบผลการค้นหา
ผลงานวิจัยของสถาบันฯ ป๋วย ชี้ผู้ถือหุ้นเพียง 500 คน ถือครองหุ้นถึงร้อยละ 36 ของภาคธุรกิจไทย สะท้อนภาพการผูกขาด-กระจุกตัวทางเศรษฐกิจ-เหลื่อมล้ำด้านรายได้ พร้อมเผย 10 อุตสาหกรรมที่กลุ่มทุนมีผลต่อการกระจุกตัว อันดับต้นๆ ได้แก่ ผลิตสุรา-เบียร์-ขายส่งเครื่องดื่มและยาสูบ

เว็บไซต์บลูมเบิร์กรายงานอ้างอิงงานวิจัยของ ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดวันที่ 15 ต.ค. บ่งชี้ว่า ร้อยละ 36 ของผลกำไรรวมจากภาคเอกชนทั้งหมด อยู่ในมือของผู้ถือหุ้นเพียง 500 คนเท่านั้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,100 ล้านบาท ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของประชาชนไทยทั่วไป จะอยู่ที่ประมาณ 300,000 บาทต่อปีเท่านั้น 

บลูมเบิร์กรายงานว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ โดยอ้างอิงข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐไทยที่สำรวจครั้งล่าสุดเมื่อปี 2017 ขณะที่ธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ เคยระบุว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก 

ส่วนปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ คือ การกระจุกตัวทางเศรษฐกิจและการผูกขาดธุรกิจบางด้านในมือกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มทุนดั้งเดิมที่สืบทอดความร่ำรวยจากบรรพบุรุษหรือกิจการของตระกูลใหญ่เพียงไม่กี่ตระกูล เมื่อผนวกกฎเกณ์บางประการที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มบุคคลสำคัญทางเศรษฐกิจ ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำได้อย่างชัดเจนขึ้น

งานวิจัยดังกล่าวเตือนว่า ประเทศไทยจะต้องส่งเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันทางธุรกิจ และลดผลประโยชน์หรือผลกำไรที่เกิดจากการผูกขาด รวมถึงต้องส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดอื่นๆ เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม

บลูมเบิร์กระบุด้วยว่า นายกฤษฎ์เลิศได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยครั้งนี้จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก หรือ UCSD ซึ่งเขาดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ที่ School of Global Policy & Strategy 

กราฟิกจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์
  • กราฟิกจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

ทั้งนี้ งานวิจัยของ ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ร่วมกับ ดร.ชานนทร์ บรรเทิงหรรษา เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ถือหุ้นของบริษัทในประเทศไทยกว่า 3.3 ล้านรายการ ครอบคลุมธุรกิจที่จดทะเบียนกว่า 8.8 แสนราย และผู้ถือหุ้นกว่า 2.1 ล้านราย ได้ฉายภาพโครงสร้างความเป็นเจ้าของของภาคธุรกิจไทยหลายประการ

ผู้วิจัยพบว่า รายการการถือครองหุ้นโดยตรงในสัดส่วนที่น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนหุ้นในแต่ละบริษัทมีจำนวนมากที่สุด รองลงมาเป็นการถือหุ้นระหว่าง 49-50 เปอร์เซ็นต์ และการถือหุ้นมากกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ซึ่งรายการการถือหุ้นต่ำกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ หรือสูงกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ ที่มีจำนวนมากนั้นเป็นการสะท้อนถึงข้อบังคับของการกำหนดจำนวนผู้ถือหุ้นขั้นต่ำของบริษัทจดทะเบียนที่ยังมีผลบังคับใช้ในปี 2560 ส่วนรายการการถือหุ้นในสัดส่วน 49-50 เปอร์เซ็นต์ มีจำนวนค่อนข้างสูงสะท้อนถึงข้อจำกัดทางกฎหมายของการถือครองหุ้นในบางธุรกิจ หรือการประกอบการธุรกิจร่วมทุนที่ฝ่ายหนึ่งต้องการถือหุ้นเกินกึ่งหนึ่งเพื่อควบคุมการดำเนินกิจการของบริษัท

เมื่อนักวิจัยได้วิเคราะห์เครือข่ายการถือหุ้นระหว่างบริษัทในภาคธุรกิจไทยโดยนิยามว่าบริษัทสองแห่งมีความสัมพันธ์ผ่านการถือหุ้นเมื่อบริษัทหนึ่งถือหุ้นโดยตรงในอีกบริษัทหนึ่งอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ ผลการวิเคราะห์พบว่าภาคธุรกิจไทยมีกลุ่มทุนจำนวน 9,068 กลุ่ม โดยกลุ่มทุนมีความหลากหลายทั้งในมิติของจำนวนบริษัทในกลุ่ม มูลค่าสินทรัพย์ และประเภทของอุตสาหกรรม โดยกลุ่มทุนส่วนมากประกอบด้วยบริษัทเพียง 2-3 บริษัท มีเพียง 13 กลุ่มทุนเท่านั้นที่มีบริษัทในกลุ่มมากกว่า 100 บริษัท

ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์นั้น นายกฤษฎ์เลิศ ระบุว่า การที่บริษัทแต่ละบริษัทในกลุ่มทุนมีสถานะเป็นนิติบุคคลโดยตัวเองแทนที่จะเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทใหญ่บริษัทเดียวมีข้อดีหลายประการต่อการทำธุรกิจ 

ประการแรก การจดทะเบียนธุรกิจแยกเป็นหลายบริษัททำให้โครงสร้างการถือหุ้นของแต่ละบริษัทมีความยืดหยุ่น ทำให้กลุ่มธุรกิจสามารถระดมทุนจากผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่น ๆ ที่มีความสนใจและมีความต้องการที่หลากหลายให้เข้ามาร่วมทุนในแต่ละบริษัทที่ดำเนินธุรกิจต่าง ๆ กันได้ ตามความต้องการของผู้เข้ามาร่วมลงทุน ในขณะเดียวกันกลุ่มทุนก็ยังสามารถควบคุมการบริหารงานของธุรกิจได้อยู่ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 

ประการที่สอง การระดมทุนจากผู้ถือหุ้นภายนอกกลุ่มยังรวมถึงการทำธุรกิจร่วมทุน (joint venture) กับพันธมิตรจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งทำให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตและขยายตลาดสินค้าใหม่ๆ ที่ตนยังไม่มีความชำนาญได้มากขึ้น 

ประการที่สาม การแบ่งธุรกิจออกเป็นบริษัทย่อยยังอาจช่วยเพิ่มกำไรให้กลุ่มธุรกิจโดยรวมในกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมวิสาหกิจขนาดเล็ก เช่น การเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าบริษัทขนาดใหญ่ 

ประการสุดท้าย บริษัทแต่ละบริษัทเป็นนิติบุคคลที่มีขอบเขตความรับผิดชอบต่อหนี้สินที่จำกัด (limited liability) ในกรณีที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งประสบปัญหาทางการเงินและล้มละลาย พันธะผูกพันต่อหนี้สินจึงไม่ส่งต่อไปยังผู้ถือหุ้นและบริษัทอื่น ๆ ในกลุ่ม

เบียร์.jpg

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างความเป็นเจ้าของในภาคธุรกิจที่กลุ่มทุนมีบทบาทสูงมีนัยต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมหลายประการ

หนึ่ง คือ นัยต่อการวัดการกระจุกตัวของภาคธุรกิจ ซึ่งการที่บริษัทหลายแห่งมีเจ้าของร่วมกันและมีการตัดสินใจทางธุรกิจร่วมกันนั้นทำให้การวัดการกระจุกตัวของอุตสาหกรรมต้องพิจารณาความเป็นเจ้าของร่วมกันของบริษัทต่าง ๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่มีบริษัทหลายรายในกลุ่มทุนเดียวกันประกอบกิจการนั้นๆ

สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมที่กลุ่มทุนมีผลต่อการกระจุกตัวสูงสุด ได้แก่ การผลิตสุรา เบียร์ ขายส่งเครื่องดื่มและยาสูบ ผลิตพลาสติก กล่องกระดาษ ก๊าซ ปูนซีเมนต์ อิฐ และน้ำบาดาล

สอง คือ นัยต่อการวัดการกระจายตัวของรายได้และสินทรัพย์ธุรกิจของครัวเรือน เนื่องจากการถือครองหุ้นในบริษัทเป็นการถือครองสินทรัพย์ธุรกิจ (corporate wealth) ประเภทหนึ่งของครัวเรือน และในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ผลกำไรของบริษัทซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ดังกล่าวอาจนับได้ว่าเป็นรายได้ส่วนหนึ่งของครัวเรือน ถึงแม้ว่ากำไรดังกล่าวอาจจะยังมิได้ถูกแจกจ่ายเป็นเงินปันผลให้ครัวเรือนก็ตาม

ส่วนผลการศึกษาพบว่า ในปี 2560 ผู้ถือหุ้น 500 คนมีสัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ ในกำไรรวมของภาคธุรกิจไทย โดยสัดส่วนนี้คิดเป็นกำไรเฉลี่ย 3,098 ล้านบาทต่อคน นอกจากนี้ มูลค่ารวม (ทางบัญชี) ของส่วนผู้ถือหุ้น (total equities) สูงสุด 500 คน มีสัดส่วนถึง 36 เปอร์เซ็นต์ ของภาคธุรกิจทั้งหมด

ทั้งนี้ การกระจุกตัวในมิติของความเป็นเจ้าของที่สูงมีนัยต่อความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่งและรายได้ของครัวเรือน แต่เนื่องจากความเหลื่อมล้ำในมิตินี้เกิดจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าของสินทรัพย์ที่ยังไม่ได้แจกจ่ายให้ครัวเรือน การลดความเหลื่อมล้ำในมิตินี้จึ งต้องเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจ ซึ่งไม่สามารถทำได้โดยนโยบายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือเงินช่วยเหลือที่ให้แก่ครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการกระจุกตัวของความเป็นเจ้าของมีความสัมพันธ์ต่อการกระจุกตัวของการผลิต การลดความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจ โดยนโยบายภาษีเงินได้นิติบุคคล อาจก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อการจ้างงานและธุรกิจรายย่อยที่ต้องพึ่งพิงธุรกิจรายใหญ่ นโยบายที่เหมาะสมจึงควรเป็นการส่งเสริมการแข่งขันเพื่อลดกำไรอันเกิดจากการผูกขาด และเพิ่มการกระจายกำไรไปสู่ผู้ผลิตมากรายยิ่งขึ้น ทั้งนี้ นโยบายส่งเสริมผู้เล่นรายใหม่โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต้องคำนึงถึงมิติด้านความเป็นเจ้าของด้วย โดยหลีกเลี่ยงการส่งเสริมธุรกิจรายใหม่ที่มีเจ้าของร่วมกับธุรกิจรายเดิม

ภาพ: Braden Jarvis on Unsplash

ที่มา: Bloomberg/ PIER

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: