ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลชิลีเปิดให้องค์กรต่างชาติเข้าเก็บข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในการประท้วงรัฐบาลช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา หลัง ปธน.ยอมรับข้อเสนอผู้ประท้วง เตรียมจัดลงประชามติปรับแก้รัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ-ยุติความขัดแย้งทางการเมือง

ตัวแทนคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งทวีปอเมริกา (IACHR) เยือนชิลี 4 วัน เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการประท้วงรัฐบาล ขณะที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) เตรียมจัดทำรายงานสรุปผลสังเกตการณ์เหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนในระหว่างการประท้วงรัฐบาลชิลีตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค. จนถึง 15 พ.ย.2019

ส่วนรัฐบาลชิลีออกแถลงการณ์ยอมรับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประท้วง โดยระบุว่าจะจัดลงประชามติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเดือนเมษายนปีหน้า (2020) หลังผลโพลสำรวจความเห็นประชาชนบ่งชี้ว่าร้อยละ 78 ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการ 'รัฐธรรมนูญใหม่' หรือไม่ก็ต้องแก้ รธน.ที่เขียนขึ้นในยุค 'นายพลออกุสโต ปิโนเชต์' ผู้นำเผด็จการชิลี ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ทศวรรษ 1980

เซบาสเตียน ปิเญรา ประธานาธิบดีชิลีคนปัจจุบัน แถลงยอมรับด้วยว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นจริงในช่วงที่มีการประท้วง และบางกรณีเป็นการใช้อำนาจรุนแรงเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะต้องไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ขณะเดียวกันก็ย้ำว่า เจ้าหน้าที่ที่ละเมิดกฎระเบียบในการสลายชุมนุมเป็นเพียง 'ส่วนน้อย' เท่านั้น และเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด 

อย่างไรก็ตาม สถิติผู้เสียชีวิตที่เกิดจากเหตุปะทะและสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามจลาจลทั่วชิลีมีจำนวน 26 ราย โดยอย่างน้อย 5 รายเสียชีวิตจากการใช้กำลังอาวุธของเจ้าหน้าที่ตำรวจช่วงที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อดือน ต.ค. และมีผู้ถูกจับกุมอีกราว 6,000 คน

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของชิลีรายงานด้วยว่า ผู้หญิงที่เข้าร่วมการชุมนุมได้แจ้งความเอาผิดเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ รวม 58 คดี และมีผู้ร้องเรียนตำรวจในข้อหาซ้อมทรมานและปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมอย่างโหดร้ายอีก 246 คดี 


ชนวนประท้วงใหญ่ 'ขึ้นค่าโดยสาร' ลามถึง 'ความเหลื่อมล้ำทางสังคม'

จุดเริ่มต้นของการประท้วงรัฐบาลชิลีครั้งนี้ เริ่มขึ้นหลังจากที่มีการประกาศขึ้นราคาค่ารถไฟใต้ดินและค่ารถโดยสารประจำทางในช่วงเวลาเร่งด่วนเมื่อวันที่ 6 ต.ค. โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่า ราคาเชื้อเพลิงสูงขึ้น และเงินเปโซชิลีอ่อนค่า แต่เป็นการปรับราคาครั้งที่ 2 ในรอบไม่ถึง 1 ปี ทำให้นักเรียนและนักศึกษาเริ่มประท้วงเงียบด้วยการเข้าไปใช้บริการรถไฟใต้ดินโดยไม่ซื้อตั๋ว แต่ใช้วิธีกระโดดข้ามแผงกั้นทางเข้าสถานีเพื่อไปขึ้นรถไฟแทน

AFP-ผู้ประท้วงสูงวัยชาวชิลีถือป้ายขอบคุณคนหนุ่มสาวผู้กล้าหาญเมื่อ 18 พ.ย..jpg
  • ชายสูงวัยถือป้ายที่มีข้อความว่า 'ขอบคุณหนุ่มสาวผู้กล้าหาญ' ระหว่างการประท้วงต่อต้านรัฐบาลชิลี

การประท้วงเงียบกลายเป็นการทำลายทรัพย์สินสถานีรถไฟ หลังจากที่ 'ฆวน อันเดรส ฟอนตีน' รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ บอกให้ผู้โดยสารตื่นเช้ากว่าเดิมเพื่อมาขึ้นรถไฟช่วง 06.00-07.00 น.แทนช่วงเวลาเร่งด่วน นำไปสู่การจับกุมผู้ประท้วง 133 คนในวันที่ 17 ต.ค.

จากนั้นได้มีการรวมตัวประท้วงบนท้องถนนหลายเมืองในวันที่ 18 ต.ค. รวมถึงกรุงซานติอาโก ซึ่งผู้ประท้วงบุกทำลายแผงกั้นทางเข้าสถานีรถไฟ 164 สถานี มีการดึงเบรกฉุกเฉินของรถไฟจนต้องปิดบริการชั่วคราว ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารนับล้านคน

กลุ่มผู้ประท้วงยกระดับการตอบโต้เจ้าหน้าที่ตำรวจโดยตั้งแนวกั้นในหลายจุดของเมือง และปะทะกับเจ้าหน้าที่ซึ่งใช้ท่อฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม ผู้ประท้วงบางส่วนจุดไฟเผาสถานีรถไฟใต้ดินหลายแห่ง รวมถึงเผารถโดยสารประจำทางอย่างน้อย 16 คัน แม้จะมีการสลายชุมนุมหลายครั้ง ผู้ประท้วงก็ยังกลับมารวมตัวกันใหม่บนท้องถนนตลอดช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ การประท้วงในช่วงหลังได้ลุกลามไปสู่การเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาสังคมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ระบบบำนาญ โอกาสทางการศึกษา และค่าแรงขั้นต่ำ เพราะผู้ประท้วงเห็นว่ารัฐบาลชิลีมุ่งย้ำภาพลักษณ์ประเทศที่ได้รับการยกย่องว่ามีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากที่สุดในลาตินอเมริกา แต่ในความเป็นจริง มีเพียงนายทุนไม่กี่กลุ่มได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจเหล่านี้ ขณะที่ระบบสวัสดิการและการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วไปกลับไม่เพียงพอ

ผู้ประท้วงได้ยกตัวอย่างจากอัตราค่าโดยสารรถสาธารณะและค่าครองชีพของชิลีที่สูงติดอันดับต้นๆ ในประเทศแถบลาตินอเมริกา ทั้งยังไม่มีหลักประกันด้านสุขภาพแก่ประชาชนวัยทำงานและผู้เกษียณอายุ และไม่มีการอุดหนุนด้านการศึกษาแก่เยาวชน


'รธน.ใหม่ที่มาจากประชาชน' = ทางออกของความขัดแย้ง

สิ่งหนึ่งที่กลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาลชิลีมองว่าเป็น 'อุปสรรค' ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม คือ 'รัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ' ซึ่งถูกเขียนขึ้นในยุคของนายพลปิโนเชต์ ประชาชนและภาคประชาสังคมไม่ได้มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว 

แม้จะมีการปรับแก้รัฐธรรมนูญฉบับปิโนเชต์มาแล้วหลายครั้ง แต่ผู้ประท้วงมองว่าเงื่อนไขบางอย่างใน รธน.ยังคงเป็นอุปสรรคในการปฏิรูปหรือรับรองสิทธิในด้านต่างๆ ของประชาชนและภาคประชาสังคม ไม่อาจนำไปสู่การลงโทษเอาผิดเจ้าหน้าที่หรือทหารที่เคยก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนในยุคปิโนเชต์ ซึ่งมีการกวาดล้าง สังหาร และลักพาตัวคนจำนวนมากที่เห็นต่างจากรัฐบาลเผด็จการ

AFP-ผู้ประท้วงชิลีปะทะกับตำรวจ 18 พ.ย.2562 หลังผู้ชุมนุมถูกตำรวจฆ่าตายที่กรุงซานติอาโกครบ 1 เดือนชุมนุมต้านรัฐบาล.jpg
  • ผู้ประท้วงชิลีรวมตัวกันในวันครบรอบ 1 เดือนการชุมนุมต้านการขึ้นค่ารถโดยสาร ที่ลามไปสู่การกดดันให้รัฐบาลทำประชามติปรับแก้รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นในสมัยเผด็จการ 'ออกุสโต ปิโนเชต์'

หลังจากการประท้วงกดดันรัฐบาลปัจจุบันอย่างต่อเนื่องนานนับเดือน ในที่สุด ปธน.ปิเญรา ซึ่งเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ปี 2017 ก็ยอมรับข้อเสนอของกลุ่มผู้ประท้วง ทำให้ 'เฆรัลโด มูโนซ' ส.ว.ผู้สนับสนุนการปฏิรูปการเมืองชิลีและอดีต รมว.ต่างประเทศ ประกาศผ่านสื่อว่า "รัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการตายแล้ว" แต่ยังมีเรื่องต้องทำอีกมากกว่าจะได้พบกับ 'ความยุติธรรม'

ประชาชนจำนวนมากออกมารวมตัวกันบนท้องถนนในหลายเมือง ทั้งที่กรุงซานติอาโก เมืองอันโตฟากาสตา และเมืองกอนเซปซิออน เพื่อประกาศชัยชนะในการเรียกร้องรัฐบาลให้เคารพความเห็นของประชาชนได้ แต่ผู้ประท้วงบางรายยืนยันว่าจะกดดันรัฐบาลต่อไป เพราะไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของพรรครัฐบาลที่จะให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญดำเนินไปในระบบรัฐสภา แต่พวกเขาต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช่แค่แก้ไขบางมาตรา และต้องเปิดโอกาสให้ตัวแทนประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย แต่ไม่มีข้อมูลยืนยันว่ารัฐบาลจะนำข้อเสนอจากประชาชนไปบรรจุในการลงประชามติปีหน้าหรือไม่

ทั้งนี้ การประท้วงในชิลีช่วงเดือนที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหนัก บริษัทต่างประเทศในชิลีจำนวนหนึ่งยื่นคำร้อง ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจคุ้มครองกิจการของพวกเขาในเมืองต่างๆ โดยระบุว่ามีผู้ก่อเหตุปล้นและทำลายอาคารร้านค้าต่างๆ เป็นจำนวนมาก

กรณีของ 'วอลมาร์ท' จากสหรัฐอเมริกา ระบุว่าซูเปอร์มาร์เก็ตกว่า 120 สาขา ในชิลีถูกทำลาย งัดแงะ และปล้นทรัพย์ ส่วน รมว.คลังชิลีประเมินว่า เศรษฐกิจจะชะลอตัวเพราะการประท้วง อาจจะทำให้คนตกงานราว 300,000 คนในไม่กี่เดือนข้างหน้า

ที่มา: Aljazeera/ The Guardian/ Reuters/ VOA

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: