ไม่พบผลการค้นหา
คณะนักวิจัยในสหรัฐฯ สำรวจผลตอบแทนผู้จบหลักสูตร 'ศิลปศาสตร์' หลังภาครัฐตัดงบสนับสนุนด้านการศึกษา โดยระบุว่า ไม่ตอบโจทย์การจ้างงาน-ได้รับเงินเดือนไม่คุ้มกับค่าเล่าเรียน แต่สื่อสหรัฐฯ ชี้ ความสำคัญของหลักสูตรนี้อยู่ที่การสอนให้คนรู้จักวิธีคิดเชิงวิพากษ์

แคทเธอรีน บี. ฮิล และเอลิซาเบ็ธ เดวิดสัน นักวิชาการจากมูลนิธิแอนดรูว์ ดับเบิลยู เมลลอน (AWMF) องค์กรไม่แสวงผลกำไรของสหรัฐอเมริกา เผยแพร่งานวิจัยชื่อว่า The Economic Benefits and Costs of a Liberal Arts Education ซึ่งเป็นการสำรวจและประเมินผลผู้จบหลักสูตรศิลปศาสตร์จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ เพื่อตอบโจทย์ของสมมติฐานว่า หลักสูตรนี้ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่ากับต้นทุนทางการศึกษาที่ผู้เล่าเรียนเสียไปหรือไม่ 

การวิจัยดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากที่รัฐบาลท้องถิ่นของสหรัฐฯ รวม 4 รัฐ ลงมติตัดงบประมาณสนับสนุนหลักสูตรศิลปศาสตร์ในระดับอุดมศึกษาตั้งแต่ปี 2016 โดยให้เหตุผลว่า หลักสูตรเหล่านี้ไม่ตอบสนองความต้องการในตลาดแรงงาน และไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ผู้ที่เรียนหากเทียบกับหลักสูตรด้านอื่นๆ ทำให้นักวิจัยทั้งสองรายและคณะ เก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาคำตอบ

กลุ่มตัวอย่างที่เก็บข้อมูลเป็นผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านต่างๆ จากสถาบันอุดมศึกษาในสหรัฐฯ 1,795 ราย รวมถึงผู้จบปริญญาตรีด้านศิลปศาสตร์ 202 ราย ซึ่งมีทั้งผู้จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับประเทศ วิทยาลัยเอกชน และมหาวิทยาลัยของรัฐ ซึ่งมีคะแนนในการจัดอันดับผลการศึกษาลดหลั่นกันไป พบว่า รายได้เริ่มต้นของผู้จบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์นั้นสูงเกินกว่าค่ากลางของรายได้ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทั้งหมด และมีแนวโน้มว่าผู้เรียนจบด้านวิศวกรรมศาสตร์จะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับอายุงาน

อย่างไรก็ตาม ผู้จบปริญญาด้านศิลปศาสตร์ (มนุษยศาสตร์/ สังคมศาสตร์) มีรายได้เฉลี่ยอยู่ในช่วงเดียวกับผู้จบปริญญาด้านวิทยาศาสตร์ (คณิตศาสตร์) แต่กลุ่มหลังจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเร็วกว่าผู้ที่จบด้านศิลปศาสตร์

งานวิจัยสรุปว่า ผู้จบการศึกษาด้านศิลปศาสตร์มีรายได้เฉลี่ยไม่แตกต่างจากผู้จบหลักสูตรอื่นมากนัก เพราะรายได้ขึ้นอยู่กับเกรดเฉลี่ย ทักษะพิเศษ ประสบการณ์ทางอาชีพ และประสิทธิภาพในการทำงานของแต่ละบุคคลด้วย ข้อกล่าวหาว่าการเรียนศิลปศาสตร์ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจไม่คุ้มค่าแก่ผู้เรียนเมื่อเทียบกับหลักสูตรอื่นๆ จึงไม่ได้ถูกต้องทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งยังพบข้อมูลบ่งชี้ด้วยว่า เพศสภาพ เชื้อชาติ และเครือข่ายทางสังคม มีผลต่อการจ้างงานของผู้จบปริญญาทุกหลักสูตร ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติม

นอกจากนี้ คณะนักวิจัยได้ศึกษาวรรณกรรมก่อนหน้าซึ่งเผยแพร่ออกมาในปี 2013 พบว่าร้อยละ 40 ของผู้จบการศึกษาด้านศิลปศาสตร์ ไม่ได้ทำงานที่ตรงกับสาขาวิชาที่เลือกเรียนในระดับอุดมศึกษา และผู้ว่าจ้างส่วนใหญ่ระบุว่า ทักษะและผลงานที่ผ่านมาของลูกจ้างเป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่จะตัดสินใจจ้างงาน แต่ไม่ได้พิจารณาจากสาขาวิชาที่เรียนมาในระดับปริญญามากนัก

