ไม่พบผลการค้นหา
องค์กรสิทธิฯ HRW เผย รัฐบาลทหารไทยล้มเหลวในการสร้างบรรยากาศเลือกตั้งที่โปร่งใส-เป็นธรรม ยกตัวอย่างกรณี ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนและการยุบพรรค ทษช. ส่วน 'รอยเตอร์ส' ชี้ กกต.ตั้ง 'วอร์รูม' จับตาโลกโซเชียล เสี่ยงกระทบสิทธิแสดงความคิดเห็น

ฮิวแมนไรท์วอทช์ หรือ HRW องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 19 มี.ค. 2562 หัวข้อ Thailand: Structural Flaws Subvert Election ซึ่งระบุว่า โครงสร้างของระบบเลือกตั้งที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหญ่ทั่วประเทศไทยในวันที่ 24 มี.ค.นี้ มีข้อบกพร่องอยู่มากมาย และปัจจัยทั้งหลายจะส่งผลทำลายความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งครั้งนี้ 

เนื้อหาในแถลงการของ HRW ระบุถึงเงื่อนไขในการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งมีการมอบอำนาจให้สมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐบาลทหารชุดปัจจุบัน สามารถใช้สิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรีได้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนไทยอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะสิทธิที่จะเลือกผู้นำของตนเอง ทำให้รัฐบาลทหารไทย 'ล้มเหลว' ในการสร้างบรรยากาศก่อนการเลือกตั้งที่โปร่งใสและเป็นธรรม 

แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำภูมิภาคเอเชีย ระบุว่า นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2557 เป็นต้นมา รัฐบาลทหารไทยก็ให้คำมั่นสัญญาซ้ำๆ ว่าจะทำให้ประเทศกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งครั้งนี้กลับตอกย้ำว่ากองทัพไทยจะยังอยู่ในอำนาจต่อไป เพราะยังคงใช้กฎหมายหลายฉบับที่มีผลในการกำกับและควบคุมกิจกรรมทางสังคม รวมถึงการยุบพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งถูกตั้งคำถามว่าปลอดพ้นจากการแทรกแซงของฝั่งผู้มีอำนาจจริงหรือไม่ และการแต่งตั้ง ส.ว. 250 คน ก็ทำให้เกิดความกังวลว่าอำนาจของกลุ่ม ส.ว.เหล่านี้อาจจะไปขัดขวางเจตจำนงของประชาชนไทยที่ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง


การเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส-เสรี จะนำไปสู่ 'ประชาธิปไตยปลอมๆ'

เนื้อหาในแถลงการณ์ของ HRW ได้อ้างถึงข้อ 25 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศภาคี ระบุว่า "พลเมืองทุกคนย่อมมีสิทธิและโอกาส...โดยปราศจากข้อจำกัดอันไม่ควร (ก) ในการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารรัฐกิจโดยตรง หรือผ่านทางผู้แทนซึ่งได้รับเลือกมาอย่างเสรี (ข) ในการที่จะออกเสียงหรือได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้งอันแท้จริงตามวาระ ซึ่งมีการออกเสียงโดยทั่วไปและเสมอภาค และโดยการลงคะแนนลับเพื่อประกันการแสดงเจตนาโดยเสรีของผู้เลือก (ค) ในการที่จะเข้าถึงการบริการสาธารณะในประเทศของตน ตามหลักเกณฑ์ทั่วไปแห่งความเสมอภาค"

ประยุทธ์ พลังประชารัฐ หาเสียง
  • พรรคพลังประชารัฐ เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหารไทยกลับใช้อำนาจจับกุมผู้เห็นต่างที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล รวมถึงออกคำสั่งปิดกั้นสื่อมวลชนในการนำเสนอหรือรายงานข้อมูลที่ขัดแย้งกับรัฐบาล ทาง HRW จึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลนานาประเทศแสดงจุดยืนให้ชัดเจน ด้วยการประกาศว่า จะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งของไทย ถ้าหากว่าไม่ได้มาตรฐานสากล และการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่มีความน่าเชื่อถือ ถ้าหากว่าสื่อมวลชนถูกปิดกั้น และการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลกลายเป็นสิ่งต้องห้าม รัฐบาลทหารไทยควรตระหนักว่าการเลือกตั้งที่วางเงื่อนไขไว้ล่วงหน้าให้รัฐบาลที่สนับสนุนโดยกองทัพได้รับชัยชนะย่อมจะถูกมองและถูกปฏิบัติไม่ต่างจากประชาธิปไตยจอมปลอม

แถลงการณ์ของ HRW ระบุด้วยว่า ข้อกังวลที่มีต่อการเลือกตั้งไทยครั้งนี้มีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น การออกกฎหมายหรือคำสั่งของผู้มีอำนาจที่มีผลปิดกั้นหรือควบคุมการแสดงความคิดเห็นของประชาชน รวมถึงการชุมนมและสมาคมในที่สาธารณะ, การปิดกั้นสื่อมวลชน, ความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงข่องทางการสื่อสารของประชาชน, การแต่งตั้ง ส.ว.โดยรัฐบาลทหาร ซึ่งมีการมอบอำนาจเกินขอบเขตเดิมของ ส.ว.ในระบบรัฐสภา และการขาดแคลนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีความเป็นอิสระและไม่เลือกข้าง 


ปิดกั้นสื่อ = ปิดกั้นโอกาสที่ประชาชนจะเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

HRW ได้ยกตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับการปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน ประชาชนทั่วไป และพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล เช่น คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 97/2557 ซึ่งมีเนื้อหาว่า "ห้ามมิให้บุคคลใด รวมทั้งบรรณาธิการ พิธีกร สื่อมวลชน และเจ้าของกิจการสื่อสิ่งพิมพ์ รายการวิทยุโทรทัศน์ และรายการวิทยุกระจายเสียง เชิญบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่เป็นนักวิชาการ หรือผู้ที่เคยเป็นข้าราชการ รวมทั้งผู้ที่เคยปฏิบัติงานในศาลและกระบวนการยุติธรรมตลอดจนองค์กรอิสระ มาให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดหรือขยายความขัดแย้งบิดเบือน และสร้างความสับสนให้กับสังคม รวมทั้งอาจนําไปสู่การใช้ความรุนแรง" 

ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้สื่อมวลชนในประเทศไทยได้รับผลกระทบ เช่น กรณี 'อรวรรณ ชูดี' ผู้ดำเนินรายการของ อสมท ช่อง 9 โพสต์เฟซบุ๊กว่าตนถูกปลดจากการทำหน้าที่พิธีกรรายการดีเบตเกี่ยวกับการเลือกตั้งปี 2562 เพราะถูกกล่าวหาว่ามีอคติทางการเมือง หลังเชิญนักเรียน-นักศึกษา 100 คน จากมหาวิทยาลัย 16 แห่งเข้าร่วมตั้งคำถามในเวทีดีเบต และนักศึกษาส่วนใหญ่ระบุว่า "ไม่เห็นด้วย" ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ปฏิเสธการเข้าร่วมดีเบตนโยบายกับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีรายอื่นๆ 

อรวรรณ ชูดี
  • อรวรรณ ชูดี ผู้ประกาศ อสมท โพสต์เฟซบุ๊กว่าถูกปลดจากรายการ หลังจัดเวทีดีเบต

นอกจากนี้ ยังมีรายงานด้วยว่าสื่อต่างประเทศหลายสำนักถูกปิดกั้นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในประเทศไทย โดยยกตัวอย่างกรณีผู้ให้บริการเคเบิลทีวีในประเทศไทย เช่น ช่องทรูวิชั่นส์ ตัดการรายงานของบีบีซี, ซีเอ็นเอ็น, อัลจาซีรา, บลูมเบิร์ก และออสเตรเลียเน็ตเวิร์ก แก่ผู้ชมในประเทศไทย เมื่อวันที่ 8-9 ก.พ. และวันที่ 7-8 มี.ค.2562 โดยช่องที่เคยเผยแพร่สำนักข่าวเหล่านี้มีเพียงจอเปล่าที่ขึ้นข้อความว่า รายการจะกลับมาออกอากาศในไม่ช้า แต่กลับไม่มีการชี้แจงอย่างชัดเจนใดๆ จากทรูวิชั่นส์และหน่วยงานของรัฐบาลว่าเพราะเหตุใดจึงไม่สามารถเผยแพร่ข้อมูลในไทยในวันดังกล่าวได้


คำถามที่ต้องตอบเรื่อง 'ความเป็นกลาง' และ 'อิสระ' ของ 'กกต.ไทย'

HRW ระบุว่า กระบวนการทำงานของ กกต.ในการสอบสวนหรือดำเนินการเอาผิดพรรคการเมืองต่างๆ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ถูกประชาชนและสื่อมวลชนตั้งคำถามอย่างหนักถึงความเป็นอิสระเสรีและความเป็นกลาง โดยยกตัวอย่างกรณีพรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ก.พ. และทาง กกต.รับเรื่องเอาไว้ โดยไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องที่กระทำไม่ได้ 

แต่เมื่อมีพระบรมราชโองการเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว และมีผู้ยื่นเรื่องให้ กกต.สอบสวนยุบพรรคไทยรักษาชาติ ในข้อหากระทำการมิบังควร กกต.ได้ดำเนินการอย่างรวดเร็ว นำไปสู่การยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณายุบพรรคไทยรักษาชาติในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ขณะที่คำร้องให้สอบสวนพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กรณีจัดงานเลี้ยงโต๊ะจีนระดมทุนเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว เข้าข่ายละเมิดกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะมีรายงานว่าข้าราชการและผู้แทนหน่วยงานรัฐบาลต่างๆ เข้าร่วมการระดมทุนครั้งนี้ด้วย แต่การสอบสวนกลับใช้เวลานานกว่ากรณีของพรรคไทยรักษาชาติ 

แกนนำ ทษช.-ไทยรักษาชาติ-ยุบพรรค-ศาลรัฐธรรมนูญ
  • สำนักข่าวต่างประเทศไม่สามารถออกอากาศทางช่องเคเบิลทีวีในไทยได้ในวันที่พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ

นอกจากนี้ หลังจากพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ และอดีตแกนนำพรรคประกาศให้ประชาชนที่สนับสนุนพรรคเทคะแนนให้กับพรรคอนาคตใหม่ หรือไม่ก็กาบัตรเลือกตั้งในช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน และ กกต. ขู่ว่าจะสอบสวนและดำเนินคดีกับพรรคอนาคตใหม่ แม้กฎหมายของไทยจะไม่มีข้อห้ามที่ระบุถึงการกระทำดังกล่าวแต่อย่างใด อีกทั้ง กกต.ยังรับคำร้องของกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลทหารที่เรียกร้องให้สอบสวนพรรคอนาคตใหม่อีกหลายกรณี แต่กลับไม่รับคำร้องของพรรคฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่มีต่อพรรคอื่นๆ ที่ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และกองทัพ

เรื่องสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การที่รัฐบาลทหารไทยไม่เปิดโอกาสให้องค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งจากต่างประเทศเข้าร่วมปฎิบัติหน้าทีในวันที่ 24 มี.ค. โดยกลุ่ม ANFREL เป็นเพียงองค์กรเดียวที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ โดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ถึงกับประกาศคัดค้านการเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรฯ ต่างชาติ โดยระบุว่าการเลือกตั้งเป็นกิจการภายในประเทศ และการปล่อยให้องค์กรต่างชาติเข้ามาในประเทศ จะทำให้ถูกมองว่าประเทศไทยกำลังมีปัญหา ทั้งที่การเลือกตั้งแทบทุกครั้งในอดีตที่ผ่านมาของไทยก็เปิดกว้างให้องค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งจากต่างประเทศเข้ามาร่วมตรวจสอบมาตลอด 


'วอร์รูม' ตรวจสอบข่าวสารในโลกออนไลน์ เสี่ยงละเมิดสิทธิประชาชน

ช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ HRW ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งไทย สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานกรณี กกต.จัดตั้ง 'วอร์รูม' หรือหน่วยเฉพาะกิจขึ้นเพื่อสังเกตการณ์และกำกับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์ของไทย โดยระบุว่า จำเป็นต้องตรวจสอบและป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นข่าวลือ ข้อมูลเท็จ คำหยาบ หรือการใส่ร้ายป้ายสีผู้สมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ 

นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ของวอร์รูมพิจารณาแล้วว่าการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อออนไลน์ต่างๆ นั้นเข้าข่ายละเมิดหรือผิดกฎหมายเลือกตั้ง ทาง กกต.จะดำเนินการขอความร่วมมือไปยังผู้ให้บริการสื่อออนไลน์ให้ลบข้อมูลดังกล่าวออกไป ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแต่ยินดีให้ความร่วมมือ ทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่มีประสิทธิภาพ โดยนายแสวงระบุว่า ประเทศอื่นๆ ไม่ทำแบบนี้ แต่ไทยกำลังมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้งครั้งสำคัญ จึงจำเป็นต้องกำกับดูแลการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อปกป้องผู้สมัครรับเลือกตั้งและเพื่อให้แน่ใจว่าการรณรงค์หาเสียงจะดำเนินไปอย่างสงบและเป็นระเบียบเรียบร้อย

กกต.jpg
  • กกต.ลงมติยื่นต่อศาลให้ตัดสินยุบพรรคไทยรักษาชาติ โดยใช้เวลาพิจารณาเพียงไม่กี่สัปดาห์

ด้านเคที ฮาร์บาร์ธ ผู้จัดการฝ่ายการเมืองและรัฐบาลของเฟซบุ๊ก เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า ประเทศไทยถือเป็นตลาดใหญ่ของเฟซบุ๊ก เพราะมีผู้ใช้งานอยู่ประมาณ 51 ล้านคน และการต่อสู้กับข่าวปลอมเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะส่งผลต่อความปลอดภัยและความชอบธรรมในการเลือกตั้งของไทย และเฟซบุ๊กพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการตรวจสอบหรือกำกับดูแลข้อมูลที่เข้าข่ายละเมิดกฎหมาย แต่ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่าเฟซบุ๊กมีทีมไทยคอยดูแลและตรวจสอบข้อมูลที่ตรงกับกติกาและเงื่อนไขการดำเนินการของเฟซบุ๊ก

ขณะที่นายพงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน ที่ปรึกษาเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้ง (ANFREL) สะท้อนความกังวลกับรอยเตอร์ว่า กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ระบุถึงการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อออนไลน์มีความเข้มงวดเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับบทลงโทษที่รุนแรง โดยผู้สมัครเลือกตั้งหรือสมาชิกพรรคการเมืองต่างๆ ได้รับอนุญาตให้พูดถึงนโยบายของพรรคได้ แต่หากโพสต์ใดถูกเจ้าหน้าที่ กกต.พิจารณาว่าเข้าข่ายบิดเบือน ชี้นำ หรือสร้างผลกระทบเชิงลบต่อผู้อื่น อาจทำให้พรรคที่ผู้สมัครสังกัดถูกตัดสินว่าขาดคุณสมบัติ และอาจถูกลงโทษห้ามยุ่งเกี่ยวทางการเมืองนานถึง 10 ปี

ส่วนทอม วิลลาริน ส.ส.ฟิลิปปินส์และสมาชิกกลุ่มรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) มองว่า ข้อจำกัดที่เข้มงวดในการหาเสียงหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองในสื่อสังคมออนไลน์ไทยก่อนการเลือกตั้ง ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยเท่าไหร่นัก ทั้งยังขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ในการเลือกตั้งที่เป็นแสดงออกซึ่งเจตจำนงของประชาชนตั้งแต่แรกอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: