ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯแพทองธารให้สัมภาษณ์ ทรท. ประชุมอาเซียน 2 วันประเทศไทยได้อะไรมากกว่าที่คิด ทั้งกรอบความร่วมมือในการแก้ไขของอาเซียนเอง และกรอบใหญ่ที่จับเข่าคุยกับประเทศอาหรับและจีน มั่นใจผลการประชุมในทุกมิติจะสร้างความมั่นคง มั่งคั่งระหว่างกัน

วันนี้ ( 27 พฤษภาคม 2568) นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ให้สัมภาษณ์โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย พอใจผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 46 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงผลสำเร็จสำคัญ 2 ประการ คือ 

1) อาเซียนได้ลงนามและตกลงในปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียน 2045: อนาคตร่วมกันของเรา (Kuala Lumpur Declaration on ASEAN 2045: Our Shared Future) เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ฉบับใหม่ที่กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนในอีก 20 ปีเพื่อรับรองวิสัยทัศน์นี้

2) เป็นครั้งแรกที่มีการประชุม 3 ฝ่าย ระหว่าง อาเซียน คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) และจีน เพื่อสร้างพลวัตความร่วมมือทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ 

โดยในครั้งนี้ อาเซียนได้ให้ความสำคัญกับการรักษาให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีสันติภาพและเสถียรภาพ เพื่อให้อาเซียนสามารถรับมือกับความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์ และภูมิเศรษฐศาสตร์ของ โลก โดยเฉพาะการแข่งขันของมหาอำนาจ รวมถึงมาตรการในการรับมือกับมาตรการภาษีของอเมริกา 

ทั้งนี้ ไทยสนับสนุนการรับติมอร์-เลสเตเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียน รวมถึงใช้โอกาสนี้ย้ำท่าทีของไทยต่อประเด็นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเมียนมา ทะเลจีนใต้ และตะวันออกกลาง 

ด้านเศรษฐกิจ ไทยผลักดันการรวมตัวในภูมิภาคให้แน่นแฟ้น และมีเอกภาพ ควบคู่ไปกับการบูรณาการห่วงโซ่อุปทาน เพื่อรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยเสนอให้ประเทศอาเซียนใช้ประโยชน์จาก FTA ที่มีอยู่ และขยาย FTA กับหุ้นส่วนใหม่ ๆ รวมทั้งส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและพลังงานผ่านการจัดทำ ASEAN Power Grid 

ที่ประชุมฯ ยังได้หารือเรื่องผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งผู้นำอาเซียนได้ยึดมั่นในท่าทีร่วมกัน คือ การยึดถือระบอบการค้าระหว่างประเทศ ที่ตั้งอยู่บนหลักการที่ยอมรับร่วมกัน และพร้อมเจรจากับสหรัฐฯ อย่างสร้างสรรค์

ด้านสังคม การส่งเสริมประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง การส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะการร่วมมือกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติโดยเฉพาะยาเสพติด และ online scams 

ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ไทยมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนวาระสีเขียวเพื่อบรรลุเป้าหมาย “green ASEAN” โดยเน้นเรื่อง green finance การรับมือกับภัยพิบัติ และ climate change การแก้ไขปัญหาหมอกควัน พลังงานสะอาด และ digital transformation ซึ่งไทยมีแผนที่ชัดเจนในการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานอยู่แล้ว โดยเฉพาะพลังงานสะอาด ที่ไทยมีศักยภาพสูงและยังมีการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในไทยในด้าน data center 

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการหารือทวิภาคีว่า ได้มีพบปะหารือกับผู้นำหลายประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ คูเวต UAE และบาห์เรน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน โดยคูเวต UAE และบาห์เรน มีความสนใจที่จะลงทุนในโครงการ Landbridge และพร้อมร่วมมือในการส่งเสริมด้านความมั่นคงทางอาหารที่ไทยมีศักยภาพ นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสพบกับประธาน Asian Development Bank เพื่อหารือถึงการลงทุนเพื่อการพัฒนาในภูมิภาคด้วย 

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการเข้าร่วมประชุมฯ ในครั้งนี้ว่า ถือเป็นการต่อยอดศักยภาพของไทยในด้านต่างๆ พร้อมเสริมสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาคอาเซียน ผ่านความร่วมมือกันภายในภูมิภาคกับกลุ่มคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) และจีน ซึ่งต่างเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกัน รัฐบาลไทยเชื่อมั่นว่าการร่วมมือกันดังกล่าว จะเกิดผลประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน สร้างรายได้ สร้างอาชีพใหม่ ๆ การพัฒนาทุนมนุษย์ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล

สำหรับประเด็นภาษีของสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าประธานอาเซียน ได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือของภูมิภาค โดยใช้การรวมตัวกันของอาเซียนในการพูดคุยกับสหรัฐฯ เพื่อเป็นพลังยิ่งขึ้น 

"หลายประเทศ ได้ส่งข้อเสนอไปยังสหรัฐอเมริกาแล้วเช่นกัน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการรอนัดหมายเพื่อพูดคุยกันในรายละเอียดกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งไทยไม่ได้ช้าเกินไป คาดว่าน่าจะมีความคืบหน้าเร็ว ๆ นี้" นายกรัฐมนตรี กล่าว