เมื่อมหาวิทยาลัยไม่ยืนยันเสรีภาพ

ขณะเดียวกัน วาเลอรี สเตราส์ ผู้สื่อข่าวของเดอะวอชิงตันโพสต์ เผยแพร่บทความ The liberal arts are under attack. So why do the rich want their children to study them? โดยอ้างอิงผลวิจัยดังกล่าว และตั้งคำถามว่า การศึกษาด้านศิลปศาสตร์กำลังถูกโจมตี แต่เหตุใดกลุ่มชนชั้นนำของสังคมอเมริกันจึงยังส่งเสริมให้ลูกหลานของตนเล่าเรียนหลักสูตรเหล่านี้ อีกทั้งการเรียนการสอนด้านศิลปศาสตร์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำก็เก็บค่าธรรมเนียม 'แพงมาก' จนนักศึกษาจากครอบครัวชนชั้นกลางและยากจนไม่อาจเรียนได้ ทั้งยังมีข่าวอื้อฉาวเมื่อไม่นานมานี้ด้วยว่า ผู้ปกครองที่มีฐานะร่ำรวยพยายามติดสินบนผู้บริหาร เพื่อให้ทายาทของตัวเองได้เข้าไปศึกษาในหลักสูตรศิลปศาสตร์ของมหาวิทยาลัยระดับไอวีลีกของสหรัฐฯ

สเตราส์ระบุด้วยว่า ใจความสำคัญของหลักสูตรนี้ คือ การบ่มเพาะให้ผู้เล่าเรียนมีกระบวนการคิดเชิงวิพากษ์ โดยอ้างอิงทฤษฎีของ 'เพลโต-โสเครติส' ที่มองว่า การเรียนรู้ต้องนำไปสู่การตั้งคำถาม ทั้งต่อ 'สถาบันหลัก' ในสังคม และต่อความคิดความเชื่อของตัวเอง เพราะ "ชีวิตที่ไม่มีการวิเคราะห์วิจารณ์นั้นไร้คุณค่า" 

ขณะเดียวกัน 'มาร์ธา นัสบาม' นักวิชาการคนสำคัญของสหรัฐฯ เขียนในหนังสือ “Not for Profit: Why Society Needs the Humanities” โดยระบุว่า ถ้าหากรัฐชาติต้องการส่งเสริมให้ปัจเจกบุคคลตระหนักเรื่องประชาธิปไตย และยึดมั่นคุณค่าของชีวิต เสรีภาพ และการเสาะแสวงหาความสุข (life, liberty and the pursuit of happiness) ก็จะต้องสนับสนุนให้พลเมืองของตนมีความสามารถในการขบคิดได้ว่า ประเด็นทางการเมืองใดที่จะส่งผลกระทบในระดับชาติ รวมถึงสามารถวิเคราะห์ สะท้อนความคิดเห็น โต้แย้ง และอภิปรายได้อย่างเป็นระบบ เพื่อจำแนกข้อดีข้อเสียของสิ่งต่างๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นธรรมเนียมประเพณีเก่าแก่ หรือแม้แต่การใช้อำนาจของรัฐ

อย่างไรก็ตาม สเตราส์ตั้งข้อสังเกตว่า นักคิดและนักทฤษฎีด้านศิลปศาสตร์หลายสำนัก มองว่า สิ่งที่เป็นภัยคุกคามต่อสังคม คือ ความมั่งคั่งและระบอบทุนนิยม ทั้งยังระบุด้วยว่า การเสาะแสวงหาความร่ำรวยนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำและการล่มสลายของสังคมโดยรวม จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่กลุ่มชนชั้นนำผู้มีฐานะร่ำรวยและมีโอกาสทางสังคมในด้านต่างๆ เหนือกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ในสหรัฐฯ ยังคงส่งเสริมให้ทายาทของตนเล่าเรียนหลักสูตรศิลปศาสตร์ในระดับอุดมศึกษา

แต่ขณะเดียวกัน พวกเขาก็เรียกร้องให้ภาครัฐตัดงบประมาณสนับสนุนการศึกษาด้านนี้ ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่อาจเข้าถึงองค์ความรู้เหล่านี้ได้โดยง่าย อาจเป็นเพราะพวกเขาไม่ต้องการให้กลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในข่าย 'อภิสิทธิ์ชน' มีโอกาสแข่งขันหรือตั้งคำถามต่อความมั่งคั่งหรือความไว้วางใจที่มีต่อสังคมอย่างที่เป็นอยู่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: