ไม่พบผลการค้นหา
ทำความเข้าใจสภาวะการใช้สารเสพติด ผ่านกลไกสารสื่อประสาท ‘โดปามีน’ เปิดปากคำ 'สิบล้อ-ศิลปิน-เด็กดริ้ง' เปลือยบริบทแวดล้อมทางสังคม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และความโดดเดี่ยว เหตุใดคนจำนวนหนึ่งจึงใช้สารเสพติด เพื่อเสพสุขแทนวิธีการอื่น

‘หนุ่มใหญ่คลั่งยาบ้าปีนเสาไฟ’ , ‘เสพยาจนหลอน คว้ามีดไล่ฟันเพื่อนบ้าน’ , ‘หลานติดยาเข้าเส้น ยายไม่ให้เงินซื้อ ถูกฆ่าหมกสวนปาล์ม’ ฯลฯ

พาดหัวข่าวลักษณะนี้ เป็นสิ่งที่พบเห็นเป็นปกติในสังคมไทย ในด้านหนึ่งนี่คือ การบอกเล่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทว่าอีกด้านนี่คือ การรายงานข่าวที่เคลือบฉาบด้วยอคติิที่มีต่อผู้ใช้สารเสพติด จนที่สุดแล้วทำให้เกิดการเหมารวม และการเลือกปฏิบัติต่อผู้ใช้สารเสพติดทั้งหมด แน่นอนไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ในปัจจุบันมีผู้ใช้สารเสพติดต่อเนื่อง ยาวนาน และเกินขนาด จนทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพกาย และจิต และก่อให้เกิดปัญหากระทบชิงออกไปในสังคม 

แต่คำถามคือ นั่นเป็นลักษณะร่วมของผู้ใช้สารเสพติดทั้งหมดหรือไม่ และการรายงานข่าวดังกล่าวถือว่าเป็นการช่วยแก้ปัญหาผู้ใช้สารเสพติดให้ลดน้อยลง หรือยิ่งกลายเป็นการผลักคนกลุ่มนี้ออกไปจากสังคม เหมารวมตีตราให้ผู้ใช้สารเสพติดกลายเป็นเนื้อร้ายที่ต้องถูกกำจัดทิ้งทั้งหมด ส่วนประเด็นที่ควรจะขยายให้เห็นภาพมากกว่าปรากฎการณ์เฉพาะหน้ากลับถูกปล่อยทิ้งล้าง 


ทำไมมนุษย์ถึง ‘เสพติด’

หากละจากปรากฎการณ์เฉพาะหน้าที่ถูกยกขึ้นมาเพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ผู้ใช้ยาเสพติดให้เป็นพิษภัยต่อสังคมแล้ว คำถามสำคัญที่น่าจะพาเราเข้าไปทำความเข้าใจภาวะการเสพติดได้ คงหนีไม่พ้น การตั้งคำถามง่ายๆ ว่า เพราะอะไรมนุษย์ถึง ‘เสพติด’

แพทย์หญิงนิตยา ภานุภาค ผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี ภาวะของการเสพติดว่า การเสพติดนั้น เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการหลั่งสารเคมีในสมอง ที่มีชื่อเรียกว่า ‘โดปามีน’ (Dopamine) ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์พึงพอใจ ความสุข ความรักใคร่ชอบพอ 

ร่างกายมนุษย์ทุกคนจะมีกลไกที่ทำให้สารนี้หลั่งออกมาโดยธรรมชาติ เพื่อให้มนุษย์อยู่รอด โดยพื้นฐานสารนี้จะหลั่งออกมาเมื่อมนุษย์กินอาหาร และมีเพศสัมพันธ์ เพราะมนุษย์ต้องการอยู่รอด และสืบทอดเผ่าพันธุ์ กลไกของโดปามีน เมื่อเกิดการหลั่งแล้ว จะทำให้มนุษย์รู้สึกต้องการที่จะกลับไปกิจกรรมเดิมอีกครั้ง เพราะรู้สึกว่า หากทำแล้วก็จะมีความรู้สึกมีความสุขอีก 

ทั้งนี้ตามปกติของกลไกการทำงานของสารโดปามีน สารสื่อประสาทชนิดนี้จะถูกกระตุ้นให้หลั่งออกมาได้อย่างน้อย 4 วิธีด้วยกัน คือ 1.การออกกำลังกาย 2.การกินอาหาร เช่น อาหารที่มีโปรตีน หรือกรดอะมิโนสูง นอกจากนี้ยังมีดาร์คช็อคโกแลตด้วย 3.การพักผ่อนที่เพียงพอ และ 4.การทำกิจกรรมที่ทำให้มีความสุข เช่น งานอดิเรก เล่นเกมส์ กิจกรรมทางสังคม การมีเซ็กส์ 

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นคือวิธีการปกติที่จะทำให้ร่างกายหลั่งสารโดปามีนออกมาตามธรรมในระดับปกติทั่วไป อย่างไรก็ตามมีการค้นพบว่า การใช้สารเสพติด โดยเฉพาะสารเคมีในกลุ่มแอมเฟตามีน (amphetamines) นั้่นส่งผลสำคัญต่อการหลั่งสารโดปามีนด้วย และทำให้เกิดการหลั่งในปริมาณที่มากกว่าปกติหลายเท่าตัว 

อย่างไรก็ตาม โดยธรรมชาติของ โดปามีน เมื่อมีการหลั่งออกมามากในช่วงเวลาหนึ่ง ก็จะทำให้เรารู้สึกมีความสุขมากๆ แต่หลังจากนั้นโดปามีนจะค่อยๆ ลดลง และยิ่งมีการหลั่งออกมามาก ก็จะยิ่งลดลงไปมากเช่นกัน ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่เรารู้สึกว่า หลังจากที่ทำอะไรที่มีความสุขมากๆ ไปได้ไม่นานความรู้สึกนั้นก็จะหายไป และเกิดความรู้สึกเศร้า หดหู่ ขึ้นมาแทนที่ 

นี่เป็นผลจาการขึ้นลงของสารโดปามีนในสมอง และอาจจะทำให้บางคนมีปัญหาทางสุขภาพ หรือสุขภาพจิต จากการที่ไปเสพติดอะไรบางอย่าง ซึ่งจะมีช่วงที่รู้สึกมีความสุขที่สุด และช่วงที่รู้สึกหดหู่ที่สุด ช่วงที่ลง ก็ทำให้คนพยายามอะไรอย่างอื่นมาเสริมเพื่อบรรเทาความหดหู่นั้น

ในกรณีที่มีการใช้ยาเสพติดเพื่อกระตุ้นโดปามีน ต่อเนื่อง บ่อยครั้ง และเกินขนาด โดยปราศจากความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็ย่อมส่งผลให้ร่างกายเกิดการเสพติด และส่งผลต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิต นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้ใช้สารเสพติดมี พฤติกรรมที่สามารถควบคุมตนเองไม่ได้ มีอารมณ์ก้าวร้าว หงุดหงิด หากไม่ได้รับการกระตุ้นอีก


เพราะอะไร บางคนถึงเลือกใช้สารเสพติด แทนวิธีการเสพสุขด้วยวิธีอื่นๆ 

จากข้อมูลที่สามารถสืบค้นได้จากรายงาน ‘ตลาดการค้ายาเสพติดในประเทศไทย’ ของกนิษฐา ไทยกล้า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่ในเดือน ก.ค. 2565 มีการคาดการว่า พฤติกรรมการใช้ยาเสพติดของประชากรไทย ในกลุ่มที่มีพฤติกรรมใช้ยาเสพติดแบบเป็นครั้งคราว มีมากถึง 1.97 ล้านคน (รวมสารเสพติดทุกประเภท) 

อย่างไรก็ตาม พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. เคยเปิดเผยว่า ขณะนี้มีตัวเลขผู้เสพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ประมาณ 530,000 คน ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มสีแดง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เป็นอันตรายต่อสังคมถึง 32,000 คน 

คำถามสำคัญต่อข้อมูลเหล่านี้คือ เพราะอะไรคนถึงเลือกใช้สารเสพติด แพทย์หญิงนิตยา ขยายภาพให้เข้าใจถึงภาวะการเสพติดหลายประเภท ไม่เพียงเฉพาะกับสารเสพติดเท่านั้น โดยชี้ให้เห็นว่า หากเมื่อใดคนเรามีทางเลือกที่จำกัด หรือมองไม่เห็นทางอื่นๆ ที่จะทำให้เขามีความสุขได้ในระดับทั่วไปได้ ก็จะมีแนวโน้มสูงที่ทำให้คนมีพฤติกรรมที่ทำให้เกิดภาวะเสพติด หรือทำให้กิจกรรมที่สร้างความสุขได้โดยง่ายและได้รับความสุขในระดับที่สูง 

ภาวะนี้คือ ภาวะของความโดดเดี่ยว ซึ่งมีหลายความหมาย ทั้งความโดดเดี่ยวที่ไม่มีใครเลย ใช้ชีวิตอยู่คนเดียว ไม่มีสังคม เพื่อนฝูง ครอบครัว เช่นกรณีคนย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ตัวเดียวในเมือง ซึ่งสิ่งนี้ง่ายมากที่จะทำให้คนจมดิ่งไปกับการเสพติดโซเชียลมีเดียล เพราะมือถืออยู่กับเราทุกคน และมันให้ความสุขให้กับเราได้ง่ายกว่า การหาเพื่อนใหม่ เข้าสังคมใหม่ หรือพยายามทำตัวให้เป็นที่ยอมรับกับสังคมใหม่ 

“แต่หลายคนนอกจากความโดดเดี่ยวแล้ว พบว่าเขาไม่มีทางเลือกจริงๆ ไม่ใช่แค่มองไม่เห็นทางเลือก เพราะบริบทของชีวิต สถานะทางสังคม และฐานะทางเศรษฐกิจ ไม่ได้ทำให้เขามีทางเลืิอก เช่นคำพูดที่ว่าถ้าอยากห่างไกลจากยาเสพติดให้ไปเล่นกีฬา แต่ถ้าคุณอยู่ในชุมชนแออัดในกรุงเทพ คุณจะไปเล่นกีฬาอะไร ที่ไหน บางพื้นที่ก็ไม่ได้มีสภาพแวดล้อมทางสังคมที่รัฐจัดหาให้เรามีความพร้อมเข้าถึงได้โดยง่าย”

แต่อย่างไรก็ตาม กรอบเรื่องความเหลื่อมล้ำใช้อธิบายได้ในบางส่วนเท่านั้น แพทย์หญิงนิตยา ขยายภาพต่อให้เห็นว่า หากถึงที่สุดมีการจำลองเอาคุณภาพชีวิตในระดับประเทศแทบสแกดิเนเวีย เข้ามาใส่ไว้ในสังคมไทย ก็ไม่ได้แปลว่า สังคมไทยจะไม่มีผู้ใช้สารเสพติดเลย แต่ประเด็นสำคัญคือ ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี นั้นหมายความว่ามนุษย์ย่อมมีอำนาจในตัวเองเพิ่มขึ้น มีความรู้ที่รอบด้านมากขึ้น และสามารถมีทางเลือกอื่นๆ ได้มากขึ้น จนสามารถเลือกได้ว่าจะเสพสุขด้วยวิธีใด 

“ถึงอย่างนั้นการใช้สารเสพติด กับการติดยาเสพติดถือเป็นคนละเรื่อง และการใช้ยาเสพติดก็ไม่ได้เป็นเรื่องผิดไปเสียทั้งหมด หากเราบอกว่าในที่สุดแล้ว หากเรามีสวัสดิการทางสังคมที่ดี เราจะปราศจากคนใช้สารเสพติดหรือไม่ เราคงไม่สามารถตอบได้ง่ายๆ แต่คิดว่าปัญหาคงลดลง คนเข้าใหม่ลด คนเข้าแล้วออกง่าย ก่อนที่จะเกินอันตราย สามารถที่ถอยกลับออกมาได้ก่อนที่มันจะนำไปสู่ภาวะของการเสพติด เพราะเราสามารถเปิดทางเลือกให้เข้าได้”


สิบล้อ - ศิลปิน - เด็กดริ้ง : เสียงจากผู้ใช้ยา นอกจากการปราบปราม พวกเขาต้องการทางออก และองค์ความรู้

สิงห์ (นามสมมติ) วัย 40 ปี เขาเป็นหนึ่งในผู้ใช้ยาบ้า ปัจจุบันเขามีอาชีพขับบรรทุกส่งสินค้า เขาเปิดเผยถึงสาเหตุที่ต้องใช้ยาว่า มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับสภาพการทำงานที่หนัก เพราะบ่อยครั้งที่เขาต้องขับรถข้ามภูมิภาคนาน 2 วัน 2 คืน เขาจึงจำเป็นต้องใช้ยาบ้า โดยการกินเพื่อให้ร่างกายไม่ง่วง และทำให้สามารถปิดงานได้ตามเวลา แน่นอนว่าเขาเคยลองวิธีการอื่นแล้ว แต่ก็พบว่า ไม่ว่าจะเป็นกาแฟ หรือเครื่องดื่มชูกำลัง ไม่สามารถทำให้สู้งานได้เท่ากับยาบ้า 

และเป็นธรรมดาสำหรับการถูกเรียกตรวจฉี่ เพื่อหาสารเสพติด หลายครั้งเขามีวิธีหลบเลี่ยงทั้งการใช้ฉี่คนอื่นที่แอบใส่ถุงซุกเก็บไว้ในกระเป๋ากางเกง แต่หากครั้งไหนไม่สามารถใช้เทคนิคนี้ได้ ‘เงิน’ คือการแก้ปัญหาให้ทุกอย่างง่ายขึ้่น 

“ถามว่าตำรวจรู้มั้ยว่า สิบล้อหลายคนใช้ยา เขารู้หมดแหละ บางทีแม่งไม่อยากจับด้วย แต่มันก็ต้องทำไง เพราะนายจะเอายอด(สินบน) แล้วมันก็รู้ด้วยว่าพวกสิบล้อไม่ได้คลั่งยากันทุกคน บางคนมันต้องกิน ไม่กินก็อยู่ไม่ไหวไงน้อง อย่างพี่ขับจากเหนือลงใต้ บางทีไปกลับ ถามหน่อยเถ้าแก่ให้เวลาเอ็งเท่านี้ เป็นเอ็งจะทำไง”

ถึงอย่างนั้นก็ตาม สิงห์ ยืนยันว่า เขาไม่ใช่ผู้ติดยาเสพติด เพราะเขารู้ว่าจะใช้ยาอย่างเพื่อไม่ให้กระทบกับชีวิต ร่างกาย และสุขภาพ และที่สำคัญเขาใช้ยาก็ต่อเมื่อต้องทำงานข้ามวันข้ามคืน ส่วนช่วงที่ไม่มีงานเขาก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยา

ด้านอาร์ท (นามสมมติ) หนุ่มวัยกลางคน อดีตเขาเคยเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มีคนรู้จักและฟังเพลงที่เขาแต่งทั่วบ้านทั่วเมือง เขาเปิดเผยโดยไม่ปกปิดว่าเขาเคยเป็นผู้ใช้ยาไอซ์ 

อาร์ท เริ่มลองใช้ยาไอซ์ จากความรู้สึกตีบตัน หลังจากทำงานมาได้ช่วงเวลาหนึ่ง เขารู้สึกว่า ชีวิตหมดความคิดสร้างสรรค์ เขียนเพลง เรียบเรียงทำนองเพลง อย่างไรก็ออกมาคล้ายกับเพลงเดิมๆ ที่เคยทำ ทุกสิ่งทุกอย่างดูซ้ำซากจำเจไปหมดสำหรับเขา แต่เมื่อลองใช้ยาไอซ์ครั้งแรก เขากลับรู้สึกว่า นั่นคือการเปิดโลกจินตนาการใหม่ จากเดิมที่เคยเบื่อหน่าย ยานี้ทำให้เขารู้สึกว่า โลกนี้น่าอยู่ขึ้น ถึงอย่างนั้นเขาก็รับรู้ดีถึงผลกระทบในด้านลบของมัน

“คือไอ้ของพวกนี้มันดาบสองคมว่ะ มันเปิดโลก มันทำให้คุณเคลิ้มก็จริง แต่ปัญหาจะเกิดแน่ถ้าคุณควบคุมมันไม่ได้ แล้วคุณดูดิบ้านเราไม่เคยมีองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาเลย แต่ถามว่ามีขายไหม มี หาซื้อได้ไหม ได้ ถึงคุณจะปราบมันเท่าไหร่ มันไม่หมดไปหรอก เพราะมันมีคนที่ต้องการใช้อยู่ ผมว่าแทนที่เราจะเอาเวลามาปราบยาอย่างเดียว ทำไมเราไม่ช่วยกันขยายความรู้ว่ะว่าไอ้ของพวกนี้ ถ้ามึงจำเป็นต้องใช้มันจริงๆ มึงควรใช้มันแค่ไหน ถึงจะไม่อันตรายเข้าขั้นวิกฤต”

อาร์ท เชื่อว่า ตัวเขาเองสามารถที่จะควบคุมการใช้ยาได้ แต่มีช่วงเวลาหนึ่งที่เส้นทางชีวิตเดินมาเผชิญหน้ากับปัญหาที่หนักเกินรับไว้ แน่นอนว่าสิ่งเดียวที่เขามองเห็นว่าจะช่วยทำให้เขาลืมความทุกข์เฉพาะหน้าไปคือ การใช้ยาที่เกินความจำเป็น 

อาร์ท เล่าว่า เขาเคยตกอยู่ในภาวะของผู้พึ่งพิงยาเสพติดอยู่ในระยะหนึ่ง เพราะต้องการหลบหนีจากปัญหาที่ทับถมเขามาไม่เว้นแต่ละวัน เขายอมรับว่ากลายเป็นผู้ติดสารเสพติดอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ถึงที่สุดแล้วด้วยสถานะทางเศรษฐกิจ เครือข่ายเพื่อนฝูง พี่น้อง ก็สามารถนำเขาออกมามาจากโลกของการพึ่งพิงยาได้โดยการเข้าสู่กระบวนการบำบัด อย่างไรก็ตามแม้ปัจจุบัน อาร์ท จะเลิกใช้ยาไอซ์ได้แล้ว แต่เขาก็หันมาใช้กัญชาแทน  

“ผมนึกไม่ออกนะ ถ้าวันนั้นไม่มีเพื่อนพี่น้องมาช่วยดึงออกมา ชีวิตผมจะเป็นยังไง คือเราโชคดี ที่อยู่ใกล้กับคนที่ทำงานเรื่องยาเสพติด แต่คนอื่นจะโชคดีเหมือนผมไหม ถ้าถึงวันที่เขาต้องการเดินออกมา สังคมที่เขาอยู่ ความรู้ความเข้าใจที่เขามีมันเพียงพอที่จะชี้ให้เห็นประตูที่จะเดินออกมาได้ไหม”

“แล้วพี่ว่า เด็กนั่งดริ้งอย่างพวกหนูส่วนใหญ่ทำไมถึง กินเหล้าได้เยอะๆ แล้วดูไม่ค่อยเมา” นี่คือให้คำตอบ ด้วยคำถามของ ก้อย(นามสมมติ) ปัจจุบัน เธอมีอาชีพเป็นพนักงานบริการ หรือเด็กนั่งดริ้ง และจำเป็นต้องใช้ยาไอซ์เป็นประจำเพื่อให้การทำงานของเธอมีประสิทธิภาพ 

เธอเล่าว่า สภาพการทำงานของเธอ ในแต่ละวันที่เข้างาน จะต้องทำยอดดริ้งให้ถึงเป้าถึงจะได้เงินพิเศษจากร้าน แต่หากบางวันยอดตก เพราะเด็กดริ้งดื่มเหล้าไม่ไหว หรือเมาจนน็อคไปก่อนที่จะหมดเวลางาน สิ่งที่จะได้รับคือ การตำหนิ ดุด่า จากคนคุมร้าน หนึ่งในทางออกที่พนักงานงานบริการนิยมใช้เพื่อแก้ปัญหานี้คือการใช้ยา 

เมื่อถามพื้นเพเดิมของเธอ ก่อนที่จะมาทำงานเป็นพนักงานบริการ เธอเลือกปฎิเสธที่จะพูดถึงมัน พร้อมกับให้เหตุผลสั้นๆ ว่า “หนูไม่อยากพูดถึงมันอีก” อดีตเป็นเรื่องที่ไม่น่าจดจำสำหรับเธอ และคงแย่เกินไปหากจะพยายามสืบสาวหาต้นตอของการเลือกทำงานเป็นพนักงานบริการ แต่กับปัจจุบันและอนาคตเป็นสิ่งที่เธอยินดีให้คำตอบ 

ก้อยเป็นหนึ่งในพนักกงานบริการหลายคนในกรุงเทพฯ ที่ทำงานประมาณ 5-6 วันต่อสัปดาห์ ช่วงเวลาทำงานของพวกเธอเริ่มตั้งแต่ฟ้ามืด ไปจนถึงช่วงเวลาที่ร้านปิด ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นการปิดตามที่กฎหมายควบคุม เธอทำอาชีพนี้มาได้ประมาณ 1-2 ปี และตั้งใจจะทำต่อไปอีกประมาณ 2 ปี เพื่อเก็บเงินให้ได้สักก้อนให้เพียงพอสำหรับการออกไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ 

การใช้ยาสำหรับเธอคือ ส่วนหนึ่งของการทำงาน มากกว่านั้นเธอสะท้อนว่า หากเลือกได้ เธอก็ไม่ได้อยากทำอาชีพนี้ ทั้งเรื่องการไร้สวัสดิการ การถูกมองอย่างดูถูกเหยียดหยาม ตีตราว่าเป็นหญิงชั่ว แต่สำหรับเพื่อนพนักงานคนอื่นบางคนก็มีวิธีคิดที่ต่างออกไป บางคนรู้สึกภูมิใจในอาชีพนี้ แต่สำหรับเธอยังไม่สามารถก้าวพ้นการถูกตัดสินจากสายตาคนภายใน แม้ชีวิตปัจจุบันเธอจะตัดขาดจากครอบครัวไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อไปที่อนาคตเธอเห็นว่านี่ไม่ใช่งานในฝันที่อยากจะทำ 

“งานหนูมันต้องเอนเตอร์เทนแขก เขามากันเขาก็อยากมีความสุข ถ้าเรามานั่งอยู่กับเขาทั้งที่เราทุกข์อยู่ ใครเขาจะมากันใช่ไหมพี่ อย่างพี่น่ะ ถ้าไปร้านเจอเด็กดริ้งนั่งซึมๆ ไม่คุย ถามคำตอบคำ ไม่ยอมให้จับนั่นจับนี่ เชื่อเถอะเดี๋ยวพี่ก็ขอเปลี่ยนคน งานมันบังคบให้หนูต้องสนุก บางวันหนูไม่อยากสนุก หนูก็ต้องสนุก แล้วจะให้หนูทำไง ก็ยาไงพี่”

“หนูไม่คิดจะทำไปตลอด อีกสองปีเก็บเงินให้ได้เยอะๆ หนูก็จะไปมีชีวิตใหม่”

เมื่อถามก้อยว่า หากเก็บเงินได้ตามที่คิดไว้ และออกจากอาชีพนี้ เธอจะยังใช้ยาไอซ์อยู่หรือไม่ เธอนิ่งไปครู่หนึ่ง ก่อนจะให้คำตอบที่ว่า “หนูก็ไม่รู้เหมือนกัน ถ้าถึงตอนนั้นหนูจะเป็นยังไง แต่คิดว่าจะคุมตัวเองให้ได้”