ไม่พบผลการค้นหา
มารีญา พูลเลิศลาภ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2017 เผยเหตุผลที่ทำให้ออกมาส่งเสียง ประเด็นทางการเมืองโดยมีจุดยืนชัดเจน เพราะต้องการสนับสนุนให้ประชาชนมีสิทธิ และเสรีภาพ มีความเสมอภาค ซึ่งเป็นก้าวย่างแห่งประชาธิปไตย

มารีญา พูนเลิศลาภ หรือ มาเรีย ลินน์ เอียเรียน ลูกครึ่งไทย-สวีเดน เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในนาม ‘มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2017’ ตัวแทนของประเทศไทย ผู้เข้าร่วมประกวด ‘มิสยูนิเวิร์ส 2017’

หลังลงจากเวทีนางงาม ถอดส้นสูงสวมรองเท้าผ้าใบตามสไตล์โปรด มารีญาสวมหมวกนักเคลื่อนไหวแทนมงกุฎ มุ่งมั่นขับเคลื่อนปัญหาสิ่งแวดล้อม ถึงขั้นเปิดบริษัท SOS EARTH จัดกิจกรรม ทำคอนเทนต์พัฒนาแนวคิดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พุ่งเป้าไปที่เด็กๆ รุ่นใหม่ด้วยเชื่อว่าจะช่วยพาโลกไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

อีกบทบาทที่ผู้คนต่างพูดถึงคือการออกมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นทางการเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ข้อความ “ภูมิใจนักศึกษาไทย” บนทวิตเตอร์ส่วนตัวที่มีผู้รีทวีตกว่าหนึ่งแสนครั้ง ในห้วงเยาวชน นักเรียน นักศึกษาและประชาชน ออกมาชุมนุม ‘แฟลชม็อบ’ ต้นปี 2563 แสดงความไม่พอใจต่อกระบวนการยุติธรรม ภายหลังมีการประกาศคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่

กอปรกับการร่วมแคมเปญกรณี จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำที่ถูกตำรวจสหรัฐฯ จับกุม โดยมีการใช้ความรุนแรงจนทำให้เสียชีวิต จุดไฟให้คนอเมริกันไม่พอใจออกมาชุมนุมประท้วงในหลายเมือง เพราะต้องการก้าวข้ามความเกลียดชังเพียงเปลือกของสีผิว

รวมถึงประเด็น #saveวันเฉลิม ภายหลัง วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทย ถูกอุ้มหายอย่างอุกอาจจากที่พักอาศัยในกรุงพนมเปญ เธอได้ออกมาประกาศไม่เห็นด้วยที่ต้องมีใครตาย เพียงเพราะเห็นต่างทางการเมือง

มารีญา ได้รับรางวัล ‘เยาวชนเพื่อสันติภาพโลก’ ในงานประชุมสันติภาพโลก ที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2562 เป็นเครื่องการันตีว่าเธอให้ความสำคัญกับคำว่าเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน  แสดงจุดยืนทางการเมืองตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ที่ออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง

ก่อนลงถนนไปร่วมชุมนุมใหญ่ ‘คณะประชาชนปลดแอก’ ที่วงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่พัฒนาเติบโตจาก ‘เยาวชนปลดแอก’ ที่มนุษย์ลุง-มนุษย์ป้าดูแคลนว่าเป็น “ม็อบมุ้งมิ้ง” เป็น “ม็อบฟันน้ำนม” เธอโพสต์ภาพเกี่ยวกับการชุมนุม พร้อมระบุข้อความเป็นภาษาอังกฤษ “Do You Hear The People Sing?” ซึ่งเป็นบทเพลงที่ผู้ร่วมชุมนุมขับร้องระหว่างการชุมนุม แปลเป็นภาษาไทยว่า “ได้ยินเสียงของประชาชนไหม”

ดูโพสต์นี้บน Instagram

Do you hear the people sing? #ประชาชนปลดแอก @ #DemocracyMonument 🇹🇭

โพสต์ที่แชร์โดย Maria Poonlertlarp (@marialynnehren) เมื่อ

อยากเห็นประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ-มีความเท่าเทียม

ในห้วงเวลาที่คนรุ่นใหม่เกิดความวิตกต่อการดำเนินชีวิตในอนาคต นิสิตนักศึกษาเรียกร้อง หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่เอารัฐประหาร ไม่ต้องการรัฐบาลแห่งชาติ โบขาวกลายเป็นสัญลักษณ์ของพลังบริสุทธิ์ของเด็กมัธยม ที่ต้องการเห็นอนาคตที่ดีกว่า ต้องการเห็นความยุติธรรม

มารีญา ให้สัมภาษณ์กับ ‘วอยซ์ออนไลน์’ ว่า การที่เธอส่งเสียงแสดงความคิดเห็นในประเด็นทางการเมือง เพราะต้องการสนับสนุนให้ประชาชน มีสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมในสังคม ซึ่งเป็นก้าวย่างแห่งประชาธิปไตย

เมื่อเกิดความรู้สึกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่แฟร์

เธอฉายภาพต่อว่า ประเทศที่มีประชาธิปไตยอันแข็งแกร่ง ประชาชนควรร่วมแสดงความคิดเห็นได้ เพราะถือเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่อยู่ในสังคมเดียวกัน ย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ แต่ก็ต้องพร้อมทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน นำพาไปสู่การแสวงหาทางออก หรือการแก้ปัญหาร่วมกัน

การที่เด็กรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหว เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง อาจเป็นเพราะพวกเขาเริ่มฉุกคิด “มันมีอะไรบางอย่างที่ต้องเปลี่ยนแปลง” แต่กลับรู้สึกว่าถูกกดทับ ห้ามพูด ห้ามตั้งคำถาม อย่างไรก็ตาม ในยุคศตวรรษที่ 21 หาใช่เรื่องยากที่คนรุ่นนี้จะตาสว่าง ผ่านโลกไร้พรมแดนอย่าง ‘โซเชียลมีเดีย’

“คือคนเราไม่ได้โง่แล้ว” มารีญาตอบพลางหัวเราะเบาๆ “พูดตรงๆ”

“ทุกคนก็มีคำถาม ถ้าเขารู้สึกว่าบางอย่างเขายังไม่เข้าใจ การที่เขาออกมาตั้งคำถามว่า ทำไมเป็นแบบนี้ การที่ยังไม่มีคำตอบ เป็นสิ่งที่มารีญารู้สึกว่ามันน่ากลัวมากกว่า” มารีญาเห็นว่าปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเพราะคนรุ่นใหม่ต่างให้ความสำคัญกับอนาคตของพวกเขา

“เราต้องสามารถคุยกันได้ พูดกันได้ และหาทางที่เหมาะสม การอยู่ในสังคม เราไม่ฟังเพื่อนบ้าน เราไม่ฟังคนที่อยู่รอบข้างเราได้ยังไง เราไม่ได้อยู่บนโลกใบนี้คนเดียว” ขณะเดียวกันเธอมองว่าเสียงที่สะท้อนออกมาจากทุกคนควรได้รับการยอมรับในความแตกต่าง และเคารพสิทธิของเพื่อนมนุษย์โดยไม่ถูกคุกคาม

“การที่เห็นทนาย หรือพี่ๆ ทุกคน หลายคนโดนคุกคาม เป็นอะไรที่รู้สึกว่ามันไม่ถูกต้อง และไม่ยุติธรรม เพราะฉะนั้นมารีญาไม่สามารถอยู่นิ่งได้ ไม่สามารถเงียบได้ เมื่อเราเห็นอะไรที่เรารู้สึกผิด” มารีญา บอกเล่าถึงเหตุผลที่ทำให้ไม่สามารถนิ่งเฉย


สิ่งที่ยากสำหรับมนุษย์ คือ การยอมรับความผิด

ความขัดแย้งทางการเมืองกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แวดวงผู้มีชื่อเสียงทางสังคมส่วนใหญ่ ต่างสงวนท่าที มองว่าการแสดงจุดยืนเปรียบเสมือนการฆ่าตัวตาย ส่งผลลบมากกว่าผลบวก เนื่องจากมีความเชื่อต่างขั้วกีดกัน พร้อมผลักอีกฝ่ายไปสู่การถูก ‘ล่าแม่มด’  

มารีญา มองว่าทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงกับการเมือง“เราอยู่บนโลกใบนี้ สังคมมันก็สำคัญ มันเกี่ยวกับชีวิตของเราเองด้วย เกี่ยวกับชีวิตของครอบครัวเรา เพื่อนของเรา เราควรที่จะเข้าใจมัน เข้าใจสิทธิของเราเองด้วยว่าเรามีสิทธิอะไรบ้าง”

สัม มารียา

เธอกล่าวเสริมอีก การสื่อสารทางการเมือง คือ การแลกเปลี่ยนทรรศนะและความคิดเห็น ตลอดจนความเชื่อและประสบการณ์ต่างๆ เพื่อการสร้างสรรค์ความสันติสุข ภายใต้ความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นใหม่รุ่นเก่า “ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ต้องฟังเด็ก เด็กก็ต้องฟังผู้ใหญ่”

มารีญาตั้งคำถามต่อว่า “การที่ผู้ใหญ่ไม่ยอมฟังเด็กมันอาจจะเป็นเพราะว่า เขายังไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างหรือเปล่า เป็นเพราะเขาไม่ยอมรับผิดหรือเปล่า”

สิ่งที่มารีญารู้สึกว่ายากที่สุดสำหรับมนุษย์อย่างหนึ่ง คือ การยอมรับความผิดของตัวเอง ซึ่งเธอเองก็ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ยากสำหรับเธอ แต่เมื่อโยนทิฐิทิ้งไปได้ สามารถยอมรับได้ว่า คนอื่นมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน เมื่อนั้นความสว่างไสวก็จะเคลื่อนตัวเข้ามาแทนที่ความมืดมน


เคารพคนเห็นต่างไม่เคยคิดตอบโต้

การออกมาแสดงพลังขับเคลื่อนสังคม หรือ Social Movement ตลอดหลายเดือนผ่านมา มารีญาบอกว่า เธอคิดรอบคอบแล้ว และเข้าใจดีว่ากระแสที่ตามมาจะมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย  

“แน่นอนค่ะ”  

เธอเคารพการตัดสินใจของผู้จัดงานอีเวนต์ที่ขอยกเลิกงานหลายงาน แต่เสียใจกับการที่มีบุคคลนำคำพูดของเธอไปบิดเบือน เพื่อก่อให้เกิดการเข้าใจผิด สร้างความเกลียดชังต่อผู้ที่มีความเห็นต่าง ซึ่งเธอมองว่าการกระทำลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

“เจ็บเหมือนกันที่เขาไม่ยอมมาทำความเข้าใจกับเรามากขึ้น ฉันจะไม่ชอบอะไรแบบนี้แล้ว ฉันจะต่อต้านอะไรแบบนี้ โดยไม่ทำความรู้จักมากขึ้น มันก็มีผลกระทบต่องานของเราด้วย เพราะผู้จัดงานกลัวว่ามันจะมีอะไรเกิดขึ้นที่เขาไม่สามารถคอนโทรลได้"

“ซึ่งมารีญารู้สึกว่ามันไม่ใช่ เราไปยอมฝั่งที่ผิดได้ยังไง ฝั่งที่มันไม่ถูกต้อง แต่มารีญา ไม่ได้โดนแบนสินค้า โชคดีที่เป็นพรีเซนเตอร์แต่ละอย่างเขาให้การสนับสนุน”

มารีญาย้ำเธอไม่เคยมีความคิดตอบโต้ความเห็นต่าง เพราะมองว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ไม่สามารถไปกำหนดกฏเกณฑ์ว่าต้องเห็นร่วมกัน และส่วนตัวก็ไม่ได้รู้สึกว่าต้องท้อกับเรื่องแบบนี้ ตรงกันข้ามยิ่งทำให้รู้สึกว่าต้องสู้ต่อไป

“เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ค่อยแฟร์” มารีญาบอกพลางหัวเราะเบาๆ ผ่อนคลายความรู้สึก

เธอบอกต่อว่า คนที่ไม่เห็นด้วยเป็นสิทธิของเขา เธอแค่ไม่อยากให้ใครพูดถึงในแง่ที่ไม่ดี มีวิธีอื่นที่จะทำความเข้าใจกันมากขึ้น

ที่สำคัญการออกมาแสดงจุดยืนของเธอ ไม่ได้พูดสิ่งที่ไม่ดีเกี่ยวกับฝ่ายไหน เป็นเพียงแค่การตั้งคำถาม โดยทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตย

“ถ้าเราตอบโต้นั่นแสดงว่าเราไม่ยอมรับฟังเสียงคนอื่น” การโต้เถียงกันคิดว่ามีหลายระดับ ส่วนตัวไม่รู้ว่าสิ่งที่เธอได้สัมผัสเป็นระดับที่ถูกต้องหรือไม่ แต่ถ้าสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เธอก็พร้อมน้อมรับคำวิจารณ์เหล่านั้น

“เราไม่สามารถบังคับใครให้คิดเหมือนเรา แต่เราสามารถทำในสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันถูกต้อง ในฐานะเป็นคนบันเทิง ก็เป็นพลเมืองคนหนึ่ง เรามีสิทธิมีความเท่าเทียมกัน มารีญาคิดว่าเป็นอะไรที่สำคัญมาก ที่เราจะส่งเสียงตามสิทธิของเรา”

มารีญา เกิดที่ประเทศไทย แต่เนื่องจาก บิดา มารดา ต้องเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ทำให้เธอต้องตามไปใช้ชีวิตวัยเด็กที่เวียดนาม ก่อนไปใช้ชีวิตวัยเรียนที่เนเธอร์แลนด์และสวีเดน การไปอยู่มาหลายประเทศ ทำให้เธอเห็นศิลปวัฒนธรรม การดำเนินชีวิตของผู้คนที่แตกต่างกัน ขณะที่บางประเทศมีการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เปิดกว้างให้แสดงความคิดเห็นและรับฟังความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งเป็นหลักการของระบอบประชาธิปไตย

“ที่เมืองนอก หากเรารู้สึกว่าผู้นำไม่ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เราสามารถพูด สามารถตั้งคำถามออกไปได้ว่าทำไมเป็นแบบนี้ เพราะเขาก็ได้รับเงินจากประชาชน เงินที่เขาได้ใช้ทุกวันก็เป็นเงินของทุกคน และผู้นำเขาก็รับฟังและรู้สึกถึงการรับใช้ประชาชนจริงๆ”


ผู้นำในอุดมคติต้องเปิดรับมุมมองหลากหลาย

ความขัดแย้งในประเทศไทยได้ทวีความรุนแรงต่อบุคคลที่เห็นต่าง ที่ผ่านมาเคยเกิดวิวาทะผลักไสผู้คนต่างขั้วออกจากประเทศไทย มารีญา บอกว่า ในฐานะเธอเป็นคนไทยต้องรู้สึกเจ็บปวดเป็นธรรมดา หากถูกผลักไสแบบนั้น

“นี่เป็นประเทศของเรา มารีญาเกิดที่นี่ ใช้ชีวิตที่นี่” เธอกล่าวก่อนถอนหายใจ “เราเรียนรู้จากประเทศไทย สร้างพลังทำทุกอย่างในชีวิตเราที่นี่ และอยากเห็นบ้านของเราเป็นบ้านที่ดี เป็นบ้านที่มีความสุขเท่านั้น”

เมื่อมีการตั้งสมมติฐาน หากพรุ่งนี้ตื่นขึ้นมาแล้วได้เป็น ‘ผู้นำ’ จะรับมือและแก้ไขสถานการณ์นี้อย่างไร มารีญา หัวเราะก่อนออกตัวว่า“คำถามนี้โดนถามมาแล้ว มันเป็นอะไรที่ยากมากค่ะ ต้องยอมรับก่อนเลยว่าไม่พร้อมที่จะมีตำแหน่งนั้น ไม่พร้อมที่จะเป็นผู้นำประเทศ”

สำหรับผู้นำในอุดมคติของเธอ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำประเทศ หรือ ผู้นำบริษัท จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยผู้คนจำนวนมาก ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม เพราะฉะนั้นผู้นำต้องพร้อมทำงานร่วมกับผู้อื่น เปิดรับมุมมองจากหลายฝั่ง รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในหลายด้าน

สัม มารียา

“ถ้าสามารถทำงานเป็นทีมได้จริง เราก็มุ่งต่อไปได้ เหมือนเกมบาสเกตบอล หรือฟุตบอล มันไม่ได้ชนะเพราะแค่คนเพียงหนึ่งคน แต่มันต้องผ่านลูกบอลไปกับเพื่อนร่วมทีม”

“ผู้นำที่ดีอยู่กับทีมที่ดี”

มารีญาเชื่อว่า การมีคนรอบข้างที่ดีสามารถช่วยทำให้เปลี่ยนทัศนคติตัวเองไปในทางที่ดีได้ ตรงกันข้ามหากแวดล้อมด้วยคนรอบข้างที่ประพฤติตนไปในทางที่ไม่ดี ก็มีโอกาสสูงที่เราจะเผลอไผลปฏิบัติตาม

“ถ้าอยู่กับคนที่สร้างสรรค์ เราก็น่าจะสร้างสรรค์ไปด้วย”


ความรักคือคำตอบ

ความเกลียดชังไม่เคยนำพาไปสู่อะไรที่ดีขึ้น ในสถานการณ์นี้อาจจะฟังดูซ้ำกับคำนิยามที่ว่า “ความรักคือคำตอบ” แต่มารีญาเชื่อว่าความรักเป็นคำตอบจริงๆ เพราะเมื่อเรารักอะไร เราจะใส่ใจกับสิ่งนั้น ทำทุกทางให้สิ่งนั้นเจริญเติบโต เหมือนต้นไม้ ถ้าเราเกลียด ไม่รดน้ำดูแลเอาใจใส่ ต้นไม้นั้นคงต้องตายไปในที่สุด

การเป็นผู้นำนั้นจึงต้องยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ความยั่งยืนของประเทศมีหลายส่วน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องของมนุษย์ การงานและอาชีพ การเรียน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ และต้องมองเห็นความสำคัญของทุกส่วน มีความโปร่งใส

“การที่หลายๆ อย่างเกิดขึ้นโดยไม่ให้ประชาชนรู้ คิดว่าเป็นอะไรที่น่ากลัว เพราะว่ามันเกี่ยวกับอนาคตของเราทุกคน ถ้าเราไม่รู้ว่ามันกำลังไปในด้านไหน เราจะแพลนได้ยังไง เราจะอยู่ต่อแบบไม่รู้ว่าเรากำลังก้าวหน้าไปฝั่งไหน”

ปิดท้ายการสัมภาษณ์ครั้งนี้ มารีญาขอย้ำอีกครั้งว่า การแสดงความคิดเห็นที่มีจุดยืนชัดเจนของเธอเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพที่เท่าเทียม

“คนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา อยากให้เขาเข้าใจว่านี่เป็นความคิดของเรา ไม่ได้ไปกดว่าเขาต้องคิดแบบเรา แต่แค่อยากให้เขาเปิดรับว่าโอเคเรามีความคิดที่แตกต่างกันนะ แล้วก็ไม่เกลียดมัน เกลียดมันเราจะไม่ไปไหนกันเลย”