ไม่พบผลการค้นหา
ซุกะ โยชิฮิเดะ เลือกเยือนเวียดนามและอินโดนีเซียเป็นประเทศแรก หลังจากรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า เพราะเวียดนามกำลังเติบโตทั้งด้านเศรษฐกิจและอาจมีอิทธิต่ออาเซียนในอนาคต

สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า 'โยชิฮิเดะ ซุกะ' นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะเดินทางเยือน 'เวียดนาม' และ 'อินโดนีเซีย' ในช่วงกลางเดือน ต.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกของโยชิฮิเดะ หลังจากขึ้นมารับตำแหน่งนายกฯ ญี่ปุ่น และยังเป็นการเดินทางตามรอยชิโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่เลือกเดินทางเยือนเวียดนามเป็นลำดับแรกเช่นกันเมื่อดำรงตำแหน่งนายกฯ รอบที่2 เมื่อปี 2555

นิคเคอิ สื่อญี่ปุ่นวิเคราะะห์ว่า การเดินทางเยือนเวียดนามและอินโดฯ เป็นการสานต่อนโยบายต่างประเทศของชิโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ตามนโยบายเสรีและเปิดประตูสู่อินโด-แปซิฟิก  ขณะที่เอเชียไทม์ชี้ว่า ในด้านความมั่นคงญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามวิสัยทัศน์ Vientiane Vision และด้วยภูมิศาสตร์ของเวียดนามเป็นเสมือนใจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงยังเป็นหน้าด่านของภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ดังนั้นเวียดนามจึงเป็นประเทศที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญเป้นลำดับแรกในภูมิภาค 

นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังมองว่า ในปี 2563 เวียดนามดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน และเวียดนามยังมีศักยภาพในการเป็นผู้นำอาเซียนในเชิงพฤตินัยอีกด้วย ซึ่งอนาคตญี่ปุ่นมองว่า เวียดนามจะมีอิทธิพลเป็นอย่างมากในด้านความมั่นคงของภูมิภาคนี้ จากภูมิศาสตร์ของประเทศและศักยภาพทางเศรษฐกิจ และญี่ปุ่นยังต้องการสร้างความสัมพันธ์กับเวียดนามในด้านความมั่นคงของภูมิภาค

ศาสตราจารย์ยูชิ โฮโซยะ จากมหาวิทยาลัยเคโอ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นพยายามสร้างสมดุลทางอำนาจในอาเซียน โดยการเลือกเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีความขัดแย้งกับจีน ขณะเดียวกันก็เลือกไปเยือนอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศให้ความสำคัญกับจีนเป็นอย่างมาก

ด้าน นิเคอิ เสริมว่า ญี่ปุ่นกำลังพยายามหาพันธมิตรในกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อรักษาเสถียรภาพในภูมิภาคนี้ เพื่อลดการเติบโตของจีนในภูมิภาคนี้

ญี่ปุ่นลงทุนเวียดนามเพิ่มขึ้นแข่งกับจีน

สื่อเวียดนามเปิดเผยว่า ในปี 2562 ญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนใหญ่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากเกาหลีใต้ โดยมีการยื่นโครงการลงทุน 4,385 โครงการเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 59,330 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (ประมาณ1.8 ล้านล้านบาท) ทั้งนี้บริษัทที่ยื่นการลงทุนในเวียดนามนั้นมีทั้งโตโยต้า ฮอนด้า พานาโซนิค แคนอน ฟูจิซีร็อกซ์ และ ซูมิโตโม

นอกจากนี้หลายบริษัทจากญี่ปุ่นยังเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในเวียดนามเพิ่มเติม ทั้งอีออน ยูนิโคล รวมถึงมิซูโฮะที่เข้าร่วมทุนกับธนาคารเวียดคอม และซูมิโตโม มิตซุยที่ร่วมทุนกับ ธนาคารเอ็กซิมแบงค์ของเวียดนาม

ผลสำรวจบริษัท NNA ของญี่ปุ่นซึ่งเป็นหนึ่งใน บริษัทของสำนักข่าวเกียวโตเมื่อปี 2562 ระบุว่านักลงทุนของญี่ปุ่นจำนวน 820 ราย ยกให้ 'เวียดนาม' เป็นที่น่าลงทุนที่สุดในภูมิภาคเอเชีย โดยให้เหตุผลถึงศักยภาพทางศรษฐกิจของเวียดนามกำลังเติบโต และ ยังมีแรงงานที่มีทักษะจำนวนมาก รวมถึงค่าจ้างแรงงานยังไม่สูงมากนัก

ขณะที่อินเดียตามมาเป็นอันดับที่สอง ด้วยเหตุผลด้านศักยภาพทางเศรษฐกิจและอินเดียเป็นประเทศที่เป็นประตูสู่่ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกา

นอกจากนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักลงทุนญี่ปุ่นยังโหวตให้เมียนมา และอินโดนีเซียเป็นประเทศที่น่าลงทุนเป็นลำดับที่ 3 และ 4 

ขณะที่การลงทุนในประเทศไทยของญี่ปุ่นในปี 2562 ตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศระบุว่าเมื่อสิ้นปี 2562 มูลค่าการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยอยู่ที่ 2,386 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากปี 2561 ถึง 55% โดยปี 2561 มีมูลค่าการลงทุน 5,278 ล้านดอลลาร์หสรัฐฯ

เอเชียไทม์ วิเคราะห์ว่า การขยายการลงทุนในเวียดนามของญี่ปุ่นจะเป็นผลดีต่อญี่ปุ่นในระยะยาว ซึ่งปัจจุบันจีนมีอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพราะการลงทุนทางเศรษฐกิจ และการที่หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พยายามออกห่างจากการลงทุนจากจีน เป็นช่องทางให้ญี่ปุ่นขยายการลงทุน โดยเฉพาะการลงมทุนในโครงสร้างพื้นฐานได้ง่ายมากขึ้น

ปัจจุบันเวียดนามร่วมลงทุนกับญี่ปุ่นในโครงการคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานพลังงานในประเทศ รองลงมาจากสิงคโปร์และไทย และในอนาคตคาดว่าทั้งเวียดนามและญี่ปุ่นจะขยายการลงทุนที่มากขึ้นตามลำดับ

ที่มา Asiatimes / Nikkei / VEN / VIR